xs
xsm
sm
md
lg

11 ปี ป.ป.ท.รับเรื่องสอบทุจริตกว่า 35,000 เรื่อง ทำเสร็จ 23,000 เรื่อง “วิษณุ” จี้ปลุกจิตสำนึกความซื่อสัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ป.ป.ท.แถลงผลงานครบรอบ 11 ปี รับเรื่องร้องเรียนทุจริตกว่า 35,000 คดี สอบเสร็จ 23,000 คดี ขณะที่ “วิษณุ เครืองาม” เผยแม้สถานการณ์การทุจริตของไทยจะดีขึ้นจากการที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ ให้ไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 ของโลก และ ลำดับ 4 ในอาเซียน แต่ก็ต้องปลุกจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริตในทุกภาคส่วน

วันนี้ (25 ม.ค.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องแวนด้าแกรนด์บอลรูม ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจและการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนา 11 ปี พร้อมมอบนโยบาย การดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ท. พร้อมคณะกรรมการ ป.ป.ท. ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท.กว่า 300 คน เข้าร่วมงานฯ

ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีมอบโล่รางวัลข้าราชการพลเรือนสามัญ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ดีเด่น ของสำนักงาน ป.ป.ท.ประจำปี 2562 พิธีมอบรางวัลการประกวดแต่งกลอนต่อต้านการทุจริต พิธีแสดงเจตจำนงต่อต้านการทุจริต และการบรรยายธรรมในหัวข้อ “สร้างสังคมสุจริต ทุกคนต้องมีส่วนร่วม” โดยพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต

พ.ต.ท.วันนพกล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2551 ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อเป็นองค์กรหลักของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีสถิติผลการดำเนินงานการรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2562 จำนวน 35,580 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 23,176 คดี โดยรอบปี 2561 ป.ป.ท.ได้ให้ความสำคัญคดีทุจริตต่างๆ เช่น งบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง, เงินคนพิการ, สร้างฝายชะลอน้ำ และเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายนักเรียนรายหัว ส่วนเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นจะเป็นในเรื่องการทุจริตเบิกจ่ายเงิน ยักยอกเงิน เป็นต้น

พ.ต.ท.วันนพกล่าวอีกว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า ปัญหาการทุจริตไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้โดยเพียงแต่การใช้กลไกภาครัฐ ซึ่งโอกาสครบรอบการสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ท.ปีที่ 11 นี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ยังคงยืนหยัดในการเป็นหน่วยงานตรวจสอบและขับเคลื่อนให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบราชการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ สร้างความตระหนักให้กับสังคมทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นถึงภัยของการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้หลักการดำเนินงาน “คนโกงรายเก่าต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด ไม่เปิดโอกาส ให้โกง” ทั้งนี้ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐจะสัมฤทธิผลได้ ต้องผสานพลังจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ตลอดจนต้องเสริมสร้างและยกระดับธรรมาภิบาล ส่งเสริมผลักดันให้หน่วยงานของรัฐยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการโดยมุ่งมั่นขจัดการทุจริตในภาครัฐให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย

ด้านนายวิษณุ เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์การทุจริตในปัจจุบันจะดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเห็นได้จากค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (Corruption Perception Index : CPI) ที่ถูกจัดอันดับการประเมินโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ครั้งล่าสุด ในปี 2560 คือ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ประเทศไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ อยู่ในลำดับที่ 4 ของประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่มีการทุจริตลดลง และสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการทุจริตได้หมดไปจากสังคมไทย

สิ่งที่เราต้องทำต่อไปก็คือ การปลุกจิตสำนึกความซื่อสัตย์สุจริตในทุกภาคส่วน และเสริมสร้างภาคีเครือข่ายให้มีการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ลดช่องทางหรือปิดโอกาสในการทุจริตจากภาคส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด อันจะเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปสังคมและประเทศไทยสู่การต่อต้านทุจริตในทุกรูปแบบต่อไป

“ส่วน ป.ป.ช.ประกาศให้หน่วยงานอุดมศึกษายื่นบัญชีทรัพย์สินและมีผลกระทบกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งนั้น โดยทาง ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องมายังรัฐบาลแล้ว ซึ่งมีความเห็นว่าไม่ต้องให้นายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการกองทุนมหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด และให้เฉพาะอธิการบดีมหาวิทยาลัย และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามเดิม”


กำลังโหลดความคิดเห็น