xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 296 น้ำตาล-น้ำตา (“น้ำตาลของมึง น้ำตาของกู!”)

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว คุยกับรุ่นพี่ซึ่งเป็นคนเหนือแท้ๆ แต่ช่วงปลายของชีวิตราชการ ต้องโยกย้ายไปรับราชการภาคใต้เกือบสิบปี เราสองคนเคยขับรถไปเที่ยวกันในมาเลเซียหลายครั้ง คราวนี้ท่านชวนให้ไปเที่ยวด้วยกันอีก กลางเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะขับรถไปกันเองไม่ไหว โดยขับรถลุยภาคใต้ แวะค้างที่สุราษฎร์ หาดใหญ่ แล้วเดินทางเข้ามาเลย์ ไปยันเอาที่เมืองมะละกา ตกแหลมมาลายูโน่น

ได้แต่ตอบท่านไปว่า ต้องขอคิดดูก่อน เพราะไปแต่ละครั้งหากจะเที่ยวให้สนุก ต้องใช้เวลามาก อยากไปมาเลย์ เพราะยังมีเพื่อนฝูงที่สนิทสนมกันอยู่บ้าง แม้จะแกเฒ่ากันไปแล้วก็ตาม ตัวเองเคยเรียนหลักสูตรผู้บริหารชั้นสูง (Senior Command) ของ Maktab Police De Raja หรือ ‘วิทยาลัยตำรวจ แห่งพระราชาธิบดี’ ที่ประเทศนี้ และนายตำรวจรุ่นแรกของประเทศไทย ที่ได้มีโอกาสมาเรียนในหลักสูตร Junior Command ได้แก่ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธ์คงชื่น พล.ต.อ.จำรัส มังคลารัตน์ พล.ต.อ.ประเนตร ฤทธิ์ฤาชัย รวมทั้งพ่อของผมด้วย

วิทยาลัยแห่งนี้ ตั้งโดยผู้ปกครองชาวอังกฤษ ก่อนที่มาเลเซียได้รับเอกราช เป็นสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของมาเลเซีย เพราะข้าราชการมาเลย์ ที่ถืออาวุธได้ตามกฎหมาย เช่นศุลกากร ตรวจคนเข้าเมืองฯลฯ จะต้องเข้ารับการฝึกอบรม ก่อนเข้ารับราชการ ที่สถาบันแห่งนี้เหมือนกันหมด

บ้านเมืองเขามีสถานที่อบรมไม่มากนัก อย่างสถานศึกษาสำหรับนายทหารเหล่า
เสนาธิการ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือทั้งทหารบก เรือ อากาศ เรียนรวมกันทุกเหล่าทัพ

ตอนอายุประมาณ ๑๐ ขวบเห็นจะได้ ผมไปปักษ์ใต้กับพ่อแม่ ตอนนั้นเดินทางไปทางรถไฟไปพักที่ อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองชุมทางรถไฟที่มีอากาศดี และยังมีร้านชาหมูอร่อยมาก ที่นี่เองผมเห็นเขา ‘แห่หนัง’ กันคล้ายกับกรุงเทพ แต่มีสีสันมากกว่า
กอร์ดอน สก๊อตต์ สวมบททาร์ซาน เมื่อปี 1953
จำได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ทาร์ซานเจ้าป่า’ เขาเอาคนแต่งตัวเป็นทาร์ซาน แต่ไม่มีกล้ามให้เห็นเลย และมีเด็กๆอายุราวสักสิบขวบหลายคน แต่งเป็นคนป่าเอาถ่านทาเนื้อตัวจนดำปี๋ ขึ้นรถที่ประดับประดาด้วยต้นกล้วย ต้นไม้ต่างๆ ทำให้ดูคล้ายป่า

