xs
xsm
sm
md
lg

อย่าลืม “มวลชน” ที่หนุนหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ยังสรุปไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้จะ “เอาถ่าน” หรือ “ไม่เอาถ่าน”

แต่ข้อสรุปสุดท้าย ว่าจะ “ล้างไพ่” หรือ Set Zero ตามที่ ครม.มีมติให้กลับไปศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และ EHIA กันใหม่ ก็ทำให้แกนนำและมวลชนต้านโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินกระบี่พอใจและกลับบ้านกันไปได้

ส่วนเหตุกระทบกระทั่ง หรือมีการรวบตัวแกนนำม็อบไป “ปรับความเข้าใจ” กันที่ มทบ. 11 นั้นก็พอเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลนี้ไม่ต้องการให้มีภาพของการชุมนุมทุกรูปแบบที่แสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลโดยตรง

และในทางการเมืองยังต้องสร้างภาพให้เห็นถึงความ “เสมอภาค” กันของการจัดการกับการชุมนุมที่มีนัยทางการเมืองไม่ว่าจะโดยฝ่ายไหนด้วย

เพราะถ้ายอมปล่อยให้การชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่หน้าทำเนียบฯ ดำเนินไปได้โดยยืดเยื้อไม่จัดการอะไร ก็รับรองว่าจะถูกบรรดาเครือข่าย “ไม่เอารัฐประหาร” และพวกต่อต้านรัฐบาลเดิมชี้หน้าเป็นแน่ ว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติกับม็อบสองฝ่ายแบบสองมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม การที่ม็อบยอมกลับบ้านก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการกลับถาวร แกนนำยังคงจับตาดูอยู่ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับนโยบายเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเป็นเหมือนเทคโนโลยีที่ตกยุคล้าสมัยไปหมดแล้วสำหรับโลกใบนี้

การที่มีมวลชนต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐบาลนั้นเป็นสัญญาณเตือนรอบแรก สำหรับรัฐบาลและ คสช.ว่า อย่าได้ลืม “มวลชน” ที่หนุนหลังตัวเองอยู่เป็นอันขาด

เพราะแม้ในทางข้อเท็จจริง คสช.และรัฐบาลนี้ จะมีที่มาโดยอำนาจพิเศษ จากการรัฐประหารด้วยกำลังทางทหาร หรือพูดง่ายๆ คือ มีความชอบธรรมทางอำนาจเพราะ “ปืน” ก็ตาม

แต่ลำพังเพียงอำนาจจาก “ปืน” ก็ไม่ใช่ความชอบธรรมเดียวที่ทำให้การรัฐประหารสำเร็จลง สามารถปกครองและบริหารประเทศไปได้อย่างปกติราบรื่น

เพราะความชอบธรรมของ คสช.และรัฐบาลนั้น มีที่มาส่วนหนึ่งจาก “ประชาชน” ที่ให้การสนับสนุนด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ฝ่าย คสช.เองก็รู้ดีอยู่แก่ใจอย่างที่พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เองก็เคยกล่าวไว้ว่า การปฏิวัติรัฐประหารจะไม่มีวันทำได้เลยถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย หากใครออกมาทำรัฐประหารโดยที่ประชาชนไม่ได้เห็นชอบด้วยก็จะถูกจับยิงเป้า

นั่นคือการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะในครั้งล่าสุดนี้ สามารถทำไปได้จนสำเร็จ มีอำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประเทศได้ ก็ด้วยมีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากจนเป็นนัยสำคัญ “เห็นชอบด้วย”

ไม่ว่าจะเห็นชอบด้วยการสนับสนุน หรือเห็นชอบด้วยโดยการไม่ออกมาต่อต้าน ก็อาจถือเป็นการให้ “สัตยาบัน” จากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ที่รับรองให้ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังอาวุธนั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นได้

“ประชาชน” ที่เชื่อมั่นว่า ฝ่ายทหารจะเข้ามาทำการปฏิรูปแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบ “ประชาธิปไตย” ก่อไว้

“ประชาชน” ที่ไม่รีบลุกขึ้นต่อต้าน แต่ยอมให้โอกาสคณะผู้ก่อการนั้นได้ลองบริหารประเทศไปพร้อมกับดำเนินการปฏิรูป ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามปกติในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกที่ควรในอนาคต

ประชาชนทั้งหลายเหล่านี้ คือ “มวลชน” ที่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ และเป็นความชอบธรรมอันสำคัญที่ค้ำยันอำนาจจาก “ปืน” ของฝ่ายรัฐบาลทหาร

แม้จะไม่ถูกต้องตาม “รูปแบบ” ของประชาธิปไตยที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ที่คณะ คสช.และรัฐบาลปกครองประเทศอยู่นี้เพราะใช้อำนาจเผด็จการโดยขัดขืนฝืนความยินยอมของประชาชน

สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีการสำรวจความนิยมของรัฐบาล ก็ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนหรือมีความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีอยู่มาก

