xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความสุขแห่งชาติ

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สามสัปดาห์ก่อน เมื่อผมเขียนบทความเรื่อง เทคโนโลยี กับ ความสุข ได้มีผู้อ่านแสดงความเห็นไว้สั้นๆ เกี่ยวกับดัชนีความสุขแห่งชาติ หรือ GNH (Gross National Happiness; คล้ายคลึงกับที่ อ.ประเวศ วะสีเคยกล่าวถึง GDH) ว่าเคยผ่านตาบทความเกี่ยวกับการนำดัชนีดังกล่าวมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศของ ประเทศภูฏาน เรื่องนี้ในนิตยสาร The Economist

ไม่ทราบว่าเป็นการบังเอิญหรืออย่างไรที่เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็ไปพบกับบทความชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์จีน ซินจิงเป้า (新京报) ที่ก็กล่าวถึง ดัชนี GNH ดังกล่าวของประเทศภูฏาน (Bhutan หรือ 不丹 ในภาษาจีน) เช่นกัน

บทความชิ้นดังกล่าว ที่มีชื่อว่า "ดัชนีความสุข และ จีดีพีเขียว"* กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดี Jigme Singye Wangchuck กษัตริย์องค์ปัจจุบันที่แสดงความประสงค์จะที่จะทรงให้ภูฏานใช้หลักความสุขมวลรวมของประชาชาติ (Gross National Happiness) แทนการวัดการพัฒนาเป็นค่าทางเศรษฐกิจ ตามแบบตะวันตก นั้นต่างทำให้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของโลกต่างก็ตกตะลึงในนโยบายนี้ไปตามๆ กัน

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนหลัก 4 ประการคือ

หนึ่ง ส่งเสริม การรักษาระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สม่ำเสมอ โดยพื้นฐานของการแบ่งสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม และยุติธรรม
สอง คุ้มครองดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
สาม ส่งเสริมการพัฒนาด้านวัฒนธรรม
และ สี่ สถาปนาเส้นทางการปกครองประเทศอันดีงาม

หันไปดูข้อมูลพื้นฐานของภูฏานแล้วจะพบว่าภูฏานเป็นประเทศเล็กที่มีพื้นที่เพียง 47,000 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศ Land-Locked คือไม่มีทางออกทางทะเล มีประชากรราว 2 ล้านกว่าคน ประชากรสามในสี่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ส่วนอีกหนึ่งในสี่นั้นนับถือศาสนาฮินดู

เมื่อพิจารณาจากทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ประเทศภูฏาน มีพื้นที่ป่าไม้มากถึงร้อยละ 72 ของพื้นที่ประเทศ นั้นจะเห็นได้ว่าเอื้ออำนวยต่อการเปิดเสรี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างก็มุ่งแสวงหาสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งยังคงสภาพธรรมชาติอันบริสุทธิ์ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภูฏานไม่คิดเช่นนั้น ....

มีข้อมูลระบุว่า ในปี 2546 ภูฏานเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียงแค่ 6,000 คนเท่านั้น ส่วนสายการบินของภูฏานก็มีเครื่องบินเพียงสองลำ โดยเครื่องบินสองลำดังกล่าวสามารถบรรจุผู้โดยสารได้เพียงลำละ 72 คน สาเหตุก็คือ ภูฏานต้องการคัดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่เร่งร้อนที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตนเองโดยเปิดประตูให้กว้างเกินไป และไม่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในภูฏานปีละมากๆ โดยรัฐบาลภูฏานถึงกลับประกาศว่า ยอมมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศน้อยเสียดีกว่า ยินยอมให้การเปิดการท่องเที่ยวมาทำลายธรรมชาติ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น

ยิ่งทราบข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่ระบุถึง ข้อมูลของภูฏาน ด้วยว่า ภูฏานเพิ่งเริ่มที่จะมีโทรทัศน์ในปี 2542 (ค.ศ.1999) และมีเพียงสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเพียงสถานีเดียวเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้ภูฏานดูกลายเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานที่ผ่านมา สื่อมวลชนจีนฉบับหนึ่งก็รายงานถึง การไปเยือนประเทศสิงคโปร์ของตัวแทนรัฐบาลภูฏาน เพื่อแนะนำเกี่ยวกับแนวคิด 'ดัชนีความสุขแห่งชาติ' ของภูฏานว่า ระหว่างการไปเยือน สื่อมวลชนสิงคโปร์ ประเทศเล็กที่ได้ชื่อว่าพัฒนาที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็ทึ่งกับแนวคิดดังกล่าว โดยถึงกับระบุว่า ภูฏานเป็น "โลกพระศรีอาริย์ (Utopia) ที่มีอยู่จริง"

