xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก อสส.รับเรื่อง “เรืองไกร” ยื่นวินิจฉัยนายกฯ ถวายสัตย์ไม่ครบตาม รธน.แนะไปฟ้องศาล รธน.เองได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “เรืองไกร” ยื่น อสส.วินิจฉัยนายกฯ ประยุทธ์ ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบส่งศาล รธน.วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่ โฆษกอัยการเผยส่ง อสส.พิจารณา เเต่หาก 15 วันยังไม่สั่ง ยื่นฟ้องศาล รธน.เองได้

วันนี้ (7 ส.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทำขัดรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 161 และไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ในวันที่มีการเเถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 162

โดยมีนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

นายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมากล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ของพลเอกประยุทธ์ต่อพระมหากษัตริย์นั้นได้ปฏิบัติไม่เหมือนกับครั้งก่อนๆ คือ กล่าวคำปฏิญาณตกไปในท่อนสุดท้าย แถมยังกล่าวคำว่า “ตลอดไป” เติมเข้ามาอีก โดยการอภิปรายในสภาก็กำลังจะมีการตั้งกระทู้สดในเรื่องนี้ บางคนที่ได้รับทราบเรื่องนี้ก็มีการไปร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่จากที่ตนได้ดูข้อกฎหมาย และจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องมาร้องที่อัยการสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดมาตรา 5 และไม่เป็นไปตามมาตรา 3 วรรคสอง ก็เท่ากับว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ อย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็นโมฆะ และประเด็นที่ 2 คือ เมื่อขณะเข้ารับหน้าที่แล้วจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 162 เนื่องจากนโยบายจะต้องสอดคล้องกับหน้าที่แห่งรัฐ พร้อมต้องแสดงที่มาที่จะนำใช้จ่าย ต่อนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภามา แต่ก็เกิดปัญหาว่าคำแถลงนโยบาย 37 หน้า ไม่มีตัวเลขงบ ก็เท่ากับว่าการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภามาน่าจะเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอาจจะโดนดำเนินคดีอาญาได้ด้วยซึ่งตนก็ได้ไปยื่นคำร้องที่ ป.ป.ช.มาแล้ว ตนจึงมายื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ ตามมาตรา 89 ที่บัญญัติไว้ว่าผู้ใดทราบการกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครอง และต้องนำเอาประเพณีตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาใช้ด้วยจากเหตุที่ได้มาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย


ในเรื่องมาตราดังกล่าวจะเห็นได้จากที่พรรคของตนได้ถูกยุบตามมาตรา 92 เพราะจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเป็นปฏิปักษ์การได้อำนาจ ตรงนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงยังต้องไปยึดโยงรัฐธรรมมนูญ 2550 ในวันนี้ตนได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีสนธิสัญญาไทย-กัมพูชา ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยการกระทำของนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ว่ามีการกระทำที่ไม่ชอบเพราะไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และเท่าที่ทราบการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในครั้งนี้ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากข้อผิดพลาดจริงๆ เราจึงต้องมาหาทางออกร่วมกันว่าหากมีการบริหารราชการแผ่นดินในการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแล้วถัดจากนี้การประชุมขอเรามีหรือการใช้จ่ายงบประมาณและพันธกรณีกับต่างประเทศจะสมบูรณ์หรือไม่ ตนจึงเห็นควรเสนอว่าในเมื่อมันเกิดการกระทำที่ไม่ชอบแล้วพลเอกประยุทธ์ ควรจะพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเริ่มกระบวนการขึ้นมาใหม่เเล้วเลือกผู้ที่ควรเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้มติจากที่ประชุมรัฐสภาเข้ามารับตำแหน่งและนำคณะรัฐมนตรีขอเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนและทำคำแถลงนโยบายใหม่อันนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุด ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก็จะยุติแต่ในส่วนกรณีที่ตนได้ยื่นร้องอัยการสูงสุดวันนี้ก็จะยังทำคู่ขนานกันต่อไป

เมื่อถามว่ากรณีนี้มีการไปร้องในช่องทางอื่นควบคู่ไปด้วย นายเรืองไกรกล่าวว่า การที่มีคนไปร้องผู้ตรวจการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ซึ่งผู้ร้องคนเดียวกันนั้นเคยร้องเรื่องนายกเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ตอนนั้นก็ได้ตีความบอกว่าไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และภายหลัง กกต.ก็เอามาอ้าง จึงเห็นว่าช่องนี้ไปไม่ได้ แต่ของตนมี 2 ประเด็น คือ มาตรา 161 และ 162 และธรรมนูญมาตรา 231 (1) ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าเป็นบทบัญญัติที่ขัดแล้วธรรมนูญก็จะต้องไปศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายศาลปกครองจะไม่รับกรณีที่เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุผลที่ตนต้องมาสำนักงานอัยการสูงสุด ไม่ไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือร้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรหรือช่องอื่นที่คนอื่นร้อง

“ในเรื่องความเสียหาย เหตุการณ์มันชัดเจนแล้ว เหมือนที่นายกรัฐมนตรีไปพูดที่โรงเรียนนายร้อยแล้วก็มาพูดที่ ครม. มันชัดเจนมากว่าปัญหานี้นายกฯ ขอแก้ไขเอง นี่คือเหตุผลที่ผมขอเสนอให้ท่านลาออก เพราะหากรอให้เปิดอภิปรายก็จะยิ่งต้องมีการนำข้อมูล เพราะถ้าเราย้อนไปดูการเข้าเฝ้าฯ จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแทบทั้งสิ้น”

ขณะที่นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ซึ่งเป็นช่องทางที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาว่าจะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ โดยหากภายใน 15 วัน อัยการสูงสุดยังไม่ได้ให้คำตอบ หรือดำเนินการใดๆ แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องนั้นสามารถไปยื่นตรงได้ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนจะรับเรื่องนำเรียนอัยการสูงสุดต่อไป ในประเด็นนี้ทางอัยการมีคณะทำงานเฉพาะ เนื่องจากมีผู้ร้องหลายคนที่ร้อง มีหลายคำร้องลักษณะคล้ายกัน รวมถึงที่พรรคอนาคตใหม่ได้มายื่นก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาแล้วก็จะแจ้งผลให้ผู้ร้องทราบ เพราะผู้ร้องอาจใช้สิทธิร้องเอง ยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว




กำลังโหลดความคิดเห็น