xs
xsm
sm
md
lg

ฮ่องกงทุ่มนับ$ล้านปั้นหนุ่มสาวฮ่องกงเป็น “คนรุ่นใหม่ผู้รักชาติ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กลุ่มประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 22 ปี ที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีน (แฟ้มภาพรอยเตอร์ส)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์—ไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลฮ่องกงได้ทุ่มงบประมาณนับหลายล้านเหรียญไปกับโครงการสร้างคนรุ่นใหม่ฮ่องกงที่ภาคภูมิในมาตุภูมิชนชาติจีนขึ้นมาเป็นแบบอย่าง แต่ก็ดูจะคว้าน้ำเหลวในยกแรก

แคธี ถัง (นามสมมุติ) และเพื่อนชาวฮ่องกงที่เข้าร่วมโครงการฝึกงานในจีน เดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์วังต้องห้ามในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2017 เจ้าหน้าที่จีนได้จัดพิธีการต้อนรับพวกเขาอย่างราชา

แคธีและเพื่อนๆรวม 15 คน เป็นชาวฮ่องกงกลุ่มแรกที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลฮ่องกงเข้าร่วมโครงการฝึกงานที่จีนโดยเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 20 ปีที่ฮ่องกงกลับสู่การปกครองจีน

กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกฯนี้กำลังถูกปั้นให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวฮ่องกงรุ่นต่อไป โดยจะเป็นเยาวชนผู้รักชาติผู้กระตือรือร้นที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของมาตุภูมิ

“พวกเราได้เข้าไปเยี่ยมชมโซนต่างๆที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปดู เจ้าหน้าที่จีนปฏิบัติต่อเราดั่งแขกพิเศษที่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นๆมากมาย” ถัง กล่าว

หกสัปดาห์หลังจากที่ถังได้ฝึกงานภายในวังต้องห้าม โดยรัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และสองปีต่อมานักศึกษาเอกศิลปะเหล่านี้ก็ฝ่าอากาศร้อนสุดๆเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนบนท้องถนนในฮ่องกงทุกสุดสัปดาห์ตั้งเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

ถังบอกว่าเธอยังสนใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน และมิได้มีความขัดแย้งใดในจุดยืนของตน

“ในฉากหน้า รัฐบาลอาจคาดหวังว่าฉันจะเป็นตัวอย่างเยาวชนผู้รักชาติได้ดีที่สุด ซึ่งนั่นคือจุดยืนของพวกเขา เพราะฉันสนใจวัฒนธรรมจีน แต่ฉันแยกแยะผลประโยชน์และจุดยืนการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความรักในวัฒนธรรมจีนของฉัน ไม่ได้ทำให้ฉันเชื่อมั่นหรือเห็นด้วยกับระบบการเมืองและกฎหมายของจีนมากขึ้น”

กรณีของถังเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายความล้มเหลวของรัฐบาลฮ่องกงในการค่อยๆหล่อหลอม “อัตลักษณ์แห่งชาติ” ในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาวในฮ่องกง และคาดหวังว่าพวกเขาจะเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่

ในปี 2017 เป็นปีครบรอบ 20 ปีที่จ้าวอาณานิคมอังกฤษได้ส่งมอบฮ่องกงคืนสู่การปกครองจีน และแคร์รี่ แลม ได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของดินแดน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวย้ำในวันเข้ารับตำแหน่งของแลมเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2017 “ฮ่องกงจะทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อปลูกฝังความรักชาติในกลุ่มเยาวชน/วัยหนุ่มสาว และสนับสนุนให้เยาวชนเติบโตอย่างแข็งแรง” สี กล่าว

ในปีต่อมาสำนักงานประสานงานของผู้แทนจีนในฮ่องกงได้คุยโวความคืบหน้าฯ ระบุว่าในปีที่ผ่านมา(ขณะนั้น) การศึกษาของเยาวชนฮ่องกงได้เข้าสู่ยุคใหม่ หนุ่มสาวฮ่องกงจำนวนมากขึ้นตระหนักถึงแนวทางใหม่ในการบูรณาการแผนพัฒนาของประเทศและเขตอ่าวใหญ่ “เกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย” (Greater Bay Area) ซึ่งได้แก่ เขตเศรษฐกิจในกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า

เพื่อบรรลุฝันดังกล่าว รัฐบาลฮ่องกงทุ่มเทงบประมาณหลายล้านเหรียญฮ่องกงเพื่อดำเนินโครงการสองโครงการโดยมีสำนักงานกิจการภายใน (Home Affairs Bureau)เป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ โครงการฝึกงานของเยาวชน และอีกโครงคือการแลกเปลี่ยนเยาวชนในแผ่นดินใหญ่

จีนและรัฐบาลฮ่องกงใช้โครงการทั้งสองนี้เป็นหนทางที่จะ “สร้างอัตลักษณ์แห่งชาติในหมู่เยาวชนเพื่อให้พวกเขาเห็นโอกาสในแผ่นดินใหญ่ และขยายงบฯโครงการในสองสามปีมานี้ ในปี 2019 รัฐบาลจัดสรรงบฯ 77 ล้านเหรียญฮ่องกงสำหรับโปรแกรมการฝึกงาน โดยเพิ่มจาก 24 ล้านเหรียญฮ่องกงในปี 2014 จำนวนโครงการแลกเปลี่ยนได้ขยายเป็นสามเท่า

และเพียงปีต่อมาของการทุ่มเทโครงการฯเหล่านี้ ผู้ประท้วงหนุ่มสาวได้บุกสภานิติบัญญัติ และเปิดศึกปะทะกับตำรวจ

กลุ่มสังเกตการณ์ติดตามกระแสความไม่พอใจจากแหล่งต่างๆ จากประเด็นบ้านที่อยู่อาศัย งานอาชีพ และการเปลี่ยนฐานะทางสังคม แต่ปัจจัยสำคัญคือทัศนะด้านลบต่อจีนที่สะท้อนออกมาจากกลุ่มประชากรที่ระบุว่าตัวเองเป็นพลเมืองจีนนั้น

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยฮ่องกง จำนวนชาวฮ่องกงที่บอกว่าตัวเองเป็น “ชาวจีน”นั้น ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับจากปี 1997

ในจำนวนผู้ตอบ 1,015 คน ในการสำรวจระหว่างวันที่ 17-20 ก.ค.ที่ผ่านมา 53 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าตัวเองเป็น “ชาวฮ่องกง” ขณะที่ 11 เปอร์เซ็นต์ เห็นตัวเองเป็น “ชาวจีน” และอีก 12 เปอร์เซ็นต์ ระบุตัวเองเป็น “ชาวจีนในฮ่องกง” ขณะที่อีก 23 เปอร์เซ็นต์ เห็นตัวเองเป็น “ชาวฮ่องกงในจีน”


กำลังโหลดความคิดเห็น