xs
xsm
sm
md
lg

“อนาคต” ของ “อนาคตใหม่”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

<b>ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ</b>
เรียกเสียงฮือฮา และดอกไม้กับก้อนอิฐก้อนหินได้อย่างล้นหลามเกินคาด สำหรับพรรคการเมืองใหม่ของ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

แม้ว่าตามกฎหมายแล้ว พรรคการเมืองดังกล่าว และรวมถึงทุกพรรคการเมือง จะยังไม่สามารถประกาศหรือแถลงนโยบายใหม่อะไรได้เลย เนื่องจากติดล็อก หรือคำสั่งของ คสช.

แต่การให้สัมภาษณ์สื่อของนายธนาธร และเพื่อนพ้องน้องพี่คณะผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ทำให้เห็น “ทิศทาง” การดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้ ว่าน่าจะไปในแนวทางไหน

แน่นอนว่าจุดยืนสำคัญ คือไม่เอาด้วยกับ “นายกฯ คนนอก” ซึ่งถ้าจะเอาให้ชัดกว่านั้น คือการปฏิเสธการที่ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับมามานั่งเก้าอี้นายก ฯ หลังการเลือกตั้ง

หรือกล่าวกันหยาบๆ คือ พรรคนี้ไม่เอา “คสช.” ไม่เอา “ระบอบทหาร”

ส่วนแนวทางของพรรคส่วนใหญ่ ก็ออกไปในแนวทางแบบคนหัวก้าวหน้า เช่น นโยบายเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เจ้าตัวโชว์ความเป็น 4.0 ด้วยการไปดวลเกม ROV ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ยอดนิยมที่สุดของเด็กวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว กับทีม “บก.ลายจุด” (นายสมบัติ บุญงามอนงค์)

หรือจากผู้ที่เปิดตัวเข้ามาเป็นกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรค ก็ยิ่งเห็นทิศทางเข้าไปอีก เช่น มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแบบฟินแลนด์ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในช่วงหลังๆ ว่าเป็นการศึกษาแนวใหม่ที่ช่วยพัฒนาคน

มากกว่าการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นการท่องจำตามครูนักกิจกรรมผู้ศึกษาเรื่องของความหลากหลายทางเพศและเพศทางเลือก

ซึ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นประเด็นหรือนโยบายทางสังคมแบบ “คนรุ่นใหม่” ที่ค่อนข้างล้ำหน้า ประกอบกับคณะผู้ก่อตั้งนั้นส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ราวกับจะให้เป็นภาพเปรียบต่างกับ “คณะรัฐบาล” ปัจจุบัน และ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ที่เต็มไปด้วยคนรุ่นเก่าเหลาเหย่กับแนวคิดแบบอนุรักษนิยม

ความมาแรง และกระแสฮือฮา ทำให้เมื่อมีการสำรวจ “นิด้าโพล” รอบล่าสุด ว่าคนไทยอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น 3 อันดับแรกพอจะเดากันได้ ว่าคงจะเป็น “ลุงตู่” ส่วนสองอันดับต่อมา ก็คือ สองพรรคใหญ่สองขั้วสีในเกมอำนาจการเมืองไทยตลอดสองทศวรรษ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ที่เป็นเหมือนตัวแทนพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนนายธนาธรนั้น เข้ามาในอันดับที่ 4 เหนือกว่านายชวน หลีกภัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หรือกระทั่งเมื่อมองอันดับล่างๆ ลงมา ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เป็นเหมือนเบอร์สองของพรรค ก็ยังมีคะแนนนำ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสียด้วยซ้ำ!

จริงอยู่ว่า โพลก็เป็นแค่โพล ของจริงไปวัดกันที่การเลือกตั้ง แต่โพลนั้นก็สะท้อนมาจากเสียงส่วนหนึ่งของประชาชน และเป็นชนชั้นกลางในเมืองที่มีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่นิด้าโพลสำรวจ

นั่นก็แสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองตั้งใหม่ โดยคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย อย่างนายธนาธร และผองเพื่อนนั้น “มาแรง” สำหรับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา

ความ “แรง” ของพรรคอนาคตใหม่ นอกจากปฏิกิริยาทางบวกที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ปฏิกิริยาทางลบ ก็ยังสะท้อนกลับมาด้วยความรุนแรงที่ไม่แพ้กัน

ด้วย “อดีต” ของบรรดาผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งเคยแสดงท่าทีหรือให้ความเห็นในประเด็นล่อแหลมไว้ เช่น เรื่องที่นายธนาธรเคยให้สัมภาษณ์ไว้นานแล้ว ว่ารัฐไม่ควรให้การอุดหนุนศาสนา (ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด) เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ก็ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาเสียดแทงทิ่มตำ อย่างไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาติเท่าไรนัก จนมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าหรือจะเป็นการทำงานของหน่วยปฏิบัติการทางจิตวิทยา (IO) ของฝ่ายรัฐ

