xs
xsm
sm
md
lg

มิจฉาชีพยุค 4.0

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

คดี “ลอยแพ” ลูกทัวร์ร่วมสองพันคนที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อคืนวานนี้ (11 เม.ย. 60) อาจถือว่าเป็นคดีต้มตุ๋นฉ้อโกงประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดที่ต้องบันทึกไว้ครั้งหนึ่งในรอบปี

ผู้คนที่ตกค้างล้นหลามเต็มสนามบินตั้งแต่บ่ายจนถึงดึกดื่นนั้น เข้าใจว่าตัวได้ซื้อทัวร์ราคาถูกที่ขายหรือแนะนำต่อกันมาเป็นทอดๆ ในโซเชียล ทั้ง Line และ Facebook

ได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ชมดอกซากุระอย่างหรูหรา ในราคาหมื่นกว่าบาทนิดๆ ช่างล่อใจคนที่ขาดวิจารณญาณหรือไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ถ้วนถี่ หรือบางกรณีก็อาจจะรู้อยู่นั่นแหละว่าตามคำพรรณนาขนาดนั้น แต่ราคาค่าใช้จ่ายประมาณนี้ ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก็คงหวังว่ามันอาจจะมีช่องทางบางอย่างที่ให้ฟลุ๊กได้ไปจริง เข้าตำรา “รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง”

ในที่สุดก็ถูกลอยแพ แถมเป็นแพใหญ่ระดับเรือเฟอร์รี่กันไปตามๆ กัน ร้อนให้ทางฝ่ายบ้านเมืองต้องมาช่วยแก้ไขสถานการณ์กันอย่างกะทันหันกลางดึก

เมื่อติดตามสืบจากข่าวและข้อมูลที่มีผู้นำมาเปิดเผย ก็ค่อนข้างแน่ใจว่า งานนี้คงเป็นเรื่องย่ามใจจับเสือมือเปล่าของเด็กสาวทอมคนหนึ่งที่ใช้นามว่า “ซินแสโชกุน” และทีมงาน โดยวางกลซ้อนทางกฎหมายให้เหมือนจะเอาผิดได้ยาก

ด้วยว่าบริษัท เวลท์ เอเวอร์ จำกัด (WealthEver) ที่เป็นผู้จัดทัวร์นี้ แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นบริษัทนำเที่ยว แต่เป็นบริษัทขายตรงที่มีสินค้าเป็นเครื่องดื่มประเภทชากาแฟ

ผู้คนเป็นพันๆ เข้าใจว่าเป็นการ “ซื้อทัวร์” ที่แท้แล้ว เป็นการเข้าร่วมลงทุนขายตรงกับบริษัทดังกล่าว เงินที่จ่ายไปนั้น ไม่ใช่ค่าทัวร์ แต่เป็นเงินลงทุน หรือเงินสมัครสมาชิกขายตรงของบริษัท

การไปเที่ยวไปทัวร์อะไรที่เอามาล่อให้ผู้คนจัดกระเป๋าไปรอเก้อกันกลางสนามบินนั้น เขาอ้างว่า เป็นการจัดทริปเพื่อ “สมมนาคุณ” ผู้เข้าร่วมลงทุนกับทางบริษัท

ดังนั้น จะถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ่ายเงินซื้อทัวร์อะไรแบบนี้คงไม่ได้ เพราะสินค้าของบริษัทที่ว่านี่ไม่ใช่ทัวร์ อันนี้คือข้ออ้างเกมกลทางกฎหมายของบริษัทเจ้าปัญหานะครับ

แต่ในคดีอาญาเรื่องฉ้อโกงประชาชนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะรอดกันได้ง่ายๆ หรือไม่ เพราะในทางอาญา ศาลท่านถือว่า กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

การออกโฆษณาผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เน้นแต่เรื่องการไปเที่ยวญี่ปุ่น กี่วันกี่คืน พักโรงแรมอย่างหรู ระดมเงินก้อนจากผู้คนเป็นพันๆ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร สาระสำคัญมันก็คือการเอาเรื่องเที่ยวมาล่อเพื่อให้ได้เงินจากผู้อื่น และประกอบกับพฤติการณ์ว่าไม่ได้มีการจัดหาเครื่องบินหรือจองที่พักใดๆ ไว้ ก็เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงประชาชนนั่นเอง

ซึ่งจริงๆ การจัดไปเที่ยวให้คนถึงสองพันคนไปพร้อมๆ กัน มันเป็นเรื่องพ้นวิสัย เอาแค่เรื่องเครื่องบินก็เถอะ หากจะมีการเช่าเหมาลำกันจริง ก็ต้องใช้เครื่องบินจัมโบ้เจ็ต โบอิ้ง 747 ร่วม 4 ลำถึงจะบรรทุกคนไปได้หมด และเมื่อเดินทางไปแล้ว จะเดินทางกันอย่างไรต่อ ต้องใช้รถบัสกี่คัน จองโรงแรมไว้กี่แห่ง ฯลฯ ดูแล้วความเป็นไปได้นั้นต่ำเต็มทน

ความเป็นไปไม่ได้หรือพ้นวิสัยเหล่านี้ ล้วนชี้เจตนาว่าการระดมทุนโดยเอาทัวร์ญี่ปุ่นมาล่อครั้งนี้ เป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจากการ “ฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็คงจะต้องหาทางจับตัวซินแสโชกุน และผู้ร่วมขบวนการคนอื่นมารับโทษตามกฎหมายต่อไป

นี่เป็นอีกบทเรียนกรณีศึกษาของการใช้โลกโซเชียลที่เป็นเหมือนท้องทะเลซึ่งมีทรัพยากรหรือ “เหยื่อ” แบบไม่จำกัดของมิจฉาชีพยุคไซเบอร์

