xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: จีนยุคใหม่กับ Her Economy เป็นอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สตรีชาวจีน พลังบริโภคยุคใหม่ Her Economy เปรียบได้ว่ามือหนึ่งถือถุงช็อปปิ้ง อีกมือถือกุญแจบ้านของตนเอง (ที่มา เอเจนซี่)
โดย ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกุล

วันนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ ที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้เขียนคิดว่า ปรากฎการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น เทียบเท่ากับผู้ชาย อีกทั้งออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีรายได้ส่วนตัวที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้

ในปัจจุบันผู้หญิงบางคนยังมีรายได้มากกว่าผู้ชายเสียอีก ผู้เขียนมีเพื่อนผู้ชายจีนท่านหนึ่งแต่งงานมีลูกมีครอบครัวเรียบร้อย แต่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพ่อบ้าน ดูแลลูกเป็นหลัก ส่วนภรรยาทำงานคนเดียวนอกบ้าน ดังนั้น รายได้ของครอบครัวมาจากผู้หญิงคนเดียวทำงานนอกบ้าน ผู้เขียนเคยถามเพื่อนคนนี้เหมือนกันว่า ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงหรือรู้สึกแปลก ๆ บ้างหรือ เพราะในสังคมจีนส่วนใหญ่ผู้ชายยังต้องเป็นเสาหลักให้ครอบครัวอยู่ (ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านด้วยก็ตาม) เพื่อนคนนี้ตอบกลับมาว่า "ไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นเรื่องของการแบ่งงานกันทำ ตัวเขาเองก็มีความสุขดีกับการอยู่บ้านทำงานบ้าน ดูแลลูก ส่วนภรรยาออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน" เพื่อนท่านนี้กล่าวอีกว่า "ทุกวันนี้ภรรยาเขาหาเงินในแต่ละเดือนได้มากกว่า 5 หมื่นหยวน ซึ่งก็มากกว่ารายได้แต่ก่อนของตัวเขาเองหลายเท่า อีกทั้งแบบนี้ก็อยู่สบาย ครอบครัวสุขสันต์ดี ภรรยาของเขาเองก็ยอมรับในลักษณะครอบครัวแบบนี้ แฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย"

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปมาก ผู้หญิงออกมามีบทบาทมากขึ้นทั้งในระบบสังคม เศรษฐกิจ ไปจนถึงครอบครัว จีนซึ่งหลายคนมองจากภายนอกอาจจะคิดว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิด สังคมมีชายเป็นใหญ่ ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปสิ้นเชิง ผู้นำประเทศ รวมไปถึงผู้นำองค์กร นักบริหารต่าง ๆ มีผู้หญิงได้ตำแหน่งใหญ่ ๆ อยู่ไม่ใช่น้อย

คำว่า Her Economy แปลตรงตัวมาจากภาษาจีนที่ว่า 她经济 เป็นคำที่ถูกบัญณัติขึ้นในพจนานุกรมจีนใหม่ในปี 2007 คำนิยามนี้อธิบาย ผู้หญิงยุคใหม่ที่ทำงานเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ใช้เงินได้อย่างอิสระไปกับการช็อปปิ้ง ทำให้ผู้หญิงยุคใหม่กลุ่มนี้กลายมาเป็นกลุ่มสำคัญที่กลายมาเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจประเภทต่าง ๆ ที่ต้องการจะจับกลุ่มผู้หญิงมากขึ้นไม่ใช่แค่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป จากการเก็บข้อมูลของหน่วยงานธุรกิจจีน พบว่า ผู้หญิงอายุ 25-40 ปี ที่เป็นพนักงานบริษัทหรือทำงานรับเงินเดือนในหน่วยงานรัฐ เกือบทั้งหมดมีบัตรสมาชิกฟิตเนสหรือบัตรสมาชิกร้านเสริมสวยทั้งสิ้น

ขณะที่กลุ่มหญิงโสดช่วงอายุ 25-35 ปี ซึ่งมีการศึกษาระดับสูง มีงานทำเป็นของตัวเองที่รายได้ไม่เลว มีจำนวนมากในกลุ่มเมืองใหญ่ อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่เครียดเรื่องการหาคู่ครองแต่งงานเพราะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และจับจ่ายซื้อของที่ตัวเองอยากได้อย่างตามใจชอบ จากการสำรวจพบว่าผู้หญิงที่เข้าข่ายในกลุ่มนี้ ยอมรับในชีวิตสาวโสดไม่แต่งงานมากถึง 89% กล่าวคือคนกลุ่มนี้ไม่ขวนขวายที่จะแต่งงานมีครอบครัวนั้นเอง

ในแง่ของทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เริ่มเข้ามาจับตลาดผู้หญิงมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดล่างและตลาดกลางเท่านั้น ยังมีการเพิ่มการจับตลาดบนมากขึ้น ในกลุ่มสาวโสดและรวยมากนั่นเอง