หรือจากการที่มีความพยายามในการปลุกสร้างกระแสต่อต้านรัฐประหารจากกลุ่มอำนาจเก่าก็ดี หรือฝ่ายที่นิยม “ประชาธิปไตยที่ถือการเลือกตั้งเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง” ก็ไม่ปรากฏว่าการปลุกกระแสจะ “จุดติด” ขึ้นมาได้ เพราะคนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มีปัญหากับการรัฐประหารหรือคณะรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ฝ่าย คสช.และรัฐบาลจะต้องตระหนักไว้ให้ขึ้นใจ ว่าถึงแม้อำนาจตัวเองจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องหาเสียง ไม่มีฐานเสียง แต่ตัวเองก็มี “มวลชน” ที่พึงต้องรักษาอยู่

การดำเนินนโยบายหรือบริหารประเทศอะไร ต้อง “คำนึง” ถึงฐานมวลชนที่สนับสนุนนี้ด้วย

อันที่จริงความต้องการหรือความคาดหวังของมวลชนกลุ่มนี้น้อยเอามากๆ คือไม่ได้หวังเอาการบริหารประเทศที่ดีเลิศเลออะไรนักหรอก... เพราะอย่างที่เห็นว่าการทำงานของทีมเศรษฐกิจนั้นยังไม่ค่อยเข้าตาเท่าไร เพียงแต่ไม่มีเสียงบ่นออกมาดังๆ

เพราะประชาชนหวังเพียงว่า รัฐบาล คสช.จะไม่ทำอะไรที่มันซ้ำรอยเดิมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เคยเป็นปัญหาก็พอแล้ว

อะไรที่เป็นปัญหา ? ก็ได้แก่การใช้อำนาจโดยไม่สนใจประชาชนที่เขามองว่าเป็นเสียงข้างน้อย ไม่ใช่ 16 ล้านเสียงที่เลือกเขาเข้ามา กับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไม่เกรงใจใคร

ดังนั้น ถ้าเมื่อไรที่ “รัฐบาล” มาจากอำนาจพิเศษนี้ไปทำอะไรที่ซ้ำรอยเดิมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือใช้อำนาจแบบไม่สนใจประชาชนที่มาคัดค้านเมื่อไร หรือถูกจับได้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรงอื้อฉาวเกินรับได้

“มวลชน” ที่เป็นอีกเสาค้ำยันรัฐบาลคู่กับอีกฐานซึ่งเป็น “ปืน” นั้นก็อาจจะค่อยๆ ถอนตัว กระจาย หรือแยกย้ายกันออกไป

จนไม่เหลือฐานแห่ง “มวลชน” ที่จะมาค้ำยันความชอบธรรมให้รัฐบาลได้อีก ซึ่งเมื่อนั้น อย่าแน่ใจว่า ผู้คนจะกลัว “ปืน” เสมอไป

และอย่ามั่นใจว่า “ปืน” นั้นจะมีแต่ที่ฝ่ายตัวคนเดียว

เพราะถ้าหากรัฐบาลหรือ คสช.ทำอะไรที่ไม่สวย ไม่ดี ไม่งาม เสียจนประชาชนหมดความอดทน เบือนหน้าหนีกันหมดแล้ว ความเป็นไปได้ก็มีขึ้นสองทาง

นั่นคือ ประชาชนที่เคยให้การสนับสนุนหรือไม่เคยต่อต้านรัฐบาล ก็อาจจะเข้าร่วมกับฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร หรือฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลที่คอยต้อนรับอยู่ และในที่สุด ก็อาจจะมีการแสดงพลังในระดับ “มวลมหาประชาชน” เพื่อต่อต้านรัฐบาล คสช.หรือต่อต้านอำนาจจากการรัฐประหารด้วยจำนวนที่มีนัยสำคัญ

นัยสำคัญที่ต่อให้มี “ปืน” ก็ใช่จะเอามายิงออกไปได้ง่ายๆ และแม้จะยิงออกไปก็ใช่ว่าผู้คนที่อาจจะมีจำนวนมากจนเป็น “มหาชน” จะเกรงกลัวจนสยบยอม

ประวัติศาสตร์การเมืองทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา, 16 ตุลาหรือพฤษภา 35 นั้นคงเป็นบทเรียนได้ดีว่าลำพังแค่มีปืนในมือ ก็ใช่จะปกครองประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับได้

หรือในอีกทางหนึ่ง หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจกับผู้ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “ปฏิวัติซ้อน” ที่พอจะมีกลิ่นมีกระแสออกมาอยู่บ้างในหมู่ฝ่ายที่ไม่พอใจรัฐบาล รวมถึงจากการประเมินของสื่อนอก ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ส่วนใครจะสามารถทำได้ และทำได้หรือไม่เราก็ไม่รู้

ขอให้ย้อนกลับไปทบทวนคำพูดของบิ๊กป้อมอีกทีว่า การปฏิวัติรัฐประหารนั้นหากประชาชนไม่เอาด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จ ทำไปก็ถูกยิงเป้า

แต่ถ้าประชาชนเอาด้วย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เช่นนี้แล้ว การรักษามวลชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนให้ยังยินดีพอใจและให้โอกาส เป็นกำลังความชอบธรรมที่หนุนหลังอยู่ควบคู่กับอำนาจเบ็ดเสร็จจากกำลังทหารและอาวุธ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ศัตรูของพวกท่าน แต่อย่าประมาทหรือดึงดัน จนวันนั้นมาถึงก็แล้วกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น