xs
xsm
sm
md
lg

กรมบังคับคดีจัดประชุมติดตามสินทรัพย์ดิจิทัล ตามคำสั่งศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กรมบังคับคดี จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อเป็นประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ที่เกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์

วันนี้ (17 ต.ค.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล”

น.ส.รื่นวดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีซึ่งมีภารกิจหลักในการให้บริการด้านการบังคับคดีแพ่ง การบังคับคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การวางทรัพย์ และการไกล่เกลี่ย ให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อนำผลการวิจัยมาพิจารณาพัฒนาและปรับปรุงการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่นิยมแพร่หลาย และนับเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่ง ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจที่จะถือครอง ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่มีราคา

น.ส.รื่นวดี กล่าวอีกว่า กรมบังคับคดีเล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมการเพื่อรองรับการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและวิจัยการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และปัจจุบันที่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในการจำหน่ายสินค้า และการให้บริการ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี Block Chain มาใช้ในธุรกิจการเงินที่เรียกว่า Fin Tech (Financial Technology) ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในปัจจุบันได้แก่ ระบบการเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อันเป็นที่มาของสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum, Ripple, Cardano, Stellar เป็นต้น

“โครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ที่มา ประเภท สิทธิ การครอบครอง ความเป็นเจ้าของ การได้มา (การระดมทุน) การกำกับดูแล การจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ละรูปแบบ ประเภท รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมของสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งบุคคล องค์กร กลไก กระบวนการต่างๆ และที่สำคัญ ศึกษาหาแนวทางการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย ว่า จะสามารถบังคับคดีได้หรือไม่อย่างไร และหากบังคับคดีได้จะดำเนินการบังคับคดีได้อย่างไร ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาวิจัยในสองประเด็นหลัก คือ สินทรัพย์ดิจิทัลและการกำกับดูแล และการบังคับคดีสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมเรื่องการยึดและอายัดสินทรัพย์ดิจิทัล การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล และการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำพิพากษา โดยมีการศึกษากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ แคนนาดา เปรียบเทียบ” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น