xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : แผนเขี่ย “อภิสิทธิ์”พ้นทาง จุดไฟขัดแย้งชิง หน.ปชป.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ผู้จัดการ 360 วันอังคารที่ 18 กันยายน 2561 ตอน แผนเขี่ย “อภิสิทธิ์”พ้นทาง จุดไฟขัดแย้งชิง หน.ปชป.

 

พรรคการเมืองจะเริ่มได้ยืดเส้นยืดสายกันแล้ว เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา  44ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่  13/2561 คลายล็อกพรรคการเมือง โดยในคำสั่งเปิดโอกาสให้ พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค

สำหรับ พรรคใหญ่ อย่าง ประชาธิปัตย์ ในจังหวะการเมืองรอบนี้ ถือว่าไม่ธรรมดาเนื่องจากถูกจับตามองว่าประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคตัวแปรจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี2562 เพราะว่าประชาธิปัตย์สวิงไปขั้วไหน ขั้วนั้นมีเปอร์เซนต์สูง ที่จะได้ตั้งรัฐบาล  

ไม่ว่าจะเป็นขั้ว “ไม่เอาคสช.” อย่างที่เห็นคือ พรรคเพื่อไทย- อนาคตใหม่- ประชาชาติ แม้ว่ากลุ่มนี้รวมกันแล้วได้เกิน 250   เสียง ของจำนวนส. ส. 500 เสียง แต่ก็ไม่น่ารวมเสียงได้ถึง  375  เสียง คือกึ่งหนึ่งของ750เสียงสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ500ส. ส. บวก250 ส. ว. ในการโหวตตั้งนายกรัฐมนตรี

แต่หากได้ ประชาธิปัตย์ไปร่วมเป็นพันธมิตรการเมือง เกมการเมืองก็จะพลิก ฝ่ายเพื่อไทยจะต่อรองกับพวกส. ว.250คน และคสช.ได้ทันที อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาล ของฝ่ายไม่เอาคสช.ได้ความชอบธรรมและอย่างน้อยมีโอกาสยื้อยุดได้มากขึ้น   

แต่หากปชป.ไปอยู่กับ ขั้ว “หนุนคสช.”คาดว่าคงมีพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมพลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา โดยขั้วนี้ รวมกันแล้วได้เกิน 250  เสียง และถ้าประชาธิปัตย์ได้ส.ส.มากกว่า พลังประชารัฐ ปชป. ก็จะสามารถต่อรอง ฝ่ายคสช.ได้

ทำให้ โอกาสที่เก้าอี้ นายกฯ จะพลิกมาอยู่กับประชาธิปัตย์ ก็ยังมีความเป็นไปได้ หรือไม่ก็ได้เก้าอี้รัฐมนตรีเกรดเออยู่ในโควต้า  

ดังนั้น จังหวะนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหญ่ คือเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ใครที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคปชป.ต่อจากนี้ จึงมีความหมายอย่างมาก ทั้งกับพรรคปชป.และฝ่ายคสช.

จึงไม่แปลกที่จะมีการวิเคราะห์ข่าว ทำนองว่า ฝ่ายคสช. และฝ่ายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีบารมีตัวจริงของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่แฮปปี้ หากหัวหน้าพรรคปชป.ยังเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องการให้ เปลี่ยนหัว ปชป. เป็นคนอื่น

โดยสเปกหัวหน้าปชป. คนใหม่ต้องเป็นคนที่ ฝ่ายสุเทพ  คอนโทรลได้ และเป็นคนที่ คสช.คุยได้ง่ายกว่า อภิสิทธิ์  จนทำให้ สุเทพ ต้องชิงปฏิเสธโดยเร็วเพื่อสยบกระแสข่าวดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 
แค่เปิดฉากแรกก็ดุเดือดแล้ว ด้วยเหตุนี้ ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกจับตามอง อย่างมาก

การชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถึงตอนนี้ตามหน้าเสื่อ มีผู้ลงชิงแน่ๆ แล้วสองชื่อ คือ นาย อภิสิทธิ์ เวชชชาชีวะ ที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรคมาร่วม 13ปี คือควบมาตั้งแต่ปี  2548จนถึงปัจจุบัน  

 และอีกหนึ่งชื่อ ที่ตอนแรก ทำท่าอ้อมๆ แอ้มๆ แต่ตอนนี้ แม้ไม่ประกาศตัวแน่ชัด ก็ไม่ปฏิเสธแล้วก็คือ นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ผู้สร้างผลงาน คดีจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อันลือลั่น

การขึ้นเวทีของ  หมอวรงค์ เป็นเรื่องลือกันว่า ได้รับแรงหนุนจาก ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทย อดีตแกนนำกปปส. ที่เป็น แกนนำประชาธิปัตย์ สายใต้ ซึ่งวางเป้าหมายการเมืองมานานแล้วว่า

วงในปชป. รู้กันดีว่า ถาวรต้องการเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตามรอย สองลูกพี่เก่า คือ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และสุเทพ เทือกสุบรรณ สองอดีตเลขาธิการพรรคปชป.

