xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวอย่างไรให้ข้ามระบอบทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เล่นเอา “หัวร้อน” กันไปทีเดียว สำหรับการเผยแพร่ผลการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ในช่วงระยะเวลาของปี 2545-2560

ผลก็คือ ผู้ที่เข้าวิน ก็ได้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้หลบลี้หนีคดีไปเกือบสิบปี

ส่วนนายกฯ คนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ก็ตามมาด้วยคะแนนที่ไม่ห่างกันมากนัก

สำหรับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นตกอยู่ในกลุ่มกลางค่อนไปทางท้าย อาจจะเหนือกว่าสมัครและสมชาย แต่ก็ยังแพ้ยิ่งลักษณ์ แต่ที่ชวนให้เจ็บใจกว่านั้น คือ พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นสถาบันการเมืองที่คนไม่เชื่อถือมากที่สุดในระดับต้นๆ

ผลการสำรวจในครั้งนี้ พาให้ท่านผู้นำเกิดอาการฉุนเฉียวจน “หูดับ” ขึ้นมากะทันหันเมื่อนักข่าวถามในประเด็นนี้ และตอบอย่างมีอารมณ์ว่าตนนั้นก้าวข้ามนายทักษิณไปแล้ว พวกสื่อต่างหากที่ยังข้ามไม่พ้น

แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธหรือหลบเลี่ยงได้ คือ ไม่ใช่เพียงสื่อเท่านั้นหรอกที่ยังข้ามไม่พ้นทักษิณ แต่หมายถึงประชาชนส่วนหนึ่งอันมีจำนวนเป็นนัยสำคัญจาก ข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากผลการสำรวจจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับประเทศที่เชื่อถือได้

ดังนั้น มันก็น่าที่จะโมโหจนหูดับอยู่หรอก เพราะการเป็นนายกฯ ของท่านนั้นอยู่บน “แต้มต่อ” มากมาย มีทั้งอำนาจสนับสนุนจากกองทัพ ไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายนิติบัญญัติก็ “คนกันเอง” ที่ตั้งมากับมือ และหนำซ้ำยังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจเต็มที่ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยปราศจากความรับผิดใดๆ ด้วย

ด้วยแต้มต่อขนาดนั้นเมื่อวัดความเชื่อมั่นของประชาชน ก็กลับออกมายังแพ้นักโทษหนีคดี ที่ถูกถอดยศปลดเครื่องราชย์ กลายเป็นนายทักษิณเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินอยู่ คิดแล้วก็น่าเจ็บใจ น่าน้อยใจพอดูอยู่นั่นเอง

ปัญหาคือแม้จนป่านนี้แล้ว เหตุใดประชาชนจึงยังก้าวไม่พ้น หรือไม่อาจลืม “ทักษิณ” ไปได้ หรืออาจจะยังมีอาการโหยหาทักษิณกันอยู่ลึก ๆ

สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องยอมรับถ้าอยากมองให้เห็นปัญหา คือ ความนิยมของนายทักษิณนั้น ส่วนหนึ่งเป็น “ของจริง” ที่มาจากความนิยมศรัทธาของประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน

ด้วยนโยบายประชานิยมของระบอบทักษิณ (ซึ่งจะต้องพิจารณารวมหมดทั้งสมัยรัฐบาลสมัคร สมชาย และยิ่งลักษณ์) แม้ว่าจะเป็นนโยบายที่เป็นไปเพื่อการหาเสียง ปรนเปรอประชาชนด้วยผลประโยชน์จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ เช่น นโยบายจำนำข้าว รถยนต์คันแรก หรือกองทุนหมู่บ้าน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายประชานิยมของทักษิณนั้นก็ “ได้ใจ” คนยากคนจน ในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาส เช่น โอกาสในการเข้ารับบริการสาธารณสุขผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โอกาสในการศึกษาเช่นทุนการศึกษาหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน การริเริ่มวิสาหกิจชุมชนหรือ OTOP ซึ่งนโยบายเหล่านี้ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลไปกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครกล้ายุบเลิก อย่างโครงการอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคนี่ขึ้นหิ้งเป็นโครงการระดับ “แตะไม่ได้” ไปนานแล้ว

แม้ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามา และสานต่อนโยบายเหล่านี้ “ภาพจำ” ในความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับประโยชน์ คือมองว่าเป็น “มรดก” ที่ทักษิณทิ้งไว้ให้

ซึ่งต้องยอมรับว่า นอกจากรัฐทักษิณและพรรคพวกแล้ว ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่มีนโยบายที่ชัดและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้เห็นความแตกต่างสักเท่าไร ทำไปทำมาเหมือนกับทุกรัฐบาลวิ่งวนอยู่ใน “กรอบ” ของนโยบายและโครงการที่ระบอบทักษิณทิ้งไว้ให้ เพียงแต่มาปรับเปลี่ยนอย่างละนิดละหน่อยในรายละเอียด

นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศดีที่สุดช่วงหนึ่ง ธุรกิจใหม่ๆ ได้เกิดและเติบโต ชนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น สิ่งนี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นผลงานโดยตรงของรัฐบาลทักษิณ เพราะมันเกี่ยวข้องกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกและปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายด้วย แต่อย่างไรก็ดี หากวัดจากความรู้สึกของผู้คนแล้ว เขาก็ยังรู้สึกว่า ในยุคสมัยของทักษิณนั้น สามารถทำมาหากินได้สะดวก ธุรกิจเติบโต เงินทองสะพัดด้วยกำลังซื้อของผู้คน

ดังนั้น เมื่อมาเทียบกับในยุคปัจจุบัน ที่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าทำมาหากินฝืดเคือง พืชผลสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ กำลังซื้อโดยรวมของผู้คนลดลง กิจการต่างๆ เริ่มปิดตัวหรือต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งก็เหมือนกับว่าอันที่จริงมันก็ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลเสียทีเดียวนัก เพราะหลายอย่างนั้นเป็นไปเพราะเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นธุรกิจแบบใหม่กำลังมาแทนที่ธุรกิจแบบเก่า แต่กระนั้นในความรู้สึกของประชาชน ก็รู้สึกรวมๆ กันไปว่า ในสมัยนี้ “อยู่ยาก”

ความชั่วร้ายที่เป็นจุดตายของรัฐบาลในระบอบทักษิณซึ่งทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาขับไล่จนอยู่ไม่ได้ คือเรื่องของการทุจริตอย่างมโหฬาร ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายหรือกลไกของรัฐและองคาพยพหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง

แต่จุดอ่อนของระบอบทักษิณนั้น ก็ไม่ได้กลายเป็น “จุดแข็ง” ให้แก่รัฐบาลต่อๆ มามากเท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองคู่แข่ง ซึ่งไม่มีใครกล้าพูดยืนยันว่าซื่อสัตย์สุจริตได้เต็มที่เต็มปากนัก

หรือแม้แต่กับรัฐบาลปัจจุบันเอง ก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังคงกังขากับความไม่โปร่งใสอยู่หลายเรื่อง รวมถึงความรู้สึกไม่ไว้วางใจต่อตัวบุคคลบางคนในรัฐบาลทำให้พูดได้ยากว่า ยุคของนายทุน กับยุคของขุนศึก ใครจะ “มือสะอาด” กว่าใคร

เมื่อปัญหาก็แก้ไม่ได้ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็มีจุดที่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่เต็มร้อย ก็ไม่แปลกหรอกที่จะมีบางคนอาจจะคิดขึ้นมาแวบๆ ว่า “ใครๆ เข้ามาก็โกง งั้นขอคนโกงที่มีผลงาน คนโกงที่เข้ามาแล้วเศรษฐกิจดีก็แล้วกัน”

กลับไปสู่วงจรอุบาทว์ของการที่ต้องเลือกคนโกงแต่บริหารประเทศได้ดี กับคนที่ก็ไม่รู้ว่าโกงหรือเปล่า แต่ดันบริหารประเทศไม่ได้เรื่องไปเสียอย่างนั้น

และคนที่รู้สึกหรือตั้งคำถามแบบนี้ ก็คงมีมากพอที่ทำให้ผลการสำรวจส่งผลออกมาให้เราเห็นว่า ผู้คนส่วนหนึ่งนั้น ยังก้าวข้ามไม่พ้น “ทักษิณ” และชื่อนี้ก็จะยังคงเป็น “หนามตำใจ” สำหรับผู้ที่จะมากุมบังเหียนประเทศชาติเมืองนี้ได้เรื่อยๆ

ดังนั้น สำหรับใครที่อยากอยู่ต่ออยู่ยาว และอยากจะถอน “หนาม” ของระบอบทักษิณออกไป

สิ่งที่ต้องทำในระยะสั้น คือเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

รวมถึงต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ที่ไม่ใช่เฉพาะตัวผู้นำเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงคนรอบข้างด้วย ใครที่ประชาชนไม่ไว้ใจก็อย่าไปไว้หน้ากัน โครงการจัดซื้ออะไรที่ประชาชนไม่เห็นด้วย หรือมีข้อกังขาเรื่องความโปร่งใส ก็สมควรที่จะทบทวน

นี่คือการบรรเทาอาการ “โหยหาระบอบทักษิณ” ในระยะสั้น

ส่วนสิ่งที่ต้องทำให้ได้ในระยะยาว คือขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนและคนด้อยโอกาสให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การเป็น “คนจน” อีกชั้นในสังคมที่รอรับความสงเคราะห์ช่วยเหลือจากรัฐพอประทังชีวิต แต่ต้องทำให้เขายืนขึ้นได้ด้วยตัวเองโดยเสมอหน้ากัน ด้วยกลไกของรัฐและสังคมที่สร้างโอกาสในด้านต่างๆ ไว้รองรับ

เพราะเมื่อไรที่ประชาชนเขารู้สึกว่าตัวเองก็ยืนขึ้นได้อย่างมีศักดิ์ศรี สักวันเขาก็จะยกเท้าก้าวข้ามระบอบทักษิณไปได้ด้วยตัวเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น