xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่งอาร์เอส เทเลวิชั่น จ่าย “แพนเค้ก” 1 ล้าน นำภาพ-เสียงไปโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษาให้ “อาร์เอส เทเลวิชั่น” จ่ายค่าเสียหาย “แพนเค้ก” 1 ล้าน ฐานนำภาพและเสียงไปโฆษณา “ใครๆ ก็ดูช่อง 8” โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม

วันนี้ (20 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ พ.2293/2558 ที่ น.ส.เขมนิจ จามิกรณ์ หรือแพนเค้ก อายุ 30 ปี ดาราสาวชื่อดัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท อาร์เอส เทเลวิชั่น จำกัด เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท

โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 สรุปว่า โจทก์เป็นดารานางแบบ นักแสดง ทำงานถ่ายละคร งานโฆษณา ออกเผยแพร่ในสื่อวิทยุโทรทัศน์ในสังกัดช่อง 7 สี ส่วนจำเลยเป็นบริษัทประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ ประกอบกิจการในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ เมื่อต้นปี 2558 ได้มีการจัดงานกิจกรรมสันทนาการบันเทิง หรืองานอีเวนต์ ในสถานที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร โจทก์ได้รับเชิญจากเจ้าของงานอีเวนต์ไปปรากฏตัวในงานเช่นเดียวกับดารานักแสดงอื่นๆ

ทั้งนี้ งานดังกล่าวมีช่างภาพ ผู้สื่อข่าว สื่อมวลชนแขนงต่างๆ สายบันเทิงไปร่วมรายงานข่าวและบันทึกภาพจำนวนมาก โดยปกติในทางปฏิบัติก็จะมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์และนำภาพข่าวนั้นไปเสนอในสถานีคลื่นความถี่ของแต่ละคน ไม่เกินครั้งสองครั้ง แต่จำเลยได้ให้ผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์โจทก์ และให้พูดว่า “ใครๆ ก็ดูช่อง 8” เพื่อนำไปออกข่าวบันเทิง โจทก์ก็ให้สัมภาษณ์โดยมีภาพโจทก์พูดข้อความดังกล่าว จากนั้นประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. 2558 ได้มีการนำภาพและข้อความว่า “ใครๆ ก็ดูช่อง 8” ไปออกอากาศและผ่านทางช่องทางยูทูปหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่โจทก์เป็นดารานักแสดงในสังกัดช่อง 7 สี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 26 พ.ค.2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชำระค่าธรรมเนียมแทนโจทก์

จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 26 พ.ค. 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า การนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้ แต่พยานจำเลยที่เป็นผู้สื่อข่าวและเข้าสัมภาษณ์โจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันถึงเรื่องนี้เลย ซึ่งเบิกความเพียงว่า โจทก์ยินยอมให้บันทึกภาพและเสียงพูดของโจทก์เท่านั้น ถ้ายินยอมเพียงเท่านี้จะไปถือว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นไม่ได้ และขณะเดียวกันถ้าหากโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้วจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญากับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ให้ผู้อื่น อีกทั้งขณะมีการสัมภาษณ์ ก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าก่อนว่าจะนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากเหตุดังกล่าวที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ไม่ได้ยินยอมให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ โดยน่าเชื่อตามที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ยินยอมเพียงให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปออกรายการข่าวบันเทิงรายวันเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ติดต่อกันนานนับเดือนโดยไม่มีการโต้แย้งคัดค้าน และทันทีที่โจทก์โต้แย้งจำเลยก็หยุดโฆษณาประชาสัมพันธ์ทันทีในเดือนมีนาคม 2558 จึงถือว่าในช่วงที่โจทก์ยังไม่โต้แย้งโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว จำเลยฎีกาเช่นนี้ไม่ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โจทก์จึงไม่ทราบเรื่องและไม่ได้โต้แย้ง และการที่จำเลยฎีกาว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้จำเลยนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็น่าจะปฏิเสธไม่พูดเช่นนั้น เห็นว่าการจำเลยนำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์จนเป็นผลทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และสื่อมวลชนเข้าใจผิดคิดว่าโจทก์ผิดสัญญาโดยจะย้ายไปอยู่ในสังกัดสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ตามที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อโจทก์เป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง จึงถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า การย้ายสังกัดของนักแสดงเป็นเรื่องปกติไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำสืบให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยจะได้ประโยชน์จากคำพูดของโจทก์มากน้อยเพียงใด ในทำนองว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จำเลยจะฎีกาเช่นนี้ไม่ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นและแม้ศิลปินและดารานักร้องคนอื่นก็พูดเช่นเดียวกับโจทก์อย่างที่จำเลยฎีกาก็เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ได้เป็นเครื่องชี้แสดงว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง อีกทั้งเมื่อนางนวลนง จามิกรณ์ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นผู้จัดการส่วนตัวเบิกความว่า ในการรับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าทางโทรทัศน์ โจทก์จะคิดค่าจ้างรายละ 1,000,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายต่อชื่อเสียงให้โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท เห็นว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ยินยอมให้นำภาพและเสียงพูดของโจทก์ไปออกรายการข่าวบันเทิงรายวันจะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อกัน อันเป็นประเพณีปฏิบัติในวงการบันเทิงตามที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เนื่องจากไม่เป็นสาระแก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว พิพากษายืน


กำลังโหลดความคิดเห็น