xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 267 “ปีใหม่ เริ่มชีวิตใหม่...ขอเป็นแก่มะพร้าว ไม่เป็นเฒ่ามะละกอ!”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้ ...ก่อนจิบกาแฟขมถ้วยแรก ต้องขอกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่ครับ” กับบรรดาท่านผู้อ่านที่เคารพของผมเสียก่อน แม้กาแฟขม...ขนมหวานฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่ วางแผงออนไลน์ในวันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๐ แต่ยังเป็นวันหยุด และกลิ่นอายบรรยากาศปีใหม่ยังไม่ได้จางคลายหายไป คงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อคืนวานนี้ ก่อนการเปลี่ยนศักราช ท่านผู้อ่านที่เคารพของผม คงได้ฟังพระราชดำรัสพระราชทานพรแก่บรรดาชาวเรา ที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ และคงได้ฟังเพลง “พรปีใหม่” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ในวาระอันสำคัญแห่งการเปลี่ยนศักราชใหม่ เพื่อจะมุ่งหน้าดำเนินชีวิต ในแนวทางที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานไว้ ให้กับพวกเราชาวไทยทุกคน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยได้ปลาบปลื้ม เพราะมีแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า พระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสมบูรณ์แข็งแรงดี ผมจึงขออนุญาตกราบเรียนท่านผู้อ่าน ว่า

ปีใหม่นี้เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นปีที่คนไทยจะได้ฉลองกันใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ด้วยว่าเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จะทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พระชันษา และเป็นธรรมเนียมไทย ที่ต้องมีงานเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ และพวกเราคงตั้งใจทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์เจ้าของชาวเรา ผู้ทรงมีพระคุณอันประเสริฐ ที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์มายาวนาน เป็นบุญของพวกเราทุกคน

จึงนับว่า เป็นปีมหามงคลอีกปีหนึ่งของชาวไทยเลยทีเดียว!

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ท่านผู้อ่านคงได้ยินเสียงเพลงถึงแสดงถึงฤดูกาลแห่งความสุข เพราะมีเทศกาลคริสต์มาสของคริสต์ศาสนิกชน เมื่อปลายเดือนผมอยู่ที่กรุงเทพ ไปจ่ายของที่ Foodlands ทางร้านเขาเปิด Christmas carol ให้ได้ยินมาตั้งแต่ตอนนั้น ทางฟู้ดแลนด์นั้นบริหารโดยฝรั่ง ก็ดูไม่น่าแปลกเท่าไหร่ ที่เขาจะเปิดเพลงคริสต์มาสให้ได้ยินแต่เนิ่นๆ เพราะก่อนถึงวันคริสตสมภพ คือวันที่ ๒๕ ธันวาคม ที่ผ่านมา ร้านชำในเมืองเชียงใหม่ก็ยังมีเสียง Oh, jingle bells, jingle bells

Jingle all the way
Oh, what fun it is to ride
In a one horse open sleigh

ก็เพลงจิงเกิลแบลส์ หรือคนไทยเอามาแปลงเป็นเพลง “จูงกระเบน” นั่นแหละครับ

หลังจากฉลองคริสต์มาสแล้ว คราวนี้ไม่ว่าสถานีวิทยุหรือห้างต่างๆ ก็จะเปิดเพลงปีใหม่ของไทย ซึ่งก็ไม่พ้นเป็นเพลงของคณะสุนทราภรณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะมีอัลบั้ม “สุนทราภรณ์สวัสดีปีใหม่” ด้วย ซึ่งมีทั้งของคณะสุนทราภรณ์เอง และวงดนตรีอื่นที่เขาซื้อลิขสิทธิ์ไปทำ cover ใหม่ แต่พูดก็พูดเถอะสู้ของต้นตำรับเขาไม่ได้ หรืออาจเป็นเพราะผู้คนทั้งหลายล้วนแต่เคยชินกับของเก่าเสียก็ไม่รู้ เลยไม่ค่อยคุ้นกับของใหม่ ที่ใครเขาจะว่าจุ๋มจิ๋มกว่า-v'เก่า ก็ช่างเขาไป และสำหรับบางคนที่เลิกใช้ของเก่า มาอยู่กับของใหม่

นานๆเข้านี่ ชักพาลเบื่อเอาได้ง่ายๆเหมือนกัน!

