xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กช้าง” เปิดผลปราบยาเสพติด 3 เดือน ได้ผู้ต้องหากว่า 7 หมื่น ยาบ้า 179 ล้านเม็ด ไอซ์กว่า 3 พันกิโลฯ ยึดทรัพย์ 157 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - รมช.กลาโหม นำแถลงผลการปราบปรามยานรกในรอบ 3 เดือน ของ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแก้ปัญหายาเสพติด จับผู้กระทำผิด 76,545 ราย ได้ของกลาง ยาบ้า 179 ล้านเม็ด ไอซ์กว่า 3 พันกิโลฯ กัญชาอีก กว่า 2 พันกิโลฯ เฮโรฮีน 296 กิโลฯ โคเคน 6 กิโลฯ ยึดอายัดทรัพย์มูลค่า157 ล้านบาท

วันนี้ (27 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. , พล.ต.ธงชัย รอดย้อย ผอ.สำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก , พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ นายแพทย์ ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมแถลงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ครอบคลุมทุกมิติ การดำเนินงานยาเสพติดของรัฐบาล ทั้งด้านการสกัดกั้น การปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษายาเสพติด และการบังคับใช้กฎหมาย โดยมี คณะอนุกรรมการฯ 39 คณะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กว่า 200 นาย เข้าร่วม

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด จึงได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงกำหนด “นโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดเร่งด่วน 3 เดือน” และมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานยึดแผนปฏิบัติการตามที่สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดและเน้นย้ำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน พร้อมจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด กำหนดเป้าหมายดำเนินการเชิงพื้นที่ และผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ ได้แก่ 1.พื้นที่ชายแดน 132 อำเภอ 31 จังหวัด 2.พื้นที่แพร่ระบาด 562 ตำบล 324 อำเภอ 64 จังหวัด และ 3.พื้นที่เฉพาะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สถานศึกษา สถานบริการ และเรือนจำทั้งประเทศ

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวอีกว่า การดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ต.ค. - 21 ธ.ค.61 มีผลการดำเนินงานยาเสพติดในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านการป้องกันยาเสพติด การลดความต้องการยาเสพติดด้วยการรณรงค์ป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา รวม 2,828,179 คน กลุ่มเด็กและเยาวชนนอกสถานศึกษา รวม 49,139 คน กลุ่มแรงงาน จำนวน 4,555 แห่ง รวม 302,114 คน และกลุ่มประชาชนทั่วไป รวม 2,049,050 คน 2.ด้านการบำบัดรักษายาเสพติด การจัดการกระบวนการบำบัดรักษาทั้งระบบ เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาไม่กลับมาเสพซ้ำ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ด้วยการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวม 25,449 ราย

"3.การปราบปราบและการบังคับใช้กฎหมายดำเนินการต่อผู้ค้าและควบคุมไม่ให้ยาเสพติดกระจายลงไปในพื้นที่ซึ่งเป็นการตัดโอกาสไม่ให้ผู้เสพเข้าถึงตัวยาเสพติดได้โดยง่าย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมามีการจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 73,540 คดี ผู้ต้องหา 76,545 คน ของกลาง ยาบ้า 179,500,858 เม็ด ไอซ์ 3,463.61 กิโลกรัม กัญชา 2,194.38 กิโลกรัม เฮโรอีน 296.87 กิโลกรัม คีตามีน 213 กิโลกรัม และโคเคน 6 กิโลกรัม และมีการดำเนินคดีต่อผู้ค้ารายสำคัญ ในฐานความผิดสมคบและสนับสนุนหรือช่วยเหลือ 500 คดี ผู้ต้องหา 917 คน ยึดและอายัดทรัพย์สิน 311 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สิน 157 ล้านบาท และ 4.การสกัดกั้นยาเสพติด การบูรณาการของหน่วยงานความมั่นคงส่งผลให้การสกัดกั้นยาเสพติดที่ถูกลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนไม่ถูกส่งผ่านเข้าไปยังพื้นที่ตอนในและแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆ สามารถสกัดกั้นยาเสพติดทั้งตามแนวชายแดนและตามเส้นทางลำเลียงหลักได้มากกว่า 152 ล้านเม็ด"

สำหรับทิศทางการดำเนินการใน ปี 2562 กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษายาเสพติด โดยมีจุดเน้นเพื่อลดทอนศักยภาพพื้นที่การผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ตัดโอกาสในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดทั้งที่เพื่อการแพร่กระจายและส่งออก ลดความต้องการยาเสพติดในประเทศ และลดการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของกลุ่มเด็กและเยาวชน อาทิ 1.ด้านการป้องกันยาเสพติด ให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนทั่วไป ตลอดจนการป้องกันปัญหาเชิงระบบนิเวศ สร้างสภาพแวดล้อมระบบนิเวศทางสังคมที่สัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย

2.ด้านการปราบปรามยาเสพติด พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมหรือลดการผลิตยาเสพติดทำลายแหล่งผลิต เครือข่ายการค้าและองค์กรอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายจับกุมนักค้าคดียาเสพติดรายสำคัญ 62,000 คดี ดำเนินการลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้าน สถานประกอบการ สถานศึกษา โดยเน้นหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง 4,076 หมู่บ้าน

3.ด้านการบำบัดรักษาผู้เสพยาต้องได้รับการบำบัดรักษาอย่างมีมาตรฐาน มีระบบทางเลือกที่เหมาะสม เป้าหมายผู้เข้ารับการบำบัดทุกระบบ 217,550 ราย และ 4.ด้านการบริหารจัดการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ

"แม้ว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดในช่วงที่ผ่านมาจะสามารถควบคุมปัญหายาเสพติดมิให้ขยายตัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและจะนำไปสู่การลดปัญหาให้เบาบางลง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริงคือการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลจึงมุ่งเน้นสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนัก รู้หน้าที่ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเริ่มจากตนเอง ครอบครัวและชุมชน ช่วยในการค้นหา โน้มน้าว ชักชวนผู้เสพยาเสพติดในชุมชนให้เข้ารับการบำบัดรักษา และติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำ และรวมถึงการให้ข้อมูลเบาะแสของผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในชุมชน หากพบเห็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แจ้งสายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง"





กำลังโหลดความคิดเห็น