นอกจากนี้สื่อมวลชนสิงคโปร์ยังกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับประเทศอย่างสิงคโปร์ที่รัฐบาลจะสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อถนอมและอนุรักษ์ธรรมชาติ มากกว่านั้นยังเชื่อขนมกินได้เลยว่า รัฐบาลสิงโปร์จะไม่ลังเลใจเลยกับการพลิกสถานที่แห่งหนึ่งจากหน้ามือเป็นหลังมือเพียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

สื่อมวลชนจีน เมื่อรายงานถึงแนวคิด GNH ของภูฏานแล้วก็ยังทำการวิพากษ์ตนเองไว้ด้วยว่า เส้นทางการเดินของจีนและภูฏานคงไม่ใช่ทางเดียวกัน ด้วยขนาดของประเทศ ประวัติศาสตร์ และปัจจัยทางวัฒนธรรมหลายๆ ประการ อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาประเทศโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาตินั้นก็เป็นเรื่องที่ควรเร่งนำมาปรับใช้

โดยสื่อมวลชนจีนต่างก็ระบุว่า ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี อันเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั้น เมื่อประเทศจีนหยิบมาใช้แม้ตัวเลขดังกล่าวของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น การผลาญพลังงานของหน่วยงานจีนเมื่อวัดจากขนาดพื้นที่ที่เท่ากันแล้วนั้นสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วราว 2-3 เท่า อุปกรณ์สุขภัณฑ์ของจีนนั้นใช้น้ำมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างน้อยร้อยละ 30 (ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำ) ฯลฯ

ประเด็นสำคัญของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็วจนน่าสะพรึงกลัว ก็คือ ข้าราชการจีน ต่างไม่ลังเลใจ และยินยอมเสียสละทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อตัวเลข จีดีพี ด้วยกันทั้งนั้น เนื่องจากดัชนีถือว่าเป็น ดัชนี GDP สีเทา ที่ไม่ได้คำนวณรวมความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติเข้าไว้ด้วย

ผมเคยเขียนถึง แนวคิดการพัฒนาดัชนีจีดีพีเขียว (Green GDP) ของจีนมาแล้วในบทความ "จีน กับ จีดีพีเขียว" เมื่อกลางปี 2547 โดยระบุว่า จีนกำลังสนใจและกำลังศึกษา ทดลอง ดัชนีจีดีพีเขียว ขึ้นมาอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาปรับใช้ให้การวัดระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแม่นยำและถูกต้องยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในความเห็นของผม ตั้งแต่การนำดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มาใช้เป็นดัชนีหลักเพื่อวัดการพัฒนาของประเทศ ผมคิดว่า ดัชนีดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียง "GDP สีเทา" แต่เป็น "GDP สีดำ" เนื่องจากตลอดมา เราไม่เพียงสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างมหาศาล แต่เรายังสูญเสียวัฒนธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดีงามของคนในชาติไปด้วย

การกัดกร่อนดังกล่าวเห็นได้ชัดยิ่งโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ เราต้องการให้ตัวเลข GDP ขยับสูงขึ้นเพียงใด ศีลธรรมของคนในสังคมก็ดูจะลดต่ำลงเท่านั้น

หมายเหตุ :
*บทความ "ดัชนีความสุข และ จีดีพีเขียว" (快乐指数与绿色 GDP) หน้า A03 หนังสือพิมพ์ซินจิงเป้า ฉบับวันที่ 2 มีนาคม 2005
**สัปดาห์หน้าหากไม่มีข้อผิดพลาดอะไรผมจะกล่าวถึง เรื่อง GNH ต่อเนื่องอีกสัปดาห์ โดยจะกล่าวถึง ผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับดัชนี GNH ของภูฏาน กับ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ที่ศึกษาโดยนักวิชาการชาวตะวันตก
กำลังโหลดความคิดเห็น