 จึงมีกระแสข่าวว่าช่วงนี้ ถาวร เดินเกม เตรียมเดินสายหาเสียงให้ หมอวรงค์  ซึ่งที่ผ่านมา ถาวร ก็เคยมีประสบการณ์เรื่องการเป็นมือประสานล็อบบี้โหวตเตอร์ หรือผู้ออกเสียงของพรรคมาแล้ว

ในสมัยที่ถาวรเป็น นักการเมืองสังกัด บ้านสนามบินน้ำ ของพลตรีสนั่น แห่งกลุ่มทศวรรษใหม่ ที่เอาชนะกลุ่มผลัดใบ ของอภิสิทธิ์ –สุเทพ –นิพนธ์ พร้อมพันธ์ ตอนชิงหัวหน้าพรรคปชป.เมื่อปี 2547 จนทำให้ บัญญัติ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคปชป.

การแท็กทีมกันของ หมอวรงค์กับถาวร เพื่อสู้กับ อภิสิทธิ์ –จุติ ไกรฤกษ์ รอบนี้จึงบี้กันหนักแน่ ไม่ใช่รายการมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน
 
เมื่อเปรียบเทียบฟอร์มแล้ว แม้ชื่อชั้น บารมี การยอมรับของคนในพรรคและนอกพรรค ของหมอวรงค์ จะเป็นรอง อภิสิทธิ์หลายขุม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สมาชิกพรรคปชป.ทั่วประเทศ อดีตส.ส.ของพรรคปชป. กรรมการบริหารพรรค จำนวนไม่น้อยที่มีปฏิกิริยากับพรรค

และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค ต้องการเห็นชื่อใหม่ ๆมาเป็นตัวเลือกในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค มาเป็นผู้นำพรรคแทนอภิสิทธิ์

แต่เมื่อระดับหัวแถวอย่าง ชวน หลีกภัย –จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ –กรณ์ จาติกวนิช ไม่ขอท้าชิงกับ อภิสิทธิ์
การมีชื่อ  หมอวรงค์ มาลงแข่งขันด้วย ก็ทำให้ การชิงเก้าอี้ หัวหน้าพรรคปชป. มีสีสัน มีการแข่งขัน ตามวิถีประชาธิปไตยไม่ถูกผูกขาด ทำให้คนในปชป.ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็อาจหนุนหมอวรงค์ก็เป็นไปได้  

สถานการณ์ของอภิสิทธิ์บนเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สู้ดีนัก เจอศึกขนาบเข้ามาสองด้านทั้งภายในและภายนอก จึงยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะมีโอกาสได้ไปต่อหรือไม่ เพราะต้องสู้ศึกสองด้านถึงสองรอบ

เนื่องจากการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งที่จะมีขึ้นนี้ เป็นไปตามระเบียบใหม่ของพรรคที่อภิสิทธิ์ดีไซน์ขึ้นมาเอง โดยให้มีการหยั่งเสียงจากสมาชิกทั้งหมดของพรรครอบหนึ่ง และเลือกในการประชุมใหญ่ของพรรคอีกครั้งเป็นรอบตัดสินชี้ขาด ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า250 คนตามกฎหมาย

สมมุติว่า ผลในรอบหยั่งเสียงสมาชิกพรรคทั่วประเทศที่เลือกผ่านทางโทรศัพท์มือถือ อภิสิทธิ์ชนะ แต่ที่ประชุมใหญ่พรรค ปรากฎว่าอภิสิทธิ์แพ้หมอวรงค์ หัวหน้าพรรคก็เป็นของหมอวรงค์ ปัญหาจะบานปลายอาจจะทำให้ปชป. วุ่นวายก็เป็นได้

หากอภิสิทธิ์แพ้ในรอบหยั่งเสียงสมาชิกพรรค เชื่อกันว่าอภิสิทธิ์คงแสดงสปิริตศิษย์อ๊อกซฟอร์ด ถอนตัวจากผู้ท้าชิง เรื่องปัญหาการชิงประมุขพรรคก็จบ หมอวรงค์ก็นอนมา

ส่วนด้านหมอวรงค์ หากแพ้รอบหยั่งเสียง ยังคิดสู้ต่อจนจบเกมหรือไม่ มีใครรู้ คนรู้ก็มีอยู่ นอกจากหมอวรงค์ ก็น่ามีอยู่อีกสองสามคน เท่านั้น!?


กำลังโหลดความคิดเห็น