รถขับออกไปแล้ว คนบนรถรถตีกลองตะลุ่งตุ้งแข่ วิ่งแห่โฆษณาหนัง ไปตามถนนในเมือง เรียกรถประเภทนี้ว่า “รถแห่หนัง” แต่ปัจจุบันการแห่หนังไม่มีให้เห็นแล้ว ที่หลงเหลือก็เป็นรถโฆษณาธรรมดา เอาโปรแกรมติดข้างรถ ไม่มีสีสันเหมือนสมัยก่อน

ตกกลางคืนผมเดินผ่านไปหน้าโรงหนัง เห็นผู้ที่เพื่อนพ่อบอกว่าเป็นเจ้าของโรง ยืนจับโทรโข่ง ตะโกนโฆษณาหนังที่ฉายในวันนั้น ซึ่งเป็นภาพยนตร์สี ตอนนั้นเป็นช่วงปลายๆของยุคหนังขาวดำ และหนังสีอิสต์แมนเพิ่งเข้ามาในเมืองไทย เจ้าของโรงหนังที่เขาเรียกกันว่า “โก” จำไม่ได้ว่าชื่อโกอะไร แต่แกพูดโฆษณาเป็นภาษากรุงเทพ สำเนียงก็ออกทองแดง เหมือนคนทางภาคนั้นทั่วๆไป

โกเจ้าของโรง พูดอย่างที่ผมไม่ลืม ว่า

“วันนี้ หนังดี สีธรรมชาติ...สีแดงก็แดง สีเขียวก็เขียว..”

เออ...จริงของแกแฮะ สีแดงก็ต้องแดง สีเขียวก็ต้องเขียว แต่โกแกก็พูดแดงๆเขียวๆอย่างนี้ ไปได้สามสี่เที่ยวก็สะดุด คงเป็นเพราะไม่คุ้นกับการพูดภาษาบางกอก โกแกเลยตัดบทว่า

“เ ็ ดแหมง...แหลงบ้านเราดีกว๊า!”

(แปลว่า...พูดภาษาบ้านเรา ดีกว่า)

ทำไงได้ครับ คนมันไม่เคยนี่ พูดภาษาของตัวเองสะดวกกว่ากันเยอะเลย และการพูดถึงแม่ในทำนองสบถนั้น ทางใต้เขาไม่ได้ถือเป็นคำหยาบคาย เพราะเหมือนกับคำอุทานก่อนขึ้นประโยค คือต้องเอา “.เ ็ ดแม่” ขึ้นก่อน ท่านผู้อ่านที่เป็นคนกรุงเทพ เวลาลงไปปักษ์ใต้ ลองสังเกตดู จะทราบว่าจริงอย่างที่ผมบอก
ศาลาเฉลิมกรุง ยืนยงรูปในโฉมเดิมมากว่าค่อนศตวรรษ
อนเป็นเด็ก บ้านผมอยู่ใกล้เฉลิมกรุง ตัวเองวิ่งเล่นอยู่แถวนั้น และรับราชการครั้งแรกอยู่โรงพักพระราชวัง ซึ่งผมเกิดในโรงพักนี้ เพราะตอนเกิดพ่อเป็นรองสารวัตรโรงพักนี้ เฉลิมกรุงอยู่ในท้องที่รับผิดชอบ

จึงรู้จักและคุ้นเคยกับคนในวงการหนังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นดารา ตัวประกอบ ผู้สร้างรุ่น ‘เก๋า’ อย่างพิชัย น้อยรอดนั้น ผมเห็น ‘หลอ’ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กวิ่งแจกใบปลิวหนัง รวมทั้งรู้จักกับพวกนักพากย์ด้วย

หนังสมัยเก่าที่มาจากต่างประเทศ รวมทั้งภาพยนตร์ไทยเราในยุคหนัง ๑๖ มิลลิเมตรต้องใช้นักพากย์ เพราะยังไม่มีการพิมพ์เสียงทับลงในฟีล์ม

สำหรับคนพากย์หนังนั้น ที่สนิทกันก็มีหลายคน แต่ที่ชอบมากชื่อ ‘ลุงน้อย’ เจ้าของฉายา “เทพโยธิน” ดังมากแถบปักษ์ใต้ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตอนนี้ล่วงลับไปแล้ว

