xs
xsm
sm
md
lg

ความเสมอภาคของผู้พิการในการโดยสารรถไฟฟ้า : สิทธิที่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ !?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ผู้พิการ ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในสังคมที่ไม่ควรถูกละเลย ในทางตรงข้ามควรเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐเป็นพิเศษเพื่อให้มีโอกาสทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เพราะความเสมอภาคที่แท้จริง คือ “การที่รัฐหรือฝ่ายปกครองจะต้องปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันออกไป” ดังที่มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ 2550 บัญญัติว่า

“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม”

ฉะนั้น การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมจึงสามารถทำได้ และผู้พิการมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก บริการและความช่วยเหลือจากรัฐ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

ดังเช่นในคดีที่ตัวแทนผู้พิการได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครและบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (จำกัดมหาชน) ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้มีการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้พิการหรือผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้เสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

โดยการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า BTS นั้น ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ในลักษณะของสัญญาสัมปทาน ซึ่งในขณะนั้นมีพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแล้ว แต่กฎหมายดังกล่าวยังมิได้กำหนดรายละเอียดของอาคาร สถานที่และยานพาหนะที่จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ จึงยังมิได้มีการดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว

ต่อมาได้มีการออกออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 กำหนดลักษณะอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นที่ต้องมีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ทำให้มีความชัดเจนในรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว แต่ กทม.ก็ยังมิได้มีการดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนด

ตัวแทนผู้พิการในนามคณะกรรมการอิสระเพื่อความเสมอภาคได้เคยมีหนังสือเรียกร้องและมีการหารือกับ กทม. หลายครั้ง เพื่อให้มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นอารยประเทศ แต่ก็ยังไม่เป็นผล สุดท้ายจึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครอง

คดีนี้แม้จะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ที่จะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานหรือได้รับแต่เห็นว่าเป็นคำชี้แจงที่ไม่มีเหตุผล แต่เนื่องจากการพิจารณาคดีนี้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมคือคนพิการและผู้สูงอายุโดยทั่วไป ศาลปกครองจึงรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้จะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว (ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน)

ในส่วนเนื้อหาของคดีศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า โดยที่มาตรา 55 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กำหนดว่า “บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ” แม้ว่าการทำสัญญาก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ ที่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้พิการ

แต่เมื่อกฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าวได้ออกมามีผลใช้บังคับแล้ว จึงย่อมเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกอบกับ กทม.ไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งถึงข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถจัดให้มีลิฟต์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการได้ แต่ปรากฏตามคำชี้แจงของ กทม.ต่อศาลปกครองกลางว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ และเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่กฎกระทรวงและระเบียบดังกล่าวใช้บังคับจนถึงวันที่มีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นเวลากว่าหกปี การที่ กทม.ไม่ดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้าแก่ผู้พิการ คงมีเพียงการก่อสร้างลิฟต์ใน 5 สถานีหลักจาก 23 สถานีเท่านั้น จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

จึงพิพากษาให้ กทม.จัดทำลิฟต์พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ สำหรับผู้พิการตามที่กฎหมายกำหนด ทั้ง 23 สถานี ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความร่วมมือสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการจัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกดังกล่าว (อ.650/2557)

เป็นอันปิดคดี... การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้พิการในการใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่ควรต้องดำเนินการมาก่อนหน้านี้ คดีนี้จึงเป็นตัวอย่างการใช้สิทธิทางศาลในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์ ซึ่งก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กลุ่มผู้พิการได้รวมตัวกันและเปล่งเสียงอย่างพร้อมเพรียงว่า... “ศาลปกครองของประชาชน ต้องพึ่งได้” และสุดท้ายได้ออกมาจากห้องฟังผลการพิจารณาคดีด้วยสีหน้าที่ปีติและดีใจ ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็นทีเดียวครับ....



ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น