xs
xsm
sm
md
lg

ปืนลั่นที่ทุ่งใหญ่ บทพิสูจน์พลัง “กระแสสังคม”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


การหาทางลงจาก “หลังเสือ” ในเรื่องนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “น้องรัก” นายกฯ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เหมือนเอาไงๆ ก็ไม่แล้วสักทีแต่อยู่ดีๆ ก็เกิดจะมี “ตัวช่วย” ขึ้นมา

ด้วยเสียงปืนและซากเสือดำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เสียงปืนดังกล่าว ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่อง “นาฬิกายืมเพื่อน” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “เงิน 300 ล้าน (ที่ก็) ยืมเพื่อนมา” ของอดีตบิ๊กตำรวจ ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลด้วยเช่นกัน

เหตุที่เสียงปืนมาดังกลบกระแสข่าวอื่นๆ ไปหมด เนื่องด้วยว่ามันเกี่ยวข้องกับ “อภิมหาเศรษฐี” ระดับ “ไทคูน” คนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย คือนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกจับได้กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมซากสัตว์ป่าชำแหละ และอาวุธอุปกรณ์ล่าสัตว์ เป็นหลักฐานมัดตัว แม้ว่าเจ้าตัวจะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพื่อรักษารูปคดีไว้ก็ตาม

แต่หลักฐานคาที่ขนาดนั้น อีกทั้งการไปตรวจค้นบ้านพัก ยังพบปืนประเภทที่เอาไว้ใช้ล่าสัตว์อีก 40 กระบอก กระสุนเป็นสองพันนัด บวกกับการออกมาเปิดเผยของ “คนในแวดวง” อย่างคุณอ๋อง ระดับ กาญจนะวณิชย์ ประกอบกับหลักฐานที่ชาวเน็ตไปไล่ล่าขุดค้นมาได้ ก็บ่งชี้ว่า พฤติกรรมเช่นนี้ของนายเปรมชัยนั้นเป็นเรื่องที่เคยทำมานานแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ถูกจับได้

การกระทำที่อุกอาจอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย แถมเป็นการกระทำต่อ “ทรัพยากรธรรมชาติ” คือสัตว์ป่าหายากอย่างเสือดำ ซึ่งถือเป็น “สมบัติโดยรวม” ของคนในประเทศ จึงไม่แปลกที่ทำไมกระแสของชาวโซเชียลจึงโหมกระหน่ำขนาดหนัก

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คนรวย” ระดับอภิมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆ ของประเทศ จะกระทำการละเมิดต่อกฎหมายแบบไม่ยำเกรง และจากบทเรียนที่มีมา เช่นกรณีของทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ที่รอดพ้นหนีเงื้อมมือกฎหมายบ้านเมืองไปได้อย่างลอยนวล ก็ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในกระบวนยุติธรรมตั้งแต่ปลายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญที่สุดของคดีนี้ คือเป็นการ “ก่อคดี” ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กเติบโตและตั้งตัวเป็นสถาบันทางสังคมสถาบันหนึ่ง ดังนั้นการจะ “เป่า” คดีให้เงียบไปง่ายๆ หรือกระบวนการดำเนินคดีแบบถ่วงเวลาเอ้อระเหยรอให้หมดอายุความไปเองนั้น น่าจะทำได้ยากขึ้น ตราบใดที่สังคมยังคงจับตาและให้ความสนใจอยู่

รวมถึงการที่จะไป “รังแก” ข้าราชการตัวเล็กๆ ที่กล้าหาญไม่หวั่นเกรงอิทธิพล ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เช่นอย่างท่านหัวหน้า วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ผู้ที่ไปจับกุมคณะล่าสัตว์ป่าของบิ๊กบริษัทก่อสร้างรายสำคัญของประเทศนั้น ก็ไม่น่าจะทำได้ง่ายๆ ด้วยว่า “ประชาสังคม” ได้เป็นเกราะและโล่ที่คอยปกป้อง “คนดี” ให้ปลอดภัย

เอาว่าแค่ “เอาตัวให้รอด” จากคดีความตามกฎหมายให้ได้ ก็บุญโขแล้ว อย่าได้ไปคิดเรื่อง “เอาคืน” หรือสั่งสอนอะไรกับใครเลย

เพราะแม้ว่าจะมีอิทธิพลมากเพียงไร ทั้งจากเส้นสายและอำนาจเงิน แต่รอบนี้เห็นจะเรียกใครมาช่วยได้ยากแล้ว เพราะคำตัดสินจากกระแสสังคม และการจับตามองผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นรุนแรงมาก