ลุงน้อยนี่แหละครับ ที่สอนเทคนิคการพากย์ให้ผมหลายอย่าง รวมทั้งถ่ายทอดเรื่องราวกับภาพยนตร์ และชีวิตของนักพากย์ให้กับผมด้วย ลุงน้อยเคยเล่าให้ผมฟังว่า

ยุคหลังสงครามจบใหม่ๆ ภาพยนตร์ขาดแคลนมาก ที่ฉายส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังจีน โดยนักพากย์จะต้องขึ้นมารับหนัง ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบ แล้วเอาหนังเข้าโรงภาพยนตร์ต่างไปตามเส้นทางรถไฟ ตั้งแต่ชุมพร สุราษฎร์ นครฯ เรื่อยไปจนถึงโกลกโน่น แล้วย้อนมารับหนังใหม่ที่บางสะพาน เป็นอย่างนี้มาโดยตลอด

ถ้ามีหนังให้รับมาพากย์ ตอนย้อนกลับไปที่บางสะพาน ก็คงไม่เป็นอะไร ชีวิตก็ยังคงดำเนินไปได้เรื่อยๆ นักพากย์ก็มีรายได้ตามปกติ แต่ก็กลายเป็นปัญหาไปจนได้ เพราะหลังสงครามนั้น หนังใหม่จากต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังจีน เกิดขาดช่วง คนที่หากินกับการพากย์หนังแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่มีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอย เพราะสมัยนั้นนักพากย์หาวัน กินวัน ก็พอได้ เหลือเก็บไว้เป็นเงินฉุกเฉิน เล็กๆน้อยๆเท่านั้น

หนังมาขาดช่วง ทำอย่างไรดีล่ะ ท้องมันก็หิวนี่นา?

นี่แหละครับ ที่เป็นต้นเหตุและที่มาของการ ‘ปลอมหนัง’คือการนำหนังย้อนไปฉายโรงเดิม แต่มาในชื่อใหม่ เป็นกรรมวิธีการปลอมที่แสนง่าย ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แต่เป็นการทำให้หนังนั้น สามารถฉายในโรงเก่า ยังเก็บเงินส่งให้เจ้าของหนัง และเลี้ยงดูนักพากย์ได้

อย่างที่ผมบอกให้ท่านทราบว่า หลังสงครามโลก หนังฝรั่งยังเข้ามาน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนังจีนจากฮ่องกง สมมติว่ามีหนังมาเรื่องหนึ่ง เวลานักพากย์ไปรับหนังมา ก็จะมีบทพากย์มาด้วย รวมทั้งเรื่องย่อที่ติดบนฝากล่องหนัง ซึ่งคล้ายๆกับ synopses ที่ติดหน้าโรงภาพยนตร์ปัจจุบัน
ใบปิดโฆษณา ยุคหนัง ๑๖ มม.
นอกจากนั้น เขาก็จะมีชุดใบปิดโฆษณา เหมือนอย่างที่เราเห็นในหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ซึ่งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทางต่างประเทศ เขาจะส่งมาพร้อมกับหนัง โดยพิมพ์มามีสีสันสวยงาม ตอนนั้นการพิมพ์ของเรา ยังไม่ดีเทียบเขา เหมือนอย่างปัจจุบันนี้

ใบปิดนั้น หากเป็นหนังจีนก็จะมีรูปพระเอกนางเอก เหมือนใบปิดทั่วไป ตัวอักษรที่บอกชื่อเรื่อง ผู้แสดง พระเอกนางเอก ก็จะใช้เป็นภาษาจีนตามเดิม ซึ่งนักพากย์ก็จะต้องเอาแผ่นกระดาษ ที่เขียนชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย อาจมีชื่อพระเอก นางเอก ซึ่งเป็นภาษาจีนเช่น

