xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ.คนใหม่ มอบนโยบายน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.ยธ. มอบนโยบายกระทรวงยุติธรรมด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมโดยการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0”

วันนี้ (4 ธ.ค.) เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธวัชชัย ไทยเขียว พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ นายวิทยา สุริยะวงค์ นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.อ.อ.ประจิน เปิดเผยหลังการประชุม ว่า กระทรวงยุติธรรม มีแนวทางการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการกำหนดนโยบาย ดังนี้ 1. เทิดทูนและธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย ควบคู่กับการเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้กับการพัฒนากระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้เกิดผลสำเร็จ และสามารถนำไปขยายผลในการปฏิบัติงานอื่นๆ

พล.อ.อ.ประจิน เผยอีกว่า 2. พัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางผ่านทางสำนักงานยุติธรรมจังหวัด 3. นำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิให้ประชาชนได้รับทราบ 4. เน้นบทบาทและมาตรการเชิงรุกเพื่อให้สังคมมีความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนด และ 5. การพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ เด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ ผู้ถูกคุมความประพฤติ ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ โดยการยกระดับทักษะความรู้ ทักษะการทำงานให้เท่าทันต่อความต้องการของตลาดแรงงานสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ภายหลังพ้นโทษเพื่อสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นให้สังคม

“ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมในการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยลดระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดของยาเสพติด ส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงที่อาจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2. การสร้างความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม เพื่อแก้ไขการกระทำความผิดซ้ำ โดยดูแลฟื้นฟูผู้กระทำผิดตั้งแต่ต้นน้ำ คือ จำแนกกลุ่มผู้กระทำผิด จัดเก็บข้อมูลและการติดตามประเมินระดับการควบคุม และจัดทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูที่เหมาะสมกับตัวบุคคล เพื่อส่งต่อมายังกลางน้ำที่เป็นกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูด้วยเครื่องมือที่หลากหลายและเหมาะสมกับพฤติการณ์ของแต่ละบุคคลไปจนถึงปลายน้ำ โดยการพัฒนาระบบการติดตามช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้มีอาชีพ มีรายได้ สามารถกลับไปดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข” รมว.ยธ. กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน เผยต่อว่า 3. การอำนวยความยุติธรรม โดยการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” 4. การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม 5. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านความมั่นคง บูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้มีอิทธิพล การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรและการเงินการธนาคาร และ 6.การเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม และเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมเคารพกติกา เพื่อจัดการความขัดแข้ง และการปลูกฝังสันติวัฒนธรรมตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ประกอบด้วย 1. การติดตามคดีสำคัญที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม เช่น คดีวัดพระธรรมกาย คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น คดีการทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย รวมถึงการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการเร่งรัดติดตามให้ได้ข้อเท็จจริงจะมีการประชุมความคืบหน้าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ ในวันอังคาร เวลา 15.00 น. และ วันศุกร์ เวลา 07.30 น. ตลอดจนคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคม เช่น กรณีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ และการตรวจพิสูจน์การเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2. การขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) โดยให้ยุติธรรมจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการดำเนินงานจากส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวปิดท้ายว่า 3. ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยดำเนินการเชิงรุกในรูปแบบ “หมอยุติธรรม” เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการรับรู้ด้านกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของประชาชน การให้คำปรึกษาเบื้องต้นด้านคดีความเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมอีกด้วย 4. เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการให้บริการประชาชนให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เน้นความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานและภายในกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ ในส่วนการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั้นอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและจำเป็นต้องมีหน่วยงานดังกล่าวแต่ต้องปรับระบบงานไม่ให้ซับซ้อนกับการทำงานของหน่วยงานอื่น

กำลังโหลดความคิดเห็น