หรืออย่างที่เราเรียกระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตว่า “เวิลด์ไวด์เว็บ” (WWW) คำว่า “เว็บ” ในที่นี้ก็เป็นคำเดียวกับที่แปลว่า “ใยแมงมุม” นั่นเอง

พวกมิจฉาชีพแห่งโลกโซเชียลนี้ก็คงจะเป็นเหมือนแมงมุมที่ชักใยหากินอยู่ในโลกออนไลน์ที่กว้างขวาง เข้าถึงได้จากผู้คนจำนวนมากมายและหลากหลายในทุกวันนี้เอง

การต้มตุ๋นหลอกลวงประชาชนจำนวนมากด้วยการเอาเงิน ทรัพย์สิน หรือบริการมาล่อนี้ มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เอาที่ย้อนอดีตกันได้หน่อยก็แชร์แม่ชม้อยที่โด่งดังมากในยุค 2520 และก็สารพัดแชร์ แปลงรูปกลายพันธุ์มาเป็นธุรกิจหลากหลาย ในรูปแบบที่เอาการท่องเที่ยวพักผ่อนมาล่อนี้สมัยก่อนก็เคยมีแชร์บลิสเชอร์ โด่งดังอยู่ในยุค 2530 ที่ล่อให้คนสมัครเป็นสมาชิกเพื่อได้สิทธิเข้าพักโรงแรมหรูหรา และอ้างว่าจะจ่ายเงินปันผลให้เท่านั้นเท่านี้ สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดี ต่อสู้กันยาวนาน เพิ่งอ่านคำพิพากษากันไปปลายปี 2558 นี่เอง

พฤติกรรมของอาชญากรทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเลยในสาระสำคัญ แต่ว่าแตกต่างกันที่เทคโนโลยีที่ใช้ ทำให้ยุคสมัยแห่งไซเบอร์นี้การฉ้อฉลหลอกลวงทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เข้าถึงคนได้กว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่มีต้นทุนในการลวงล่อต่ำลง

อย่างถ้าเทียบกับแชร์บลิสเชอร์ที่มีลักษณะเดียวกันในสมัยก่อน ในตอนนั้นการเข้าไป “ขาย” ความหวังเป็นแบบเครือข่ายปากต่อปาก ทั้งผู้ประกอบการก็ต้องไปเช่าตึกทำเป็นอาคารสำนักงานใหญ่โตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

แต่ในสมัยนี้ อาศัยแค่หน้าทนใจถึงก็สร้างเครือข่ายธุรกิจหลอกลวงได้ ไม่ต้องมีสำนักงาน ไม่ต้องมีสินค้าจริงก็ได้ อาศัยกระจายโฆษณาไปในโลกโซเชียล ไม่นานก็จับเหยื่อได้เป็นพันๆ ไม่ต่างจากแมลงหวี่หรือแมลงเม่าที่มาติดใยแมงมุมขนาดยักษ์

เห็นกรณีต้มคนกลางสนามบินแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าแชร์แม่ชม้อยมาเกิดใหม่ในสมัยนี้ จะก่อความเสียหายและได้เหยื่อไปเท่าไร ความเสียหายจะสูงกว่าในยุค 40 ปีที่แล้วหรือเท่ากัน

ความสัมพันธ์โลกโซเชียลนั้น ไม่ต้องอาศัยพบเจอตัวกัน แต่แลกเปลี่ยน “ข้อมูล” ข่าวสารกันผ่านเครือข่าย ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้แม้แต่เงินหรือทรัพย์สินก็มีสภาพเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งที่ออนไลน์ส่งให้กันได้ไม่แตกต่างจากไฟล์ภาพหรือคลิปวิดีโอ เงินหมื่นเงินแสนโอนกันได้ผ่านปลายนิ้ว โอนไปได้ทั้งๆ ที่คนโอนให้ไม่ได้รู้จักหน้าค่าตาผู้รับเลยด้วยซ้ำ นอกจากเหมือนจะรู้จักจากข้อมูลที่เขาแชร์ส่งๆกันมา

ที่ว่าไปข้างต้นนี้คือการ “ฉ้อโกง” หรือหลอกลวงประชาชน แต่นอกจากแบบนี้แล้วการ “จับเหยื่อ” ด้วยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เป็นกรณีเล็กๆ ส่วนบุคคลก็ยังมีอีกมาก ที่เคยได้ยินก็คือการปลอมชื่อปลอม Facebook หรือ Line ไปหลอกขอยืมเงินบ้าง อ้างว่าไปตกระกำลำบากอยู่ต่างถิ่นต่างแดนบ้าง ให้เหยื่อที่รู้จักกับเจ้าของบัญชีโอนเงินโอนทองไปให้ ก็มีปรากฏกันบ่อยๆ

อาชญากรพวกนี้อาศัยแค่ความรู้ บวกกับจิตใจอันทุจริตไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ก็สามารถหากินได้เป็นแสนเป็นล้าน เพราะช่องทางแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้เอง

ความน่ากลัวของโลกโซเชียลและบรรดามิจฉาชีพที่เป็นเหมือนแมงมุมที่ชักใยดักจับผู้คนอยู่ในโลกเช่นนั้น อาจจะทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณอย่างสูงมาก ทุกครั้งที่เปิดโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ต้องระลึกไว้ว่าในมุมมืดของโลกไซเบอร์นั้น เราอาจจะตกเป็นเหยื่อได้เสมอ หากไม่มีภูมิคุ้มกันหรือความระมัดระวังที่เพียงพอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น