พระเอกชื่อ “แต้ จูเล้ง” ส่วนนางเอกอาจเป็น “โอลี่ จู” ซึ่งเป็นคู่พระคู่นางที่ดังมากในสมัยนั้น ตอนผมเป็นเด็กๆ ผมและเพื่อนๆชอบร้องว่า “ผู้ร้ายมาเป็นหมู่ โอลี่จูก็ม่องเท่ง” เพราะคู่พระคู่นางนี้ เด็กๆชอบมาก

เมื่อเอากระดาษที่เขียนชื่อเรื่อง คาดทับลงไปบนใบปิด และบอกชื่อหนังเป็นภาษาบ้านเราด้วย เพราะหากบอกชื่อจีนคนไม่รู้ ต้องบอกชื่อไทย เช่นเรื่อง “สุดทางรัก” เป็นต้น

นักพากย์นั่งคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรดีจึงจะหาเงินจากหนังเก่าได้ แต่แล้วความคิดก็ผุดขึ้นมาว่า ลองเปลี่ยนชื่อหนังดู เผื่อจะมีคนไม่รู้หรือจำไม่ได้ ก็จะซื้อตั๋วเข้ามาดู

อย่ากระนั้นเลย...ไม่ลองไม่รู้

จากบางสะพานนั้น คนพากย์หิ้วกล่องบรรจุฟีล์มหนังเรื่องเก่า คือ ‘สุดทางรัก’ ไปลงชุมพรเอาหนังเข้าโรง จัดแจงเขียนป้ายชื่อใหม่ ทับใบปิดลงไปว่าหนังที่จะฉายคืนนี้ ชื่อเรื่อง ‘ทางทรมาน’ ตกค่ำยืนดูผลลัพธ์

ต่อไปนี้เป็นฉากที่เกิดขึ้น หน้าโรงภาพยนตร์ที่หลังสวน ชุมพร

วัยรุ่น ๔-๕ คน เดินมาดูใบปิดหน้าโรง ทั้งหมดยืนจ้องดูใบปิด ท่าทางดูงงๆด้วยกันหมดทุกคน แล้วหนึ่งในนั้นก็พูดขึ้นเป็นภาษาถิ่น ว่า

“ทางถ่อระมาน หนั่งเก๊า...แลแล้ว”
(แปลว่า “ทางทรมาน” เป็นหนังเก่า เคยดูมาแล้ว)
มีเสียงอือๆออๆว่า “หนั่งเก๊า...แลแล้ว” “...หนั่งเก๊า...แลแล้ว” สอดขึ้นมาคล้ายกับสนับสนุนผู้พูดคนแรก
คนหนึ่งในกลุ่มที่แต่งตัว และท่าทางดูเด่นกว่าคนอื่น บอกชัดว่าคงจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม ยืนเอียงคอทำท่าครุ่นคิด เอียงคอซ้ายที ขวาที แล้วพูดออกมาดังๆ ว่า


“ทางถ่อระมาน หนั่งไม๊...ยังไม่ได้แล”

แปลว่า ‘ทางทรมาน’ เป็นหนังใหม่ยังไม่ได้ดูเลย ซึ่งก็เหมือนกับคำตัดสินใจแทนกลุ่ม สิ้นคำของหัวโจก ทั้งหมดก็ตีตั๋ว เดินเข้าเข้าไปดูหนังเรื่องเดิมคือ ‘สุดทางรัก’ มาในชื่อใหม่ว่า ‘ทางทรมาน’

พอหนังเปิดฉาก...แอ่นแอ๊นขึ้นมา ทั้งหมดเหมือนจะรู้ได้ทันทีว่าเป็น “หนั่งเก๊า” ที่พวกตัวได้ “แลแล้ว” นั่นเอง

...ภาพในในโรงหนังที่เกิดขึ้น และคนในกลุ่มได้เห็น คือผู้ที่เป็นหัวหน้าจ้องมองจออย่างไม่กระพริบ ส่วนลูกน้องนั้นแม้มีอาการขัดเคือง แต่ก็กลัวลูกพี่ ไม่กล้าแสดงออกชัดเจนแต่อย่างใด ได้แต่ตบยุงในโรงหนังซึ่งชุกชุมเปาะๆ แปะๆ ไปเรื่อย

นั่นไม่ได้หมายความว่า เป็นการยอมจำนนของผู้อยู่ในฐานะลูกน้อง เพราะปากของเขาก็ยังเป็นอิสระ แล้วมีคนพูดขึ้นว่า


“ทางถ่อระมาน เ ็ ดแหมง... ถ่อระมานกูจังเล๊ย!”