ตอนยังเป็นวัยรุ่น ไปฉลองปีใหม่ตามบ้านเพื่อน พอฟังพระราชดำรัสอวยพรปีใหม่ให้กับประชาชนแล้ว จะต้องคอยฟังเสียงวิทยุจากกรมประชาสัมพันธ์ ที่บอกสัญญาณการเข้าสู่ศักราชใหม่ โฆษกเขาจะนับถอยหลังเวลาเป็นวินาที ๖..๕...๔...๓...๒ แล้วทางผู้ประกาศเขาบอกว่า “ปีใหม่แล้วคร้าบบบบบบบบบ!” ทางคุณพ่อเพื่อนที่เป็นเจ้าของงาน ท่านก็เป็นต้นเสียง ขึ้นเพลง “พวกเราเรามาชุมนุม ต่างภูมิใจรัก สมัคร สมาน”.....ทำนองมาจากเพลงAuidlangsai ของฝรั่งพอร้องเพลงนี้เสร็จสรรพ ท่านก็เปิดเพลง รำวงปีใหม่ ของสุนทราภรณ์ ที่เขาขึ้นต้นว่า

ไชโย ไชโย ไชโย ฉันร่วมไชโย ต้อนรับปีใหม่
ส่งปีเก่า แล้วเราเริงใจ ถึงวัน ปีใหม่ เราต้องไชโย...


ฟังเพลงนี้แล้วก็ให้คิดว่า ครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านมีคุณูปการต่อวงการเพลงเมืองไทยมากจริงๆ เพราะหากไม่มี ‘สุนทราภรณ์’ เราจะไม่มีเพลงเอาไว้เปิดตอนเทศกาล ไม่ว่าเป็น ปีใหม่ ลอยกระทง สงกรานต์ งานกฐินฯลฯ วงดนตรีของครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ของชาติท่านนี้ มีเพลงสำหรับเทศกาลโดยเฉพาะ ให้เรารับฟังกันมาโดยตลอด นานนับกว่ากึ่งศตวรรษ แต่เมื่อสิ้นท่านไปแล้ว เพลงใหม่ๆสำหรับเทศกาล ที่ฟังแล้วเข้าหูคนไทย แทบจะไม่เกิดใหม่อีกเลย!

อย่าว่าแต่เป็นเพลงของบ้านเราเลย แม้แต่เพลงคริสต์มาสของพวกฝรั่งเองก็เริ่มมีการพูดกันว่าไม่มีเพลงใหม่ออกมาเหมือนกัน ทุกๆปีเราจะได้ยินเพลงเก่าทั้งนั้น และอัลบั้มทองของผู้ร้องอย่าง Perry Como หรือ Frank Sinatra นั้น ยังเปิดกันอยู่ทุกเทศกาลงานคริสต์มาสในโลกนี้ ราวกับว่าคุณปู่เพอรี่กับคุณปู่แฟรงค์ยังมีชีวิตอยู่ทีเดียว

ตอนเป็นวัยรุ่นนั้น พอเปิดเพลง ‘รำวงปีใหม่’ ของสุนทราภรณ์ เราก็รำวงกับพวกผู้ใหญ่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ หลังจากนั้นก็เป็นรายการของพวกเรา ที่เต้นรำกันสนุกสนาน เพราะยุคผมนั้น Rock’n Roll กำลังฮิต ตอนนั้นกำรี้กำลังยังดี เขาชวนไปแข่งเต้นรำที่ไหนก็แห่ไปกับเขาด้วย

ถึงเดี๋ยวนี้ก็เถอะ ได้ยินเพลงพวกนี้เมื่อไหร่ เท้าและขามันก็ยังกระดุกกระดิกได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปสั่งมันเสียด้วยซ้ำ!

เพลงปีใหม่ของสุนทรภรณ์นั้น ที่ผมชอบมากนอกจากเพลงรำวงปีใหม่แล้ว ยังมีเพลงรื่นเริงเถลิงศก ที่เป็นเพลงคู่ เขาร้องว่า

ญ. วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใส พาใจสุขสันต์
ยิ้มให้กันในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องใดจงอภัยให้กัน
ช. หมดสิ้นกันทีปีเก่า เรื่องทุกข์เรื่องเศร้า อย่าเขลาคิดมัน
ตั้งต้นชีวิตกันใหม่ ให้มันสดใสสุขไปทั่วกัน...


