xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลฎีกา ห่วงบุคลากรของศาลในภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ “ปาบึก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“ชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา ห่วงบุคลากรของศาลในพื้นที่ภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากพายุ “ปาบึก” ให้สำนักงานศาลยุติธรรมเร่งสรุปปัญหา-แนวทางแก้ไข พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือทันที

วันนี้ (7 ม.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากเหตุภัยพิบัติพายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่พัดผ่านประเทศไทย จนส่งผลกระทบกับจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ “นายชีพ จุลมนต์” ประธานศาลฎีกา ได้แสดงความห่วงใยบุคลากรของศาลยุติธรรมในพื้นที่ดังกล่าว วันนี้ประธานศาลฎีกาจึงมอบหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรม โดยเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประชุม VDO Conference ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ในภาค 8 และ 9 เฉพาะที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 23 หน่วยงาน เพื่อสรุปปัญหา หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน และสนับสนุนด้านงบประมาณ

ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เน้นย้ำถึงความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาและจะดำเนินการให้ทันที ทั้งนี้ หากหน่วยงานพบความเสียหายเพิ่มเติม รวมถึงความเสียหายของบุคลากรในหน่วยงานที่ประสบภัยพิบัติ ขอให้แจ้งเพิ่มเติมไปยังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทันที

นอกจากนี้ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมี นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการฯ มีเป้าหมายให้สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลภายในเวลาที่รวดเร็วและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในงานส่งเสริมงานตุลาการ งานวิชาการ งานสนับสนุนศาลยุติธรรม เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยศาลยุติธรรมวางเป้าหมายการพัฒนาให้เป็น D-Court (ดิจิทัลคอร์ท) ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ขณะที่ปัจจุบันศาลพัฒนาระบบเทคโนโลยี นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเสริมสร้างช่องทางการยื่นฟ้อง-ส่งคำร้องของคู่ความ เช่น e-Filing ในคดีแพ่ง (แบบออนไลน์) อย่างคดีร้องขอจัดการมรดก, คดีผู้บริโภค ที่ประหยัดค่าใช้จ่าย-ระยะเวลาการเดินทาง และสนับสนุนระบบการเชื่อมข้อมูลทางคดี การขอคัดคำพิพากษาจากศาลต่างๆ หรือ E-Court ก็ยังดำเนินควบคู่กันไป โดยเราจะต่อยอดจากการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ สู่ระบบดิจิทัล ให้ทันกับสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะพิจารณาในเบื้องต้นว่าส่วนปฏิบัติการใดที่ศาลยุติธรรมจะพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลนั้นจะต้องอาศัยองค์ประกอบใดบ้าง โดยในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.นี้ “นายสราวุธ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะแถลงผลงานรอบปีที่ผ่านมา พร้อมแถลงรายละเอียดเป้าหมายการพัฒนาระบบงานสำนักงานศาลยุติธรรมสู่ระบบดิจิทัล D-Court ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ นี้มีอำนาจหน้าที่ 4 ข้อ คือ 1. กำหนดกระบวนการและขั้นตอน หรือโรดแมพ (Roadmap) ในการเปลี่ยนแปลงสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานในสังกัดสู่ระบบดิจิทัล
2. กำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสาร การเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล วัฒนธรรมองค์กร เพื่อการเติบโตในระบบดิจิทัลอย่างยั่งยืน
3. กำหนดเทคโนโลยีที่เหมาะสมปรับใช้กับภารกิจของสำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานในสังกัดเพื่อมุ่งสู่ศาลยุติธรรมดิจิทัล (Digital Court)
4. ดำเนินการในกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Tranformation)


กำลังโหลดความคิดเห็น