พูดไปก็ตบยุงไป อันเป็นการแสดงออกชัดเจนว่า...มันทรมานจริงๆ!!

ที่ผมเล่ามานั้น เพราะลุงน้อยผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ตัวคนเล่าได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เป็นหัวหน้า หรือ หัวโจก มักจะตัดสินใจ ‘ผิด’ เสมอ นักพากย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ยังบอกต่ออีกว่า

ในสมัยนั้น รถไฟเป็นเส้นทางคมนานคมที่สำคัญของผู้คนทางภาคใต้ และข่าวสารของอำเภอหนึ่ง ไปสู่อีกอำเภออย่างรวดเร็วโดยทางรถไฟ หนังเรื่อง “ทางทรมาน” ที่เพิ่งฉายที่หลังสวนหยกๆคืนวาน ถึงค่ำวันรุ่งขึ้นผู้คนที่บ้านดอน สุราษฎร์ธานี รู้หมดแล้ว ว่าเป็น “หนั่งเก๊า” นักพากย์จะนำไปฉายอีก คงไม่มีคนเข้าดู เก็บเงินไม่ได้แน่

จำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องจาก ‘สุดทางรัก’ กลายเป็นเรื่อง
‘น้ำตาล-น้ำตา’

พอตกค่ำหน้าโรงหนังบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ฯ ซีนารีโอเดียวกันก็เกิดขึ้นที่นั่น
ใบปิดโฆษณาภาพยนตร์ ยุคปัจจุบัน
วัยรุ่น ๔-๕ คน เดินมาดูใบปิดหน้าโรง ทั้งหมดยืนจ้องดูใบปิด ท่าทางดูงงๆด้วยกันหมดทุกคน แล้วหนึ่งในนั้นก็พูดขึ้นเป็นภาษถิ่น ว่า

“หน่ำตาล-หน่ำตา หนั่งเก๊า...แลแล้ว”

(แปลว่า ‘น้ำตาล-น้ำตา’ เป็นหนังเก่า เคยดูแล้ว)

มีเสียงอือๆออๆว่า “หนั่งเก๊า...แลแล้ว” “...หนั่งเก๊า...แลแล้ว” สอดขึ้นมาคล้ายกับสนับสนุนผู้พูดคนแรก

คนหนึ่งในกลุ่มที่แต่งตัว และท่าทางดูเด่นกว่าคนอื่น บอกชัดว่าคงจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม ยืนเอียงคอทำท่าครุ่นคิด เอียงคอซ้ายที ขวาที แล้วพูดออกมาดังๆ ว่า


“ เฮ้ย ‘หน่ำตาล-หน่ำตา’ หนั่งไม๊...ยังไม่ได้แล”

แปลว่า ‘น้ำตาล-น้ำตา’เป็นหนังใหม่ยังไม่ได้ดู ซึ่งก็เหมือนกับคำตัดสินใจแทนกลุ่ม สิ้นคำของหัวโจก ทั้งหมดตีตั๋ว เดินเข้าเข้าไปดูหนังเรื่องเดิมคือ “สุดทางรัก” มาในช่อใหม่ว่า ‘น้ำตาล-น้ำตา’

พอหนังเปิดฉากแอ่นแอ๊นขึ้นมา ทั้งหมดเหมือนจะรู้ได้ทันทีว่าเป็น “หนั่งเก๊า” ที่พวกตัวได้ “แลแล้ว” นั่นเอง

