xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ป.ป.ช.เป็น “รายต่อไป”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


คงไม่มีใครคาดคิดว่า เพียงการยกมือขึ้นป้องบังแสงแดดของท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อคราวถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี 4 ธันวาคมปีที่แล้ว (2560) นั้นจะกลายเป็นเหมือนโดมิโน ที่ส่งผลสะเทือนกันเป็นทอดๆ

และก็แทบไม่น่าเชื่อว่า กระแสสังคมในเรื่องนี้จะยังคงแรงไม่ตกข้ามเดือน ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ อย่างที่ใครๆ หรืออาจจะเป็นฝ่ายกลยุทธ์คาดการณ์ไว้ว่า ปล่อยให้วิจารณ์ไปอย่าไปโต้ตอบอะไรมาก เดี๋ยวกระแสก็ซาไปเอง

ทั้งๆ ที่ตามจริงแล้ว ประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ หรือกระแสสังคมในยุคโซเชียลมีเดียนี้ ไปเร็วมาเร็ว จะข่าวเด่นหรือประเด็นดังแค่ไหน ก็จะมีอายุสั้นเพียง 3 วัน 7 วัน คนก็จะลืมและลดความสนใจลง ไปตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆ แทน

ประเด็นทางการเมืองเรื่องนาฬิกาที่เป็นกระแสต่อเนื่องยาวนานถึงเดือนครึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา และเกินกว่าที่ใครๆ จะคาดหมาย

นักวิเคราะห์ หรือนักประวัติศาสตร์การเมืองบางคน อดมิได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเหตุการจุดชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในอดีต

แม้ว่าบริบททางการเมืองในปัจจุบัน การที่ประชาชนจะลุกฮือขึ้นมาเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นคงจะเป็นไปได้ยาก แต่เรื่องของ “แหวนแม่ – นาฬิกาเพื่อน” นี้ก็เป็นตัวจุดชนวนสำคัญ เหมือนกับการหยดหมึกสีดำลงไปในกระดาษซับสีขาว ซึ่งหมึกดำหยดเล็กๆ นั้นจะซึมแผ่ไปจนทำให้กระดาษนั้นด่างดำเป็นวงใหญ่กว้าง

ผ่านไปที่ไหน ก็เป็นมลทินไปที่นั่น เริ่มต้นที่เจ้าตัวผู้ถูกตั้งข้อสงสัย ลามไปยังตัวนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแสดงท่าทีปกป้องอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ถึงขนาดลงทุนออกมาขอให้สื่อและประชาชน “ลดราวาศอก” ให้ “พี่ใหญ่” ของท่านบ้าง แบบไม่สนใจน้ำจิตน้ำใจของ “กองเชียร์”ว่าจะรู้สึกอย่างไร

เรียกว่ายอมเปลืองตัวเสีย “กองหนุน” หรือ “ฐานเสียง” ในอนาคต เพื่อแบ่งบรรเทาการเป็นเป้าโจมตีแทนตัวเจ้าของเรื่อง

และขณะนี้ ความคลางแคลงใจของประชาชน ก็ยังลุกลามไปสู่องค์กรผู้มีอำนาจในการตรวจสอบความสุจริตโปร่งใสของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่าง ป.ป.ช. แล้ว

การออกมา “แถลงข่าว” ของทาง ป.ป.ช.เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องตลกร้าย ที่ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจให้แก่ประชาชนขึ้นไปอีก ด้วยการ “ชี้แจงแบบไม่มีคำตอบ” ไม่ให้รายละเอียดอะไรที่ทำให้สาธารณชนได้กระจ่างทราบอะไรเลย

รอยยิ้มแห้งๆ ของท่านเลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะที่ถูกนักข่าวและสื่อรุมซักประเด็นนี้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกกับประชาชนได้ว่า เรื่องนี้ใครๆ ก็คงทำได้เพียงแต่ยิ้มแห้งๆ หัวเราะหึๆ แล้วเดินจากไปเหมือนท่านนี่แหละ

