xs
xsm
sm
md
lg

“สราวุธ” เชื่อ ตร.-ดีเอสไอ ขอหมายจับผ่าน web service ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - เลขาฯศาลยุติธรรม"มั่นใจ ตำรวจ- ดีเอสไอขอหมายจับ ผ่าน web service ก่อนยื่นเอกสารประกอบ ทำให้การปฏิบัติงานรวดเร็วขึ้น อนาคตหากเทคโนฯ พร้อมมาก 100% การแสดงหมายจับผู้ต้องหาอาจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ โทรศัพท์มือถือได้

วันนี้ (19 ม.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนาม ประกาศสํานักงานศาลยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับหมายจับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรม ประชุมหารือร่วมกับตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดทำระบบการเชื่อมฐานข้อมูลการออกหมายจับและผลการจับกุมตามหมายจับระหว่างหน่วยงานศาลยุติธรรม กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคำร้องขอออกหมายจับ และการรายงานผลการจับตามหมายจับ ลงในเว็บเซอร์วิส (Web Service) เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจขอหมายจับ เพื่อให้การปฏิบัติงานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์ร่วมกันในงานกระบวนการยุติธรรม และมีระบบฐานข้อมูลหมายจับซึ่งมีข้อมูลเป็นปัจจุบันแบบเรียลไทม์

โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ให้เจ้าพนักงาน ผู้มีอำนาจร้องขอออกหมายจับ บันทึกข้อมูลคำร้องที่สำคัญเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐาน ชื่อ ที่อยู่ และเหตุของการออกหมายจับบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามกฎหมายนั้น ลงในเว็บเซอร์วิสของหน่วยงานเจ้าพนักงานผู้ร้องขอ ที่จะเชื่อมต่อระบบสำนักงานศาลยุติธรรม โดยเจ้าพนักงานผู้ร้องขอนั้นต้องนำคำร้องและเอกสารประกอบมาแสดงยืนยันการขอหมายจับต่อศาลนั้นด้วย เพื่อผู้พิพากษามีการซักถามข้อมูลใดเพิ่มเติม ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมก็จะได้นำเสนอคำร้องขอออกหมายจับนั้นต่อผู้พิพากษาพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป

และเมื่อผู้พิพากษามีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมก็จะบันทึกข้อมูลดังกล่าวลงใน web service ที่เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอออกหมายจับนั้นทราบผลในทันที รวมทั้งกรณีที่มีการเพิกถอนหมายจับ และกรณีที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับเองจากเหตุจำเลยหลบหนีระหว่างปล่อยชั่วคราว นอกจากนี้เมื่อมีการดำเนินการติดตามจับกุมผู้ต้องหานั้นตามตามหมายจับแล้วเจ้าพนักงานก็จะต้องบันทึกข้อมูลผลการจับลงในเว็บเซอร์วิสไม่ช้ากว่า 7 วันนับแต่การจับกุม ขณะที่หากการใช้ web service ที่จะบันทึกข้อมูลการขอออกมาจากดังกล่าวปรากฏว่าเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นผู้ร้องขอใช้ระบบอย่างไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของระบบ หรือกระทำการอันใดอันหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยในการใช้ระบบ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อาจมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ระงับ หรือเพิกถอนสิทธิการเข้าใช้ระบบของผู้ร้องขอดังกล่าวได้

นายสราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามประกาศดังกล่าวได้ กำหนดให้วิธีการร้องขอออกหมายจับของเจ้าพนักงานมีทางเลือกทำได้ 2 วิธีคือ 1.ให้นำคำร้อง และเอกสารประกอบใส่ซองที่ไม่ปิดผนึก มาส่งให้โดยตรงกับผู้พิพากษาของศาลที่จะร้องขอ หรือ 2.การบันทึกข้อมูลร้องขอออกหมายจับผ่านเว็บเซอร์วิส (web service) ที่ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือให้เกิดความสะดวก รวดเร็วในการรับทราบคำร้องขอและคำสั่ง โดยหากมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีได้ทั้ง 100 % ในกลุ่มหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมทั้ง 3 แห่งนี้แล้ว อนาคตวิธีการยื่นคำร้องขอออกหมายจับก็จะเป็นการบันทึกผ่านระบบ web service

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนการแสดงหมายจับต่อผู้ต้องหาเพื่อจะทำการจับกุมนั้นเจ้าพนักงานก็ยังจะต้องแสดงเอกสารหมายจับต่อผู้ต้องหาให้เห็นชัดเจน ยังไม่ใช่เป็นลักษณะของการแสดงหมายจับผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใดๆ แต่หากในอนาคตมีการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมพร้อมต่อการปฏิบัติงานแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะแสดงหมายจับต่อผู้ต้องหาผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ


กำลังโหลดความคิดเห็น