ฟังแล้วมันสดใสร่าเริงสมกับเป็นวันปีใหม่เสียจริง หรืออย่างเพลง 'สวัสดีปีใหม่' ซึ่งทำนองเป็นของครูเอื้อ สุนทรสนาน ครู แก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง หรือที่วงการเพลงเขาเรียกกันว่า "แก้วเนื้อ เอื้อทำนอง" หมายความว่าครูเอื้อท่านประพันธ์ทำนอง ครูแก้วท่านใส่คำร้อง ถ้าสองคีตกวีไทยคู่นี้จับมือกัน รับรองว่าเพลงดังทั้งนั้น เพลงที่ผมว่าขึ้นต้นดังนี้

สวัสดี ปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย
ช่วยกันรับขวัญปีใหม่ เถลิงฤทัยไว้มั่น
สุขศรีปีใหม่หมาย สุขใจและกายรวมกัน
สำราญ สำเริง บันเทิงมั่น สุขสันต์ยิ้มกันไว้ก่อน

สิ่งที่ล่วงแล้วให้แล้วกันไป อย่าได้ผูกใจอาวรณ์
จับมือกันไว้อวยชัย อวยพร สุขสโมสรเริงรมย์
ความพลั้งพลาดล่วงเกิน อย่าหมางเมินระทม
รวมน้ำใจให้เกลียวกลม จงถึงอารมณ์อภัย....


ฟังแล้วมันตรงกับความเป็นปีใหม่เสียจริง เพราะเพลงนี้สร้างความหมายของปีใหม่เริ่มชีวิตใหม่ให้สมบูรณ์ นอกจากรับความสุขกันในวันขึ้นศักราชใหม่แล้ว ก็ยังสอนใจเราให้รู้จักลืมความหลัง ความเกลียดชัง ให้รู้จักการรวมใจมีไมตรีต่อกัน ซึ่งเหนือกว่าการสมานฉันท์เสียด้วยซ้ำ และเป็นเรื่องสำคัญของสังคม ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นกันในยุคปัจจุบัน ที่สังคมบ้านเรามีแต่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แยกเขี้ยวเข้าใส่กันอยู่ทุกวี่ทุกวัน

ดูแล้วไม่เป็นมงคลเสียเลย ใครรู้ตัวที่เป็นอย่างนั้น ปีใหม่นี้เห็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกันใหม่ทีเดียว!

เมื่อก่อนถึงวันคริสต์มาส ผมซื้อไก่งวงจากกรุงเทพ ขึ้นไปที่บ้านเมืองเหนือ โดยนัดไปฉลองกับเพื่อนรุ่นพี่ เดิมจะไปกันที่แม่ฮ่องสอน แต่โปรแกรมคลาดเคลื่อนไปหน่อย เลยได้แต่ทำอาหารเลี้ยงกันที่ลำพูน

รุ่นพี่ของผมซึ่งท่านเกษียณมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยหยุดนิ่ง ท่านมีบริษัทที่ปรึกษา และรับว่าความด้วย ซึ่งสำนักงานของท่านกำลังมีชื่อเสียง เพราะประสพความสำเร็จในการต่อสู้คดีให้กับลูกความรายใหญ่หลายคดีติดต่อกัน เจ้าตัวบอกว่าที่ต้องทำงานอยู่เพราะกลัวสมองฝ่อ แต่ท่านบอกกับผมว่า ไม่เคยลืมเรื่องที่ท่านชอบมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คือการเกษตรกรรม ที่ท่านรักหนักหนา เพราะเป็นลูกชาวสวนเมืองเชียงใหม่แท้ๆ

ตั้งแต่รู้จักกันมาครึ่งศตวรรษแล้ว ผมเห็นท่านชอบทำไร่ ทำสวนมาโดยตลอด แม้จะต้องบริหารงานในฐานะหัวหน้าโรงพัก หัวหน้าตำรวจจังหวัด แต่ท่านก็หย่อนใจด้วยการปลูกพืชผัก ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า มาโดยตลอด นอกจากนั้นยังเลี้ยงสัตว์อีกโดยเริ่มตั้งแต่ ไก่ เลิกจากทำไก่มาทำวัวเนื้อ เคยมีนับร้อยตัว ต่อมาขายยกคอกไป เพราะต้องการใช้เงินก้อนไปซื้อที่ดิน

จากนั้นก็เลิกเลี้ยงวัวมาเลี้ยงหมูป่า แต่ก็มาพลาดท่า เพราะหลงเชื่อว่าหมูป่านั้น เนื้อราคาดีกว่าหมูบ้าน เพราะคนที่มาชวนให้เลี้ยงบอกว่า ราคาจะถึงกิโลละร้อย เลยเลี้ยงหมูป่า จนมีหมูกว่าร้อยตัวที่บ้านต่างจังหวัด พอถึงเวลาจะขาย กลับขายไม่ออก เนื้อหมูป่าที่โฆษณาว่าจะเอาไปทำแฮม ทำเบคอน อะไรนั่น เอาเข้าจริงไม่มีใครซื้อ

เลยต้องขายเหมาไปกิโลละ ๑๐ บาท เสียทั้งเงินและเวลา!

