xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณของ “คนอยากเลือกตั้ง”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


การชุมนุมของ “ม็อบคนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหารของ คสช.จบลงเมื่อบ่ายคล้อย ด้วยการที่แกนนำทั้งหมดถูกจับตัวไปดำเนินคดี และถูกขังไว้ตามอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ

เป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ท่ามกลางการกำกับดูแลอย่างแน่นหนาของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับคำสั่งขึงขังควบคุมสื่อมวลชนที่จะไปทำข่าวให้อยู่ใน “คอก” ที่ตำรวจจัดไว้ให้

ใช้ตำรวจร่วม 20 กองร้อย เพื่อล้อมกรอบผู้ชุมนุมที่ทราบว่ามีจำนวนหลักร้อยต้นๆ เท่านั้น
ในที่สุด แกนนำคนอยากเลือกตั้งก็ถูกดำเนินคดีก็เพราะความพยายามในการพามวลชนเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ชุมนุมกันได้ตามกฎหมาย เพื่อที่จะไปอ่านแถลงการณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก็ออกไปได้ถึงแค่สะพานชมัยมรุเชฐ จากนั้นแกนนำก็ยอมเข้าสู่การดำเนินคดีทางกฎหมาย

ทางตำรวจตั้งข้อหาผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่างๆ นานา ศรีวราห์จัดให้ แบบเอาให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จนถึงขนาดตั้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งจริงๆมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้เสียหายยังไม่ได้ร้องทุกข์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งในขณะนี้ก็มีกระบวนการยื่นขอประกันตัวหรือคัดค้านการฝากขังต่อศาล ส่วนทางตำรวจนั้นเสียงแข็งว่าจะไม่ให้ประกัน และคัดค้านการประกันตัว

กะจะ “เก็บ” แกนนำผู้ชุมนุมให้ได้ทุกเม็ดทุกดอก

แกนนำของม็อบคนอยากเลือกตั้ง เป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลและ คสช.มาก่อนหน้านี้ เช่น นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ทนายอานนท์ นำภา นายเอกชัย หงส์กังวาน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ซึ่งผู้ติดตามข่าวการเมืองในช่วงระยะสองสามปีหลัง คงจะคุ้นชื่อกันอยู่

คนกลุ่มนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลมานาน เป็นเหมือน “พันธมิตร” คนเสื้อแดง แต่ก็ไม่ใช่คนเสื้อแดงเสียทีเดียว ความสัมพันธ์กับเครือข่ายของพรรคและท่อน้ำเลี้ยงจากแดนไกลจะมีหรือไม่นั้นยังไม่ปรากฏชัด

คนกลุ่มนี้เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งนั้นคือวิถีทางเดียว และเป็นคำตอบของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เราจะไม่พูดว่าคนกลุ่มนี้คิดถูกหรือคิดผิด หรือตรรกะนี้มีช่องว่างช่องโหว่ที่ไหน

แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับกัน ก็คือเสียงของพวกเขาและเธอนั้นดังขึ้นทุกที และสามารถเรียกแนวร่วมได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะออกหน้ามาหรือไม่ก็ตาม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกมาประกาศตัวชนกับตำรวจ โดยการเป็นตัวตั้งตัวตียื่นขอประกันตัวแกนนำคนอยากเลือกตั้งด้วยวงเงิน 1.5 ล้านบาท

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ แต่งบทกวี “ฉันนับถือหัวใจเธอ ลูกสาวประเทศ” อุทิศให้ “ครูโบว์” ณัฏฐา มหัทธนา

ปรากฏการณ์นี้ไม่ธรรมดานัก แม้ว่ากรณีของเสรีพิศุทธ์ อาจจะมองได้ว่าเป็นการออกแอ็กชั่น ในฐานะของผู้เตรียมลงชิงชัยในสนามการเมืองก็ตาม

แต่อาจจะต้องยอมรับว่า คนที่เป็นกลางๆ หรือแม้แต่ที่เอาใจช่วยการรัฐประหารและรัฐบาลนี้ในทีแรก ก็เริ่มมีท่าที “อยากเลือกตั้ง” กันบ้างแล้ว

นั่นเพราะว่า ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นใช้เวลาประเทศมาเป็นเวลา 4 ปี แล้ว

ผลการประเมินแบบไม่อวยกัน ที่ใครๆ ก็รู้สึกได้นั้น คือการสอบตกเกือบหมดทุกด่าน และที่ผ่านก็แค่คาบเส้น

ตั้งแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจในความเป็นจริงที่ทุกคนสัมผัสได้ ซึ่งสวนทางกับตัวเลขต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศออกมา ข้าวของ น้ำมัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าบริการต่างๆ ก็เตรียมพาเหรดกันขึ้นราคา โดยอ้างเรื่อง “กลไกตลาด” สวนทางกับรายได้ของผู้คนที่ลดลงหรือคงที่ ซึ่งก็เท่ากับลดลงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ

การปฏิรูปที่ยังไม่เห็นเนื้อเห็นหนัง นอกจากการสร้างประปาในชนบท หรือการแก้กฎหมายหยุมหยิมนี่นั่นที่ฝ่ายราชการเสนอมา แต่เรื่องใหญ่ๆ ยังไม่มีการแตะ

การแก้ปัญหาการทุจริตแบบลูบหน้าปะจมูก อย่างที่ทำให้คนหมดศรัทธากันไป

ยิ่งให้ “พี่ใหญ่” ออกมาบอกว่า ผลงาน คสช.หนาเป็นคืบเป็นศอก ก็ยิ่งน่าขำ เหมือนตลกร้ายให้คนยิ้มหัว
มุกเก่าๆ อย่างการโทษว่า “เป็นเรื่องของรัฐบาลที่แล้ว” นั้นก็อ้างแบบนี้กันมาสองสามปีแล้ว จนจะเป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ค่อยขึ้น

เชื่อว่าในใจของหลายคนหลายฝ่าย คงยอมรับได้และรู้สึกแล้วว่า รัฐบาลนี้และ คสช.ใช้เวลามาเปลืองเกินไปแล้ว ถ้าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทั้งที่มีอำนาจในมือเต็มที่ แต่ก็ใช้อำนาจนั้นไปในทางที่จำกัดศัตรูทางการเมืองบ้าง เล่นงานคนวิพากษ์วิจารณ์บ้าง หรือชิงเอาเปรียบล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งบ้าง ล้วนแต่ตัวเร่งเวลาให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนลดลงทุกที

แม้ว่าม็อบคนอยากเลือกตั้งอาจจะยังจุดไม่ติดในตอนนี้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอ ความเบื่อหน่ายของคนที่มีต่อรัฐบาล คสช.นั้น ยังไม่ถึงกับเดือดได้ที่

ส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่ทำให้ผู้คนไม่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งกันล้นหลาม เป็นเพราะยังมองไม่เห็นอนาคตหลังเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร

ในเมื่อ “พรรคใหญ่” ทั้งสองพรรคนั้นก็ยัง “มองไม่เห็นหัว” ว่าใครจะเข้ามาเป็นตัวท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเรื่องนี้มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้คนว่า ตัวเลือกในกรณีที่ “ไม่เอาลุงตู่” แล้วจะเอาใคร จะได้อะไรแบบไหน

อย่างมาเลเซียโมเดล ที่คนไม่พอใจนาจิบ ราซัค ก็มีตัวเลือกที่ชัดเจนคือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด และนายอันวาร์ อิบราฮิม ให้รู้กันชัดๆ ว่าหากสิ้นยุคนายนาจิบแล้ว การเมืองจะผันเปลี่ยนไปอย่างไรในทิศทางไหน

กับปัญหาสำคัญที่สุด เรื่องที่ยังติดค้างในใจคนส่วนใหญ่ว่า “ตระกูลชินวัตร” จะยังกลับมาหลอกหลอนคนไทยในรูปแบบใดหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีโอกาสเป็นเช่นนั้นสูง

ส่วนบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคตั้งใหม่ ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะสามารถเอาชนะในสนามเลือกตั้งจริง หรือจะมาขวาง “นายกฯ คนนอก” ได้อย่างไร

และแม้ขณะนี้จะมีการขยับโรดแมปออกไป แต่ก็เป็นผลมาจากกฎหมายลูกทั้งหลาย ซึ่งยังอยู่ในกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญที่ถือว่ากันไม่ได้ ยังเป็นเหตุผลที่ “พอฟังได้” อยู่

ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้มีอำนาจในขณะนี้จะ “เบี้ยว” การเลือกตั้ง

นั่นคือ ผู้คน ประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงรอคอยความชัดเจนอยู่ว่าผู้สมัครสองพรรคใหญ่จะเป็นใคร เพื่อจะได้คาดการณ์อนาคตของประเทศต่อไปได้ หากเลือกที่จะไม่ให้ “ลุงตู่” ไปต่อ

ผู้คนคงยังรอกันไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่อ้างว่าน่าจะมีการเลือกตั้งได้ตามโรดแมป ถ้าไม่มีปัจจัยเร่งอื่นๆ เข้ามาแทรก

ระหว่างนั้น ถ้าบังเกิดความชัดเจนปรากฏ สองพรรคใหญ่มีตัวเลือกที่ประชาชนพอรับได้ หรือมีแนวทางอย่างไรว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรหลังยุค คสช.

และหากในตอนนั้นฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ ทำท่าจะ “เบี้ยว” ประวิงเวลาการเลือกตั้งออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด

ม็อบ “คนอยากเลือกตั้ง” อาจจะกลับมาอีกครั้ง ทวีจำนวนขึ้นมหาศาลและเมื่อถึงเวลานั้นเข้าจริงๆ อาจจะเป็นอวสานทางการเมืองและอำนาจของใครหลายคน.


กำลังโหลดความคิดเห็น