และก็คงจะทำใจกันไปหมดแล้วว่า เรื่องนี้คงไม่สามารถตรวจสอบหรือเรียกร้องหาความโปร่งใสอะไรได้ ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้ทนโท่ว่า เรื่องนี้ต้องมีกลิ่นไม่ชอบมาพากลเพราะว่าอยู่ดีๆ คนที่มีรายได้ปีละเฉลี่ยแปดแสน หรืออย่างมากก็ล้านกว่าบาท แต่มีนาฬิกาหรูหรา เรือนถูกสุดๆ ก็ 4-5 แสนไปถึงล้านกว่าบาท แถมโผล่ออกเรื่อยๆ แทบจะรายวัน จนตอนนี้นับได้เกือบ 20 เรือนนั้นเป็นเรื่อง “ไม่ปกติ” และยิ่งประกอบกับคำชี้แจงว่าเพื่อนให้ยืมมา ใครที่ไม่ใช่เด็กอมมือไร้เดียงสา ก็คงจะตัดสินใจได้ว่ามันฟังขึ้นหรือไม่ขึ้นอย่างไร

พร้อมกับการแถลงเรื่องนาฬิกา ในวันเดียวกัน ป.ป.ช.ก็ออกมาแถลงข่าวว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบ “ทริปฮาวาย” ที่เคยเป็นประเด็นร้อนจนคนลืมไปแล้ว สรุปได้ว่า การใช้งบ 20 ล้านบาท เช่าเหมาลำเครื่องบินเดินทางไปกันแบบเฟิร์สคลาส เสิร์ฟคาเวียร์ และอาหารเครื่องดื่มแบบหรูหรานั้น เป็นเรื่องที่ “ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย” ของทางราชการ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้แจงมาแล้ว ทาง ป.ป.ช.จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้ไต่สวน

ในทางระเบียบ กฎหมาย ก็คงอธิบายได้อย่างนั้น เพียงแต่ประชาชนจะยอมรับฟังได้หรือไม่ก็เท่านั้นเอง

หรือจะย้อนไปก่อนเรื่องนี้ไม่นานนัก ที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยขอให้ตรวจสอบว่า การที่นายกฯ จะซื้อลูกสุนัขบางแก้ว และมอบให้เป็นของขวัญต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่าเป็นการขัดต่อประกาศและระเบียบว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทาง ป.ป.ช.กำหนดไว้เองว่า จะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาทหรือไม่

ทันทีทันใด ก็มีแนวคิดขึ้นว่าจะ “ขยาย” เพดานเรื่องของมูลค่าทรัพย์สินที่พึงรับได้ขึ้นไป แต่ก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม จนต้องถอยออกไป

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รู้สึกว่า ทำไมหน่วยงานที่ควรจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ถึงออกมา “รับลูก” แบบ “ใจดี” กับฝ่าย “ผู้ต้องถูกตรวจสอบ” เสียจริง

ด้วยเหตุซ้ำกรรมซ้อนหลายต่อหลายเรื่องดังที่กล่าวมานี้ ทำให้องค์กรที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นระบบ “แอนตี้ไวรัส” ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการชั้นสูง ทั้งแบบกันไว้ “ก่อน” และตรวจสอบเอาผิดหากมีการกระทำความผิดทุจริตประพฤติมิชอบไปแล้ว ถูกจับตาจากประชาชนอย่างช่วยไม่ได้

เพราะบทบาทหน้าที่สำคัญของ ป.ป.ช.ประการที่สำคัญ คือการตรวจสอบและเสนอให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็น “ศาลสูง” ที่มีผลงานในการลงโทษจำคุกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไม่เลือกหน้า เป็นที่ประจักษ์กันดีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มีนักการเมืองระดับบิ๊กเนมหลายคน ต้องเปลี่ยนชุดจากชุดสูทไปเป็นชุดนักโทษ ทันทีที่มีคำพิพากษาจากศาลนี้

แต่ “ศาล” นั้นอยู่ดีๆ จะไปทำงานไม่ได้ หากไม่มีใคร “ฟ้องคดี” หรือทำการตรวจสอบ ไต่สวน เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีขึ้นไป

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงเป็น “ต้นทาง” สำคัญที่สุด ในกระบวนการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เท่าที่ผ่านมานั้น ผลงานของ ป.ป.ช.เป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง ต่อกรณีของข้าราชการระดับสูง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบและส่งฟ้องศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วหลายต่อหลายคดี ทั้งคดีดังและไม่ดัง ทั้งคดีใหญ่และคดีเล็ก

แต่สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มา “ด้วยวิธีพิเศษ” เช่นนี้ ยังไม่ปรากฏผลงานของ ป.ป.ช.เท่าไรนัก

จึงไม่แปลกที่สาธารณชน จะจับตามองว่า องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบนี้ จะยัง “เก่ง” และ “เคร่งครัด” กับทุกฝ่าย เสมอหน้ากันหรือไม่.


กำลังโหลดความคิดเห็น