ก็ไม่ต้องอะไร ขนาด “บิ๊ก” ของรัฐบาลและผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จของประเทศ พอบทจะโดน “พลังทางสังคม” สั่งสอน ก็ยังเอาตัวเองไม่รอดเลย อย่างที่เราได้เห็นกันไปจากเรื่องนาฬิกาหรูแล้ว

จะว่าไป เพราะ “เทคโนโลยี” นี่แหละ ที่เชื่อมสังคมเข้าไปจนมีพลัง กระทั่งว่าคนที่เคยมีอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยรอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายและกระบวนยุติธรรมมาได้ตลอด ถูกลดทอนอำนาจแห่งอภิสิทธิ์ที่ว่านั้นไป

จริงอยู่ว่า สังคมไทยเราอาจจะ “ยอมรับได้” กับบรรดาอภิสิทธิ์ทั้งหลาย ของบรรดาคนรวยและมหาเศรษฐีว่า ไม่แปลกที่เขาจะ “มี” และ “ได้” อะไรมากกว่าชาวบ้านประชาชนทั่วไป นั่นอาจจะเพราะบุญเก่าที่ให้เขามาเกิดถูกท้องแม่ หรืออาจจะเพราะความสามารถของเขาก็ได้ อันนั้นเราไม่ว่ากัน

แต่เรื่องของการมี “อภิสิทธิ์” เหนือกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่ “ยอมไม่ได้” อย่างเด็ดขาด

เพราะการที่ผู้คนในสังคมยอมเคารพ และอยู่ภายใต้กฎหมายนั้น ก็เพราะว่ากฎหมายนั้น เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาชนที่ผูกรั้งประเทศชาติเอาไว้ ไม่ให้กลายเป็นอนารยะสังคมที่ปกครองกันแบบ “ใครใหญ่ ใครอยู่”

เราถือว่า คนรวย ก็รวยได้ แต่ก็ต้อง “ใหญ่” อยู่ในกรอบของกฎหมายเท่าเทียมกัน นี่คือกฎของโลกและรัฐสมัยใหม่

ดังนั้น หากใครที่คิดว่า ตัวเองมีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรืออำนาจรัฐที่ยิ่งใหญ่จนถึงขนาดจะ “แหก” กรอบของกฎหมาย หรืองดเว้นการบังคับใช้กฎหมายได้นั้น เท่ากับการละเมิดและทำลายข้อตกลงของสังคมตรงนี้ไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

แต่ก่อนนั้น สังคมไม่มีพลังเพียงพอที่จะต่อต้าน เพราะไม่มีพลังอะไรที่จะรวบรวม “เสียง” ของคนในสังคมไว้ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้คนในสังคมแม้จะเห็นตรงกัน แต่ก็ไม่สามารถที่จะ “ทำอะไรได้”

หากด้วยความสามารถของเทคโนโลยี ที่ก่อให้เกิดระบบ “เครือข่ายสังคม” หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้กระแสสังคมนั้นสามารถก่อตัวเป็นพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ จนแม้แต่ผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แทบจะเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ก็ยังไม่กล้าชนกับอำนาจของกระแสสังคมเลย

เรื่องคดีของนายเปรมชัยนี้ จึงจะเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจ เหนี่ยวรั้ง หรือแม้แต่ “ข่มขู่” ผู้มีอำนาจและอภิสิทธิชนทั้งหลายในประเทศนี้ว่า ความยิ่งใหญ่ อำนาจวาสนาใดๆ ที่ทำให้พวกท่านเคยอยู่เหนือกฎหมาย เหนือการตรวจสอบนั้น มันจะไม่เป็นอย่างนั้นได้อีกแล้ว ในยุคสมัยที่ “ประชาชน” เจ้าของประเทศที่แท้จริง สามารถรวมตัวกันจนมีพลังอำนาจขึ้นมาได้

และสุดท้าย อาจจะฟังออกเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติไปบ้าง แต่ผืนป่าแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร คงจะมีความศักดิ์สิทธิ์บางประการคุ้มครองอยู่ ที่หากใครไปละเมิด เมื่อถึงคราวที่เหมาะสม ก็จะต้องมีอันเป็นไป และอาจจะพาให้ “เครือข่าย” แห่งอำนาจของพรรคพวกตัวล่มสลายไปด้วย

อย่างเช่นบทเรียนเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องจุดชนวนประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516

เรื่องนี้นอกจาก “ประชาชน” จะมีจริงแล้ว “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ก็มีจริงครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น