ผมได้ทีจึงบอกกับท่านว่า เห็นไหมผมเตือนแล้วว่าอย่าทำ เราอายุเยอะแล้ว ไปเลี้ยงสัตว์เอาไว้ขายมันบาปนะพี่ ท่านก็บอกว่าหากินโดยสุจริตไม่เป็นไร ผมก็บอกว่า พี่มีเงินเยอะแล้ว บำนาญก็มี จะดิ้นรนหาเงินไปอีกทำไมกัน ผมไม่เข้าใจ?

ท่านกลับชวนผมว่า
“เรามาเลี้ยงจระเข้ากันเถอะ พี่ว่าดีนะ เพราะน้องก็ชอบกิน ดูแลก็ง่าย ให้ลูกน้องมันดูก็ได้”
แน่ะ...ดูซี่!
ผมบอกว่า “พี่เลี้ยงไปคนเดียวเถอะ เลี้ยงแล้วเอาเนื้อมาให้ผมกินก็แล้วกัน”
ท่านก็บ่นกระปอดกระแปด บอกว่าคนเราไม่ทำอะไร สมองจะเสื่อมเสียหายหมด...ว่าเข้าไปนั่น!!

พูดถึงเรื่องสมองเสื่อมแล้ว ผมเพิ่งได้อ่านรายงานทางการแพทย์ เขาบอกว่าคนเรานั้น ถ้าอ่านหนังสือและเขียนหนังสือทุกวัน สมองจะไม่เสื่อมมีพัฒนาการต่อไปได้อีกนาน ผมฟังแล้วก็ดีใจ เพราะเขียนและอ่านหนังสืออยู่ทุกวัน คงไม่มีวันเป็นโรคนี้แน่ และหากเรารู้จักการบริโภคที่ถูกต้องด้วย จะชะลอความชราได้ดีมาก และไม่กี่วันมานี่ เพิ่งฟังรายการวิทยุ ที่อาจารย์ ดร.วีณา เชิดบุญชาติ เล่าให้ฟังในรายการของท่าน ว่า

ตอนนี้ มีรายงานการศึกษาของฝรั่งเขาบอกว่า ปัจจุบันคนที่มีอายุที่เรียกว่า “กลางคน” ซึ่งคนไทยเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นอายุ ๔๐ ปี แต่ฝรั่งเขาบอกว่า Life begins at fourty. นั้น ตอนนี้เขาบอกว่า อายุที่เป็น middle age นั้น ฝรั่งเลื่อนไปเป็น ๖๐ ปี เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก วิทยาการก้าวหน้ามากขึ้น ความรู้ทางโภชนาการของผู้คนก็พัฒนาไปเยอะ อาหารการกินมีคุณภาพมากกว่าผู้คนยุคก่อนมาก หยูกยาการรักษาทางการแพทย์ก็ดี อายุคนยืนยาวมากขึ้น คนก็หนุ่มขึ้น ดังนั้นก็ย่างวัยกลางคนช้าลง จึงเลื่อนอายุวัยกลางคนไปที่ ๖๐ ปี

ฟังแล้วก็ครึ้มดี เพราะตัวเองก็เพิ่งผ่านวัยกลางคนมานี้ดเดียวเอง เหมือนกับท่านอาจารย์ ดร.วีณาฯเจ้าของรายการ นั่นแหละครับ!...๕๕๕

พูดถึงเรื่องความหนุ่ม ความแก่แล้ว เมื่อปลายปี ตอนเฉลิมพระชนม์พรรษา ได้ตั้งอกตั้งใจฟังพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเป็นประจำทุกปี ปีนี้พระองค์ทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องความแก่ เป็นที่โจษขานและเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้คนกล่าวขวัญถึงมา ด้วยในหลวงของเราทรงมีกระแสพระราชดำรัส ว่า

“...คนที่อายุมากๆ เป็นคนที่ได้เปรียบ เพราะว่าถ้าคุณสมบัติของคนที่มีอายุ เรียกว่า มีประสบการณ์ ก็ต้องถือว่าเป็นคนที่ได้เปรียบ แล้วก็คนที่อายุน้อย อาจจะดูถูกคนที่อายุมาก เพราะมีปมด้อยนั่นเอง คนที่อายุน้อยๆ แล้วก็ไม่มีความสามารถ เลยต้องดูถูกคนที่อายุมาก แต่ก็ขอบอกว่าคนที่อายุมาก ถ้ารักษาความดี รักษาคุณสมบัติ คุณธรรม ก็ได้เปรียบคนที่อายุน้อย และในประเทศชาติถ้ามีคนที่มีอายุมากและได้เปรียบ ถ้าท่านมีจะทำงานได้ ถ้ามีแต่คนเด็กๆ ที่ไม่ถือว่ามีความสามารถ ชาติบ้านเมืองไม่ก้าวหน้า จะต้องพูดอย่างนี้ท่านผู้ใหญ่ก็อาจจะบอกว่า นี่แหล่ะ คนที่อายุมากมีประโยชน์....”