...ภาพในในโรงหนังที่เกิดขึ้น และคนในกลุ่มได้เห็น คือคนที่เป็นหัวหน้าจ้องมองจออย่างไม่กระพริบ ส่วนลูกน้องนั้นแม้มีอาการขัดเคือง แต่ก็กลัวลูกพี่ ไม่กล้าแสดงออกชัดเจนแต่อย่างใด ได้แต่ตบยุงในโรงหนังซึ่งชุกชุมเปาะๆแปะๆไปเรื่อย

นั่นไม่ได้หมายความว่า เป็นการยอมจำนนของผู้อยู่ในฐานะลูกน้อง เพราะปากของเขาก็ยังเป็นอิสระ แล้วมีคนพูดขึ้นว่า


“หน่ำตาล-หน่ำตา เ ็ ดแหมง...หน่ำตาลข่องมึ้ง หน่ำตาข่องกู๊!”

แปลว่า “น้ำตาลของมึง...น้ำตาของกู” ปากพูดไป มือก็ตบยุงไป อันเป็นการแสดงออกชัดเจนว่า น้ำตาของกู จริงๆ!!

ความจริงแล้ว เรื่องเล่าของลุงน้อยนี่สอนใจผมหลายอย่าง เพราะดูหนังก็เหมือนดูคน อย่างเช็คสเปียร์ว่าเอาไว้ ซึ่ง ร.๖ ท่านทรงแปลตามว่า “โลกเปรียบเหมือนละครโรงใหญ่ หญิงชายไซร้เปรียบตัวละครนั่น”

ใช่ครับดูหนังดูละครแล้ว เราต้องย้อนดูตัว แต่นี่ยังไม่ถึงขั้นเข้าดูละครหรือหนัง เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ ของคนก่อนจะเข้าดูหนัง ซึ่งต้องพลัดเข้าไปดูซ้ำ เพราะ

๑.เชื่อคำโฆษณา ‘ลวง’ ของนักพากย์ เป็นประการแรก และ
๒.เชื่อถ้อยคำของหัวโจก เป็นประการต่อมา


ท่านผู้อ่าน ที่เคารพครับ

อีกไม่นาน ก็คงมีการเลือกตั้ง คมช.ไม่กล้าเบี้ยวอย่างเด็ดขาด เพราะคณะผู้ยึดอำนาจ แหยงต่อการสืบทอดอำนาจ ที่พวกตัวยึดจากประชาชนโดยมิชอบ หากขืนดื้อรั้นอยู่ นอกจาก คมช.จะฉิบหายแล้ว สถาบันทหารเองนั่นแหละ จะป่นปี้จนยากที่จะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้

คราวนี้จะยิ่งกว่าหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ด้วยซ้ำไป!

ดังนั้น เราอาจลองใช้ข้อสังเกต จากประสบการณ์ของนักพากย์อย่างลุงน้อย มาเป็นเครื่องพิจารณาในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร คือ

เราต้องไม่เชื่อคำโฆษณาทั้ง คมช. และพรรคประเภทแมลงสาบ ที่พยายาม ‘ตีซี้’ กับแก๊งยึดอำนาจ บางคนปากจัดก็บอกว่า ไอ้พวกนี้ลงทุนหนักถึงขั้นก้มลง “เลียตูด” พวกแก๊งยึดอำนาจเพียงแค่หวังพึ่งใบบุญ เพื่อก้าวขึ้นไปเป็นรัฐบาล อย่างที่พวกตนตั้งใจเอาไว้ อีกทั้งเราต้องไม่เชื่อถ้อยคำ ของพวกหัวโจกการเมือง ที่พยายามปั่นราคา ชูความซื่อสัตย์ในทางการเมืองของตนว่า

