xs
xsm
sm
md
lg

12 ชั่วยาม ก่อนอรุณรุ่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

เผยแพร่:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

ภาพเขียนนาทีประวัติศาสตร์ เหมาเจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 1 ตุลาคม 1949 (ภาพซินหัว)
การประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ต.ค. 1949 คือประวัติศาสตร์ของชาวจีนทุกคน พิธีอันยิ่งใหญ่นี้ เหมาเจ๋อตง ผู้นำสูงสุดแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ ได้ประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง

ย้อนไปก่อนหน้านั้นหลายสิบปี และอาจจะเป็นร้อยปี (ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู) แห่งความไม่เท่าเทียม และการล่าอาณานิคม การพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของจีนส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างมาก

ในเวลาเดียวกัน จีนอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักของลัทธิอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่น ดังที่เป็นตัวอย่างจากสงครามฝิ่น สนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันหรือกบฏนักมวย ความไม่เท่าเทียมกันภายในอย่างรุนแรงและความก้าวร้าวจากภายนอกนำไปสู่จิตสำนึกแห่งชาติและชนชั้นในหมู่ประชากรจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตามแม้การปฏิวัติในปี 1911 ก่อกำเนิดระบอบการปกครองแบบชาตินิยม โดยซุนยัตเซ็น ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงและดำเนินการปฏิรูปใดๆ ได้ ซุนยัตเซ็น ถูกบังคับให้ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น

หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซียการต่อสู้ด้านแรงงานทวีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศจีน แค่ในเซี่ยงไฮ้เพียงแห่งเดียวมีการนัดหยุดงานมากกว่า 450 ครั้งระหว่างปี 1919 - 1923 นำไปสู่ขบวนการสี่พฤษภาคมการประท้วงของนักศึกษาจำนวนมากในประเทศจีน และขบวนการที่สี่พฤษภาคม

เหมาเจ๋อตงกล่าวว่า ขบวนการที่สี่พฤษภาคมนี้เอง เริ่มต้นกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ขบวนการที่สี่พฤษภาคมก้าวไปไกลกว่าการปฏิวัติในปี 1911

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนก่อตั้งขึ้นในปี 1921 แต่ก็ถูกกวาดล้างโดยพรรคก๊กมินตั๋ง (พรรคชาตินิยมจีน) เจียง ไค-เช็ก พันธมิตรดั้งเดิม

หลังปี 1927 พวกคอมมิวนิสต์ได้แต่ถอยหนีออกไปยังชนบทและสร้างฐานทัพขึ้นทั่วประเทศ ได้รับการยอมรับอย่างดีในภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ และกลับมาจับมือกับพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อต่อต้านบุกยึดครองของญี่ปุ่น

แม้กระนั้น พรรคก๊กมินตั๋ง ก็ไม่เคยไว้วางใจในพรรคคอมมิวนิสต์ จึงอาศัยข้อได้เปรียบทั้งในกองทัพและอาวุธ ชิงควบคุมอาณาเขตและประชากรที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก กองทหารชาตินิยมพรรคก๊กมินตั๋ง ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีที่สุด และมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนหลายร้อยล้านดอลลาร์พร้อมกับเสบียงอาหาร

ขณะที่สหภาพโซเวียตแม้เป็นมิตรกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ไว้วางใจให้ความช่วยเหลือใดๆ ปล่อยทิ้งให้พรรคคอมมิวนิสต์เผชิญศึกจากทั้งใน และนอกเพียงลำพัง

แต่ข้อจำกัดสำคัญนี้กลับรีดเค้นศักยภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในกองทัพจีน และยุทธศาสตร์การรบที่เรียกว่า "เดินทัพทางไกล" โดยว่ากันว่าทหารกองทัพแดง เดินทัพทางไกล ฝ่าวงล้อมกองทัพขุนศึก ข้าม 18 เทือกเขาหิมะปกคลุม
แม่น้ำเชี่ยวกราก 24 สาย ผ่าน 11 มณฑล สู้รบปลดปล่อย 62 เมือง เข้าสู่ดินแดนที่ยังไม่เคยมีกองทัพจีน ย่างเข้าไปสัมผัสถึงมาก่อน 368 วัน จากทหารกว่า 100,000 นาย เหลือรอดถึงจุดหมายปลายทางภาคเหนือเพียง 20,000 เศษ

เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้และถูกขับพ้นแผ่นดินจีน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจียง ไค-เช็ก ตั้งใจแน่วแน่ที่จะชำระสะสาง กำจัดกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนให้สิ้น กรีฑาทัพใหญ่ซึ่งข้อมูลระบุว่ามากถึง 4,300,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ยังล้าสมัย ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจนอกแผ่นดิน เทียบกับกองทัพคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเพียง 1,200,000 นาย อีกทั้งเสียเปรียบในความสามารถทางการทหารทุกด้าน

การปรากฏว่าสมรภูมิใหญ่ 3 สมรภูมิ ได้แก่ สมรภูมิเหลียว-เสิ่น ในปี 1947, สมรภูมิฮว๋ายไห่ ในปี 1948 และสมรภูมิผิง-จิน ในต้นปี 1949 ที่กองทัพชาตินิยมมุ่งหมายฝังกลบข้าศึกร่วมแผ่นดิน กลับต้องเจอกับกองทัพแดงภายใต้การบัญชาการของเหล่าแม่ทัพกองทัพแดงอย่าง เหมาเจ๋อตง, หลินเปียว, โจว เอินไหล, จูเต๋อ, เผิง เต๋อหวย, เหริน ปี้ฉือ, เฮ่อ หลง, จ้าง เหวินเทียน, หลิว ปั๋วเฉิง, ฉูว์ ซ่างเฉียน

พลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ทั้งสามสมรภูมิ

การต่อสู้ในทั้ง 3 สมรภูมิรบนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด เจียง ไค-เชก กองกำลังชาตินิยม 600,000 คน พร้อมผู้ลี้ภัยผู้รักชาติ ประมาณสองล้านคนหลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน

บัดนี้เองที่วิปโยคแผ่นดินใหญ่ได้สิ้นสุดลง แผ่นดินจีนพบความสงบครั้งแรกในรอบร้อยปี พรรคคอมมิวนิสต์รื้อฟื้นสภาที่ปรึกษาการเมืองขึ้นมาใหม่ เรียกชื่อว่า "สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน" ประชุมและประกาศใช้กฎหมายหลัก ธงชาติ เพลงชาติ และตราประจำชาติ อีกทั้งเลือกให้เหมาเจ๋อตง ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาคนแรก เพื่อที่จะประกาศวันสำคัญให้ชาวจีนทั่วทั้งแผ่นดินและโลกรู้ถึงการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949

ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 เหมา เจ๋อตุง ผู้นำกองทัพแดงก็ได้ประกาศก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ต่อหน้าฝูงชนกว่า 3 แสนคน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง

...

"12 ชั่วยาม ก่อนอรุณรุ่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน"
ข้อมูลประวัติศาสตร์ได้บันทึก 12 ชั่วยาม ก่อนอรุณรุ่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้ว่า แผ่นดินจีนไม่เคยสงบอย่างนี้มาก่อน สิ่งที่ดูจะเป็นความไม่มั่นคง คาดการณ์ไม่ได้คงมีเพียงเรื่อง ลมฟ้าอากาศ ว่าจะมีฝนตกหรือไม่ในช่วงพิธีประกาศของผู้นำเหมาเจ๋อตง

ลำดับเวลา 12 ชั่วยาม (ตามการนับเวลาของจีน) หรือ 24 ชั่วโมงตามเวลาสากลนั้น มีบันทึกเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายสามโมงของวันที่ 30 กันยายน อันเป็นช่วงเวลาเตรียมการขั้นสุดท้ายก่อนการจัดพิธีอันยิ่งใหญ่สำหรับการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นในกรุงปักกิ่ง แต่เพื่อความปลอดภัยพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ได้มีการประกาศการจัดพิธีการใหญ่นี้อย่างเป็นทางการ

15:00 น. ของวันที่ 30 กันยายน 1949

ชาวปักกิ่งบางส่วน เริ่มตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นในแต่ละด้านของจัตุรัสเทียนอันเหมินมีอัฒจรรย์สร้างขึ้นใหม่สองแห่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของพิธีอันยิ่งใหญ่บางอย่าง

อัฒจันทร์ทั้งสองฝั่งทำด้วยไม้และแผ่นไม้ พาดเข้าด้วยกันโดยใช้เชือกและเหล็กเส้น การทดสอบความแน่นหนาได้ทำขึ้นในลักษณะพิเศษ นั่นคือใช้ทหารประมาณ 300 คนขึ้นไปยืนกระโดดทดสอบเป็นเวลา 10 นาที ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามันแน่นและมั่งคงพอ

