ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2551 บริษัท “เชอรี่” ผลิตรถยนต์ส่งมาขายในประเทศแอฟริกาใต้ แต่ถูกลูกค้าร้องเรียนระงมเรื่องคุณภาพรถ อะไหล่สำรองไม่มี และบริการหลังการขายห่วยแตก จนสุดท้ายค่ายรถสัญชาติจีนรายนี้ต้องถอยออกมาในปี 2561
แต่มาพ.ศ.ปัจจุบัน รถแบรนด์เชอรี่สามารถครองใจผู้คนที่นี่ เช่นเดียวกับแบรนด์ฮาวาล (Haval ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเกรตวอลล์มอเตอร์ (GWM) สัญชาติจีนเช่นกัน
จากการวิเคราะห์โดยเว็บไซต์โฆษณารถยนต์ Cars.co.za ของแอฟริกาใต้ ซึ่งอาศัยข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งชาติแอฟริกาใต้ระบุว่า รถเอสยูวีและครอสโอเวอร์ของฮาวาลและเชอรี่ขายดีที่สุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 โดยฮาวาล เอช 6 ขายได้ 5,032 คัน เบียดแบรนด์เคยทำยอดขายรถเอสยูวีสูงสุดในแอฟริกาใต้อย่างโฟล์คสวาเกน ทีกวน (Volkswagen Tiguan) ซึ่งขายได้แค่ 3,165 คัน อันดับที่ 3 คือเชอรี่ทิกโก้ 8 โปร ( Chery Tiggo 8 Pro ) 2,195 คัน อันดับที่ 4 มาสด้า ซีเอ็กซ์-5 ขายได้ 1,283 คัน
ส่วนโตโยต้า ราฟโฟร์ (Toyota RAV4) ที่ว่าทำยอดขายเจ๋งสุดในโลกเมื่อปีที่แล้ว รั้งอันดับที่ 6 ของรถยนต์เอสยูวีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในแอฟริกาใต้ ขายได้1,021 คัน
ขณะที่รถยูเอสวีอย่างเปอโยต์ 3008 และซีตรอง ซี 5 ซึ่งมีสเตลแลนทิส (Stellantis) ของยุโรปเป็นบริษัทแม่เดียวกันไม่ติดอันดับท็อปเทน
รถแบรนด์จีนได้รับความนิยมอย่างมากจริง ๆ ในแอฟริกาใต้ จากคำยืนยันของนาย วอลต์ มาเดรา นักวิเคราะห์ของเอสแอนด์พี โกลบอล โมบิลิตี้
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ในมุมมองของนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมหลายคน ราคามีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้หันไปซื้อรถแดนมังกร ซึ่ง “คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย” ในภาวะที่ค่าครองชีพพุ่งสูง โดยรถของฮาวาลและเชอรี่เพิ่มฟีเจอร์แต่สนนราคาถูกกว่าเล็กน้อยกล่าวคือราคาไม่ถึง 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9 แสน 3 หมื่นกว่าบาท) เมื่อเทียบกับรถลักษณะคล้าย ๆ กันแบรนด์อื่นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยุโรปที่มีราคาสูงกว่าคือ 28,600-38,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 9 แสน 8 หมื่น-1 ล้าน 3 แสนกว่าบาท ) นอกจากนั้น มีรถจีนแบรนด์หนึ่งยังรับประกันเครื่องยนต์นานถึง 10 ปี หรือ 1 ล้านกิโลเมตร ซึ่งแบรนด์อื่นไม่มี
ในส่วนของบริษัทเชอรี่ ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของนั้นได้ถอดบทเรียนความล้มเหลวและทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงคุณภาพรถและเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ก่อนเข้าตลาดแอฟริกาใต้อีกครั้งในปี 2564 ซึ่งประเดิมด้วยรถเอสยูวีขนาดเล็กสุดคือ ทิกโก้ 4 โปร จากนั้น ตามด้วยรถเอสยูวีขนาดกลางทิกโก้ 7 โปร และระดับท็อปโมเดลคือทิกโก้ 8 โปร โดยเชอรีมีคลังอะไหล่สำรองขนาดใหญ่ มีการรับประกันกลไกเครื่องยนต์และแผนการให้บริการที่เข้มแข็ง ตลอดจนบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนนตลอด 24 ชั่วโมง
รถแบรนด์จีนยังกลายเป็นเครื่องมือทางการทูตที่ทรงพลังอีกด้วย โดยฮาวาลและเชอรีจัดหารถเอสยูวีหลายร้อยคันเพื่อใช้รับส่งผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดบริกส์ในนครโจฮันเนสเบิร์กเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้จีนยังบริจาคแม็กซัส ดี90 รถเอสยูวีของค่ายเอสเอไอซี มอเตอร์ จำนวน 70 คันสำหรับรับส่งผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและจี 77 บวกจีนที่ประเทศอูกันดาเมื่อเดือนม.ค. อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก “How Chinese carmakers are overtaking Japanese, European rivals in South African market” ในเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์