หรือแม้แต่ในหมู่คนเสื้อแดงเข้าเส้น ที่เทิดทูนบูชาระบอบทักษิณแบบไม่ลืมหูลืมตา ก็ออกมาโจมตีพรรคใหม่นี้เช่นกัน ถึงขนาด “หัวหอก” คนหนึ่งของพวกเสื้อแดงเข้าเส้น ถึงกับเอาเรื่องส่วนตัวของบรรดาผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมาโจมตีกัน

“พรรคอนาคตใหม่” ของ “ไพร่หมื่นล้าน” จึงเหมือนอยู่กลางสมรภูมิเขาควาย ที่ซ้ายก็ด่า ขวาก็ตีด้วยประการฉะนี้

เหตุที่การมาถึงของพรรคอนาคตใหม่นั้นได้รับการตอบรับเกินคาดทั้งในทางที่บวกหรือลบนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตภายใต้สภาพความขัดแย้งรุนแรงเกินทศวรรษนั้นเกิดอาการเบื่อหน่ายขั้วหรือกลุ่มการเมืองแบบเก่าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขั้วสีแดงหรือสีฟ้า

ส่วนทางฝั่ง “สีเขียว” เองก็อาจจะไม่ใช่คำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่การบริหารประเทศของรัฐบาลและ คสช.ออกลายมาให้ความเห็นว่า ไม่ได้แตกต่างอะไรกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเลย

คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์การเลือกตั้ง และเติบโตมากับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย แนวคิดต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอออกมานั้น จึงมีแนวคิด นโยบาย และกิจกรรมที่ทันสมัยจับใจคนกลุ่มนี้

หรือคนกลุ่มที่ปฏิเสธ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือการปกครองโดยรัฐบาลและ คสช. แต่ก็ทำใจยากที่จะเลือกฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นนักการเมืองที่ก็ไม่น่าไว้ใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

พรรคอนาคตใหม่ จึงอาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนทั้งสองกลุ่ม

แต่อย่างไรก็ตาม ในสนามการเมืองจริงนั้น มันต้องตัดสินกันด้วยการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ก็เหลือแต่การเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตเลือกตั้งเท่านั้น แม้จะมีปาร์ตี้ลิสต์อีก 150 ที่นั่ง แต่ปาร์ตี้ลิสต์ก็ขึ้นกับคะแนนที่แต่ละพรรคได้จากการคำนวณคะแนนที่มีคนลงคะแนนให้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาชดเชยให้

ดังนั้น หากพรรคอนาคตใหม่ต้องการมีที่นั่งในสภา ก็จำเป็นจะต้องส่งผู้สมัครลงแข่งขันในระบบแบ่งเขตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อชิงที่นั่งทั้งในระบบแบ่งเขต และเพื่อให้มีคะแนนมาคำนวณ ส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์แม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งในระบบเขตก็ตาม ซึ่งทางฝ่ายผู้ก่อตั้งพรรคได้แย้มออกมาแล้วว่าจะส่งผู้สมัครลงในระบบแบ่งเขต ครบทุก 350 เขตแน่นอน

เมื่อพิจารณาจาก “ต้นทุน” และ “กระสุน” ของผู้ก่อตั้งพรรคแล้ว เห็นว่าการส่งผู้สมัคร ส.ส.ให้ครบ 350 เขตเลือกตั้งนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร

หากปัญหาที่น่าคิด คือ พรรคการเมืองที่ก่อตั้งใหม่นี้ หากใช้แนวคิดแบบใหม่ถอดด้าม ใช้คนหน้าใหม่ ที่ส่วนหนึ่งมาจากสายสัมพันธ์ที่รู้จักกันผ่านเครือข่ายนักกิจกรรม นักวิชาการ และคนดังในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มาลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด โดยไม่ดูดหรือดึง ส.ส.เก่าที่มีฐานเสียงอยู่แล้วเข้ามาในพรรค

โมเดลนี้จะเวิร์กหรือไม่ และจะสามารถชิงคะแนนมาจากพรรคการเมืองผู้เล่นรายเก่าทั้งสองพรรค และพรรคการเมืองใหม่ที่ส่วนหนึ่งตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ซึ่งก็น่าจะมี “พลัง” และฐานเสียงจากความได้เปรียบหลายๆเรื่อง มากมายได้แค่ไหนเพียงไร

เพราะการเมืองในสนามจริงนั้นเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดรุนแรง ซึ่งมีอำนาจและผลประโยชน์มากมายเป็นปัจจัยตัวแปรไม่เหมือนยอดกดไลค์กดแชร์ในเน็ตเวิร์ก.


กำลังโหลดความคิดเห็น