xs
xsm
sm
md
lg

วงประชุมปฏิรูปตำรวจเสนอให้ ก.ตร.ตั้ง ผบ.ตร. ขจัดการเมืองออกจากการแต่งตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ที่ประชุมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) วงประชุมปฏิรูปตำรวจเสนอให้ ก.ตร.ตั้ง ผบ.ตร. ขจัดการเมืองออกจากการแต่งตั้ง เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสัปดาห์หน้า



วันนี้ (24 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะกรรมการฯ ร่วมประชุมใช้เวลาประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้ได้หารือถึงการวางระบบแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยเริ่มต้นหารือในประเด็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. โดยหยิบประเด็นอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มาหารือก่อน นำข้อเสนอจากการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาเป็นพื้นฐาน โดยมีการถกกันถึงอำนาจหน้าที่ของ ก.ต.ช. และ ก.ตร. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมที่ได้จากการถกแถลงกัน ไม่ใช่การโหวต ต่างเห็นว่าควรยังคงมีบอร์ดทั้ง 2 ชุดไว้ แต่ให้ปรับอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบให้เหมาะสม และมีฝ่ายการเมืองเข้ามาน้อยที่สุด

“เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นว่า ควรให้ ก.ต.ช.ที่ปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ออกแบบใหม่ โดยยังมีฝ่ายการเมืองบางส่วนเป็นกรรมการ อาจมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการเหมือนเดิม แต่ปรับองค์ประกอบใหม่ ไม่มีฝ่ายการเมืองคงไม่ได้ คงบทบาทในการกำหนดนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม แต่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง ผบ.ตร.แล้ว มีการอภิปรายและเสนอในรายงานการศึกษาฯว่าองค์ประกอบปัจจุบันมีส่วนผสมของคณะกรรมการทั้งจากการเมืองและฝ่ายต่างๆ มากมาย โดยแทบไม่มีตำรวจเลย แต่กลับมีอำนาจตั้งผบ.ตร.ก็ดูแปลก ที่ประชุมมีความเห็นว่า ผบ.ตร.ควรมีที่มา โดยปลอดการเมือง เพราะ ผบ.ตร.เพียงคนเดียว แต่งตั้งตำรวจทั่วประเทศได้ถึง 2 แสนนาย แม้อำนาจตามกฎหมายอ้างว่ากระจายอำนาจการแต่งตั้ง แต่ในทางที่ปฏิบัติอยู่อาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ จึงมีการเสนอให้ อำนาจการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ไปอยู่ที่ ก.ตร.ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มาจากตำรวจแทน เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบ คณะกรรมการก.ตร.ใหม่ มีการเสนอให้ประธาน ก.ตร.ควรมาจากอดีตรอง ผบ.ตร. ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีอย่างในปัจจุบัน ส่วนกรรมการอื่นๆ ยังไม่คุยในรายละเอียด แต่ต้องไม่มีฝ่ายการเมืองเป็นกรรมการเลย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเลือกใช้แนวทางใด แต่ที่ยกมาเป็นความคิดเห็นจากเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมที่อภิปรายออกมาในแนวทางนี้” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า แนวคิดหลักคือลดบทบาทการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยเริ่มต้นที่ตำแหน่ง ผบ.ตร. ประเด็นนี้ตอนที่ถกแถลงกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ไม่ได้แสดงความคิดเห็น ซึ่ง ผบ.ตร.ออกตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ขอแสดงความเห็นในประเด็นที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ในที่ประชุมยังไม่มีการเสนอลงลึกในรายละเอียดว่า ผบ.ตร.ควรเลือกหรือสรรหาโดยวิธีการใด แต่ก็ไม่มีใครเสนอว่าผบ.ตร.ควรมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนก็มองว่า ผบ.ตร.ไม่ควรมาจากการเลือกตั้งหรอก แต่ต้องไปคุยรายละเอียดการสรรหา ผบ.ตร. ว่าใครมีอำนาจเสนอ และผบ.ตร.ควรมาจากผู้มีคุณสมบัติอย่างไร อย่างไรก็ตาม ประเด็นของ ก.ต.ช. และ ก.ตร.จะเป็นคำถามแรกๆ ที่จะระดมความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ คู่ขนานไปกับการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านบริหารงานบุคคลที่มี พล.อ.บุญสร้าง เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจ ที่มีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร เป็นประธาน คาดว่าประเด็นนี้จะได้ข้อสรุปได้เดือนสิงหาคม นี้

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในส่วนของ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมการฯ ด้านรับฟังความคิดเห็น แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็น จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน จากบุคคล 5 กลุ่ม ประกอบ 1. ประชาชนทั่วไป 2. นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3. ข้าราชการตำรวจ 4. สื่อมวลชน และ 5. บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ผู้พิพากษา รับฟังอย่างรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยวางแนวทางรับความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ คือ เปิดเว็บไซต์โดยอิงกับเว็บไซต์ของตำรวจ ช่องทางโซเชียลมีเดีย จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็น อาจเชิญสื่อมวลชน ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมรับฟัง รวมทั้งเปิดตู้ ปณ.รับข้อมูลด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 60 เป็นช่วงรับฟัง เพื่อกำหนดแนวทางทั้งหลายให้อนุฯ และกรรมการไปคิด วางแนว ช่วงที่ 2 วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 60 เป็นช่วงที่อนุกรรมการฯ ต่างๆ มีความเห็นเบื้องต้นแล้ว และหาแนวทางการปรับปรุง และช่วงที่ 3 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2560 ช่วงนี้มีร่างกฎหมายออกมาแล้ว และจะรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับให้ลงตัว โดยคณะอนุฯทั้ง 5 ชุด จะเสนอประเด็นความคืบหน้าของแต่ละชุดอนุฯ ให้อนุฯ รับฟังความคิดเห็นนำไปตั้งคำถามเพื่อรับความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ต่อไป

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก โดยจะมีการตั้งประเด็นเรื่อง ก.ตร.-ก.ต.ช.และที่มาของ ผบ.ตร.กับภาคส่วนต่างๆ และมีการตั้งนายอมร วาณิชวิวัฒน์ เป็นโฆษกของคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจะประชุมอีกครั้งในเวลา 14.00 น.ของวันที่ 26 กรกฎาคม ที่อาคาร 3 รัฐสภา และจะประชุมต่อเนื่องทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ วันจันทร์ และวันพุธ

กำลังโหลดความคิดเห็น