xs
xsm
sm
md
lg

ออกระเบียบการพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมของนายกฯ-ส.ส.-ส.ว.-องค์กรอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ออกระเบียบว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และองค์กรอิสระต่างๆ พร้อมเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา

วันนี้ (18 ต.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 219 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งได้จัดทำและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา

โดยมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย และเปรียบเสมือนเป็นกฎหมายสารบัญญัติที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แล้วเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

สำหรับการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกานั้น รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกฎหมายวิธีบัญญัติ ซึ่งบัดนี้ศาลฎีกาได้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยท่านประธานศาลฎีกาได้ลงนามในระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการส่งเรื่องไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป จึงถือได้ว่าปัจจุบันนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใกล้มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์แล้ว

ดังนั้น หากบุคคลดังต่อไปนี้ ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชน กระทำผิดมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา 219 และมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องถูก ป.ป.ช.ไต่สวน และมีความเห็นส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา

ทั้งนี้ หากกรรมการ ป.ป.ช.ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีนี้กฎหมายกำหนดให้ยื่นข้อกล่าวหาตามขั้นตอนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ต่อประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณา หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ากรรมการ ป.ป.ช.มีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาให้เสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อให้ประธานศาลฎีกาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระขึ้นมาทำหน้าที่แทน ป.ป.ช.แล้วดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561


กำลังโหลดความคิดเห็น