17:00 น. ของวันที่ 30 กันยายน 1949

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเผชิญกับแรงกดดันที่หนักกว่าการทดสอบที่อัฒจรรย์ เพราะมีบางส่วนของประเทศที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพปลดปล่อยประชาชน และกองทัพก๊กมินตั๋งเก่าแม้ว่าหมดอำนาจไปแล้ว แต่ก็ยังมีกองทัพอากาศบางส่วนและสามารถบินมาทิ้งระเบิดกรุงปักกิ่งได้

ดังนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จึงสั่งการเครื่องบินรบ 4 ลำ จากทั้งหมด 17 ลำ ที่เตรียมการสำหรับขบวนพาเหรดในพิธี พร้อมที่จะต่อสู้กับศัตรูในท้องฟ้า

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีกกลุ่มหนึ่ง ตระเวนสอบทุกมุมเมืองเพื่อตรวจตราและป้องกันอันตราย ตำรวจพบระเบิดที่มุมด้านนอกพลับพลาของจตุรัสเทียนอันเหมิน และเก็บกู้

18:00 ของวันที่ 30 กันยายน 1949

สภาที่ปรึกษาการเมืองขึ้นมาใหม่ เรียกชื่อว่า "สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน" ประชุมและประกาศใช้กฎหมายหลัก ธงชาติ เพลงชาติ และตราประจำชาติ เลือกให้เหมาเจ๋อตง ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาคนแรก เพื่อที่จะประกาศวันสำคัญให้ชาวจีนทั่วทั้งแผ่นดินและโลกรู้ถึงการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 และลงมติสำคัญในการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้พลีชีพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

เมื่อเวลา 18:00 น. สมาชิกทุกคนของ สภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีน มาที่พื้นที่ สร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้พลีชีพ ประธานเหมาเจ๋อตงอ่านคำสดุดีและแสดงความระลึกให้แด่วีรบุรุษทุกคนที่เสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ เสรีภาพและสวัสดิภาพของประชาชน

20:00 ของวันที่ 30 กันยายน 1949

ยังมีคนทำงานไม่หยุดเพื่อให้พิธีมีความสมบูรณ์พร้อม อาทิ หัวหน้าวงดุริยางค์ ลั่วหลาว ซึ่งรับหน้าที่บรรเลงเพลงชาติครั้งแรกของประเทศจีน ซึ่งทุ่มเทอย่างมากกับบทเพลงประจำชาตินี้ และความพยายามของเขาคุ้มค่า เพราะวงดนตรีแสดงได้อย่างสมบูรณ์แบบในวันรุ่งขึ้น

อีกหนึ่งคน คือศิลปินจั่ว หลิวจ้าว จิตรกรที่วาดภาพเหมือนของประธานเหมาเจ๋อตงเพื่อแสดงในจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้หลับนอนเลย

03:00 ของวันที่ 30 กันยายน 1949

ตีสามแล้ว แต่นักดนตรีในวงดุริยางค์ทหารที่จะเข้าร่วมขบวนพาเหรดในวันรุ่งขึ้นยังอยู่ที่นั่น บางคนมาจากกองทัพ บ้างมาจากกองทัพเรือ ทหารพลปืนยิงสลุตยังได้นำปืน 54 กระบอกเข้าไปในจัตุรัส

บุคคลสำคัญผู้ดูแลทุกอย่างของงานนี้ คือ โจวเอินไหล ซึ่งไม่ได้หลับนอนมาเป็นเวลา 4 วันแล้ว ก็ได้ปรากฏตัวขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แม้ใบหน้าจะซีดเซียว แต่ยังกระฉับกระเฉงสำหรับงานใหญ่นี้

06:00 ของวันที่ 1 ตุลาคม 1949

เช้าวันสำคัญ เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบการพยากรณ์อากาศสำหรับ 1 ตุลาคม ปักกิ่งจะมีเมฆมากกับลมอ่อนจากทางทิศตะวันออก

9:00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 1949

ฟ้าฝนยังเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ไม่อาจควบคุม ไม่มีใครแน่ใจได้ เวลา 9:00 น. ในตอนเช้า มีฝนตกที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งทำให้บางคนกังวล

15:00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 1949

ฝนหยุดตกประมาณ 10 นาทีก่อนถึง 15:00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 1949 แสงตะวันจากตะวันตกอาบทุกปักกิ่งเป็นสีทอง

บ่ายสามโมง ช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ ฝนหยุดตก จัตุรัสเทียนอันเหมินฉาบแสงอาทิตย์สีทอง และอากาศสดชื่นด้วยกลิ่นหอมหลังฝนตก

ในช่วงเวลาพิเศษนี้ สมาชิกของรัฐบาลใหม่ทุกคนได้ก้าวเดินขึ้นบันไดของพลับพลา ... เหมาเจ๋อตง ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น