ไม่ยอมจ่ายเงินซื้อเสียง

เพียงเพื่อถ่ายทอดภาพลักษณ์ด้านดีของตัวเอง ออกสู่ชาวบ้าน แต่หากมองไปเบื้องลึกนั้น ตัวเขาเองทำเป็นมองข้ามที่ลูกพรรคของตนนั้น ซื้อเสียงสะบัดช่อกันทั้งนั้น อีกทั้งเมื่อพรรคตนเสวยอำนาจแล้ว ยังคดโกงได้ แม้แต่คนบ้านเดียวกัน จนผลผลิตของถิ่นที่อยู่ของตนแท้ๆ ต้องจมปลักในอ่างราคาที่แสนต่ำ นานนับทศวรรษ จนชาวบ้านโงหัวไม่ขึ้น

ร้ายเข้าไปอีก คือการนำเอาแผ่นดินของส่วนรวม ไปไล่แจกให้มหาเศรษฐีพรรคพวกตน ซึ่งใครก็รู้ว่า ทำกันได้อย่างไร ไม่เกรงใจชาวบ้านตาดำๆ บ้างเลย

ยิ่งกว่านั้น ยังด้านหน้าออกมาพูดแก้เกี้ยวแทนลิ่วล้อว่า บรรดาเหล่ามหาเศรษฐีที่พรรคมกซกของตน แจกที่ดินให้ นั้น...

“เหมือนลูกคนรวย...ได้ทุนรัฐบาล”

ชาวบ้านเขาเล่าให้ฟังว่า ญาติพีน้องเขาฟังแล้วร้องออกมาดังๆ...

...“เ ็ ดแหมง... ได้ยินแล้ว กูจะบ้าตาย!”
..ขนาดนั้นเลยทีเดียว!!

อยากให้ท่านผู้อ่านที่เคารพรักของผม กรุณาระลึกเอาไว้ ว่า

หากท่านมีลูกต้องสอนลูก มีหลานต้องสอนหลาน ถึงเล่ห์เหลี่ยมร้อยสีพันอย่างของคนพวกนี้ให้ดี เพราะมิฉะนั้นแล้ว เหมือนกับเอาหนังเรื่อง ‘ทางทรมาน’ แต่ดั้งเดิม ซึ่งลุงน้อยนักพากย์ ได้เปลี่ยนชื่อมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

ดังนั้น การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งใหม่นี้ ผมเกรงว่าพวกนักการเมืองที่ฉ้อฉลประเภทพรรคแมลงสาบ อาจเปลี่ยนชื่อหรือใบปิดใหม่ อีกครั้งแล้วฉายให้ท่านชม เป็นภาพยนตร์เรื่อง

‘เตยใต้ร่ม’

ทำไมต้องเป็น ‘เตยใต้ร่ม’ ด้วยล่ะ? มีเหตุผล ดังนี้ครับ...

ขอให้ท่านที่เคารพ ลองย้อนไปกำหนดซีนาริโอ หน้าโรงหนังทั้งชุมพรและจังหวัด
สุราษฎร์ธานี ตามที่ผมเล่าให้ฟัง แล้วนำเอาชื่อ “เตยใต้ร่ม” ไปใส่แทน “ทางทรมาน” หรือ “น้ำตาล-น้ำตา” ก็ได้

สุดท้ายแล้ว ท่านอาจต้องร้องออกมา เหมือนกับลูกจ๊อกในกลุ่มวัยรุ่น ที่ตัวหัวโจกตัดสินใจผิดเสมอ ด้วยประโยคที่ว่า


“เตยใต้ร่ม...เ ็ ดแหมง...เตยใต้ร่ม...ต้มกู..ตายเร้ย !” ...๕๕๕...

ท่านต้องระวัง ไอ้พวกนักกินเมืองพันธ์ศีรษะเหมือนตะเกียงพวกนี้ ให้ดีนะ...ขอรับ

เผลอเมื่อไหร่พวกมัน ‘ต้ม’ ชาวบ้าน อย่างเราๆท่านๆ ถึงตายเลยจริงๆ!!
...๕๕๕...

........................
กำลังโหลดความคิดเห็น