xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ลั่น 2 สัปดาห์ ชัดเจนจดสิทธิบัตรกัญชา ยันมีความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ยุติธรรมเปิดเวทีสัมนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ ร่วมนานาชาติ แจง 2 สัปดาห์ ชัดเจนข้อสรุปการจดสิทธิบัตร ยันมีความจำเป็นต้องใช้ทางการแพทย์ แต่ไม่ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมทางวิชาการ เรื่อง “การใช้กัญชาทางการแพทย์ ประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และเนเธอร์แลนด์” โดยมี นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สอาดพรรค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้เเทนจากสถานทูต 3 ประเทศ เข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

พล.อ.อ.ประจินเปิดเผยว่า หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบการใช้กัญชาทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เดิมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 7 ฉบับ ให้เหลือ 2 ฉบับ โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา กัญชา เป็นพืชเสพติดผิดกฎหมายมีทั้งประโยชน์และโทษ จึงต้องนำมาสู่การวิจัยตามกรอบความร่วมมือระหว่างสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ ศูนย์ประสานงานความร่วมมือด้านยาเสพติดอาเซียน กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามใช้ยาเสพติด หรือแม้แต่กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย

พล.อ.อ.ประจินเผยอีกว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้ศึกษาเชิงลึก ทั้งเรื่องปริมาณการใช้กัญชาเพื่อการผลิตยา ส่วนผสมในการผลิต และสถานที่ปลูก ทำให้ต้องสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพราะยังติดเรื่องข้อกฎหมายจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ 1. ทีมนักวิจัย ช่วยควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง เช่น การควบคุมการปลูก การเลือกสายพันธุ์และพื้นที่การปลูก การใช้ทางการแพทย์กับผู้ป่วย เป็นต้น 2. ทีมกฎหมาย ดูข้อกำหนดหลักเกณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ

“ส่วนการจดสิทธิบัตรของบริษัทต่างประเทศกับกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษาและหาข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ เพราะยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องใช้ทางการแพทย์ นอกจากนี้ พบว่าหลายประเทศมีการนำกัญชามาผลิตยาเพื่อรักษาผู้ป่วย ทั้งโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ ชักกะตุก และพาร์กินสัน จึงถือว่ามีความสำคัญทางการแพทย์”

ด้านนายนิยมกล่าวว่า ยืนยันไม่มีการปลดล็อดกัญชาจากยาเสพติดประเภท 5 แน่นอน และไม่ยอมให้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายกลายเป็นถูกกฎหมาย แต่จะปรับกฎหมายให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้เท่านั้น ส่วนเรื่องการปลูกในระยะเวลา 3 ปี จะให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการก่อน เพื่อควบคุมได้ง่าย หลังจากนั้นจะต้องดูความจำเป็นว่าจะสามารถให้เกษตรกรทั่วไปปลูกได้หรือไม่ เพราะอาจจะเกิดปัญหาของพืชกัญชาผิดกฎหมายที่แอบลักลอบแทรกแซงเข้ามา

ส่วนทางนายอดัม เบนจามิน (Mr.Adam Banjamin) ผู้อำนวยการบริหารบริษัท MEDIFARM จำกัด ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ประเทศออสเตรเลียมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานควบคุมกัญชา โดยมีกระบวนการควบคุมทั้งเรื่องปริมาณการปลูก และนำไปใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีกฎหมายควบคุมกัญชามากเหมือนในไทย หากจะนำไปใช้ในเชิงธุรกิจทางการแพทย์ ภาคเอกชนต้องมีความรอบคอบในการปลูก และกระบวนการผลิต ส่วนปริมาณการปลูกกัญชานั้นจะควบคุมให้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ทั้งนี้ ขอชื่นชมประเทศไทยที่มีความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการควบคุมกัญชาทางการแพทย์




กำลังโหลดความคิดเห็น