ได้ฟังแล้ว ยกมือขึ้นถวายบังคม เพราะพระองค์ท่านได้พระราชทานกำลังใจ ผู้ที่สูงวัยแล้วเป็นให้เป็นอย่างมาก
รุ่นพี่ของผมซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยกันนั้น พูดกับผมว่า

ต่อไปนี้ หากใครมาบอกว่า ท่านนั้นแก่แล้ว ก็จะไม่ทุกข์ร้อนอะไร เพราะคิดว่าตัวท่านเองก็ได้อยู่มาในโลกใบนี้นาน รับราชการทดแทนบุญคุณแผ่นดินมายาวนาน แม้เกษียณราชการแล้ว แต่ก็ได้ตั้งใจที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองต่อไป และช่วยเหลือทางราชการเท่าที่จะทำได้ เป็นการทำตัวให้เป็นไปตามพระราชดำรัส

ผมได้ฟัง ก็ยกมือขึ้นร้อง “สาธุ” บอกกับท่านว่า

“พี่ทำตัวได้อย่างที่คนโบราณเขาบอกว่าเป็นคน ‘แก่มะพร้าว’ จะดีมากเลยทีเดียว”
คูสนทนาของผมทำหน้าประหลาดใจ แล้วถามว่าคนแก่มะพร้าวนั้นเป็นอย่างไร ท่านไม่เข้าใจ ผมเลยต้องอรรถาธิบายความให้ฟังว่า

คำว่าแก่มะพร้าวนั้น มาจากสำนวนเปรียบเทียบของคนไทยที่ว่า “แก่มะพร้าว เฒ่ามะละกอ”

มะพร้าวนั้น แก่แล้วก็ยังใช้ได้ ยิ่งแก่กะลายิ่งแข็ง เอาไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมทั้งทำเป็นภาชนะ หรือเอาไปทำฟืนก็ยังได้เพราะให้ไฟแรงดีนัก และต้นมะพร้าวเองก็ใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งต้น ตั้งแต่ลำต้น ใบ จั่น ยอดมะพร้าว ผลมะพร้าว น้ำมะพร้าว เรียกว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อชาวโลกเป็นอย่างมาก

คนโบราณเขาบอกว่า

มะพร้าวแก่ แก่ดี มีประโยชน์
รสเอมโอษฐ์ หวานมัน อย่างขานไข
แก่วิชา ยิ่งแก่ ยิ่งแน่ไป
ไม่มีใคร งกเงิ่น แก่เกินเรียนฯ


มะพร้าวนั้น ดีมีประโยชน์ทุกส่วนทั้งต้นอย่างที่ว่า ส่วนมะละกอนั้น ให้ผลหรือเก็บลูกไปทำส้มตำแล้ว ก็ต้องฟันทิ้ง เพราะเอาไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้ แกนในของลำต้นก็กลวง คนแก่ที่ถูกเรียกว่า เป็น “เฒ่ามะละกอ” นั้น ก็เหมือนกับว่า

คนๆนั้นแก่ตัวแล้ว...หมดคุณค่าไปเลย!
ผมบอกกับลูกพี่เพิ่มเติมว่า

ตัวผมเองนั้น ไม่ได้คำนึงถึงอายุอานามตนเท่าใดนัก เพราะสุขภาพยังอยู่ในขั้นดี แต่ก็ตระหนักเสมอว่า บรรพบุรุษของตัวเองก็เป็นข้าแผ่นดินนี้ อีกตระกูลทั้งสาแหรกข้างพ่อและข้างแม่ ก็ได้ทำงานรับใช้บ้านเมืองมาโดยตลอด จึงตั้งใจจะสนองคุณแผ่นดินเรื่อยไปอย่างสุดความสามารถ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

มาถึงวันนี้ยังเชื่อว่า จะอยู่ดูความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองไปได้อีกนาน ด้วยยังคิดว่าตนเองนั้นยังไม่แก่ และยิ่งถ้าหากจะนับตามมาตรฐานตามคำอธิบายของท่านอาจารย์วีณา เชิดบุญชาติแล้ว

ผมก็เพิ่งอยู่ในวัย 'กลางคน' เท่านั้นเอง!

สวัสดีปีใหม่...Happy New Year ครับ!!


........................
กำลังโหลดความคิดเห็น