Her economy มีพฤติกรรมการบริโภคในวงกว้าง หลากหลาย ทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ จากการรายงานตัวเลขจาก Guotai China ระบุว่า ในปัจจุบันตลาดการบริโภคของผู้หญิงมีขนาดใหญ่ถึง 6.7 ล้านล้านหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้หญิงจีนมีกำลังการบริโภคมากขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นการซื้อของออนไลน์ ตามตัวเลขสถิติของอาลีบาบา รายงานว่า ลูกค้าผู้หญิง 3.5 แสนคน ในหนึ่งปีจะซื้อกระเป๋าโดยเฉลี่ย 12 ใบ มีลูกค้าผู้หญิง 3 ล้านคน ในหนึ่งปีซื้อลิปสติกมากกว่า 5 แท่งขึ้นไป อีกทั้งแบรนต์กระเป๋าและนาฬิกาหรูก็พยายามเข้ามาเปิดร้านออนไลน์ในจีนมากขึ้น อาทิ กระเป๋า Bally Limited edition เปิดขายในเว็บ Tmall ของอาลีบาบา ขายหมดสต็อกในเวลาเพียงหนึ่งนาที (ช่วงเทศกาล on sale online) ทั้งนี้การวิจัยตลาดการบริโภคผู้หญิงจีน ยังถูกวิจัยอย่างละเอียดลงไปเรื่อย ๆ ทั้งช่วงอายุและพฤติกรรม ผู้หญิงจีนที่มีกำลังซื้อสูงสุดคือกลุ่มคนที่เกิดในยุค 80-90 ที่เริ่มทำงานและกำลังอยู่ในช่วงรายได้ขาขึ้น ในออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ ผู้หญิงเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลัก อย่างในเว็บซื้อของ หนึ่งใน 100 ผู้ใช้งาน ผู้หญิงมีจำนวน 46 คน และใน 46 คนนี้มีปริมาณการซื้อของในแพลตฟอร์มมากกว่า 70%

Her economy ไม่ใช่แค่การช็อปปิ้งเท่านั้น ในจีนยังมีตัวเลขที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการซื้อบ้านของผู้หญิงจีนยุคใหม่ จากตัวเลขสถิติของศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติจีน รายงานว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา ในจำนวน 100 คนที่ซื้อบ้านมีจำนวน 50 คนเป็นผู้หญิง และในจำนวน 50 คนนี้ 74.2% ออกเงินซื้อบ้านด้วยตัวเอง ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากคู่ครอง 45.2% หรือได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อแม่ และมี 29% ซื้อบ้านด้วยเงินตัวเองล้วนๆ ไม่มีคนช่วยเหลือ

การซื้อบ้านในกลุ่มสาวโสดมีจำนวนมากขึ้น พวกเธอคิดว่าการซื้อบ้านคือการหาความมั่นคงให้แก่ชีวิตคนจีน แนวคิดในการซื้อบ้านของผู้หญิงจีนเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน สมัยก่อนนี้ผู้หญิงจะไม่ค่อยมีความคิดที่อยากจะซื้อบ้าน การซื้อบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชายและจะซื้อบ้านเพื่อการแต่งงาน เตรียมตัวมีครอบครัวเท่านั้น แต่การซื้อบ้านของผู้หญิงจีนในปัจจุบันเปลี่ยนไป การซื้อบ้านเพื่อการลงทุนมีมากขึ้น

ผู้หญิงที่ซื้อบ้านจะมีความรู้สึกว่าปลอดภัยและรู้สึกถึงการมีหลักประกันในชีวิต การซื้อบ้านในมุมมองของคนจีนยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออีกด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานในเมืองใหญ่จะเห็นแนวโน้มนี้อย่างชัดเจน ผู้หญิงจีนเริ่มที่จะมองการลงทุนในกองทุน หุ้น และอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ในเมืองชั้นหนึ่งถึงชั้นสอง ผู้หญิงจีนช่วงอายุ 30-50 ปี มีความต้องการซื้อบ้านมากที่สุด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันจำนวนมาก เริ่มที่จะออกแบบและขายบ้านเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงโดยเฉพาะ อย่างเช่น บ้านประเภท Loft เป็นต้น จากการประมาณการณ์ของหน่วยงานสถิติทางเศรษฐกิจจีน ผู้หญิงจีนใช้จ่ายเงินในด้านต่าง ๆ ต่อปี คิดเป็น 41% ของ GDP ด้านการบริโภคของประเทศและยังมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นไปอีก

จากที่ผู้เขียนแนะนำไปข้างต้น จะเห็นว่าสังคมจีนเปลี่ยนไป ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในครอบครัวคนจีนส่วนใหญ่ ผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจหลักในบ้าน ผู้หญิงโสดรุ่นใหม่ที่มีการงานมั่นคงไม่รีบร้อนแต่งงาน แต่เลือกที่จะสนุกกับชีวิตอิสระมากกว่า และมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น

หลังจากการเปิดประเทศเป็นต้นมา รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับความเสมอภาคกับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้สังคมจีนเปลี่ยนไปสู่สมัยใหม่ ไม่ยึดติดแต่กับการให้ความสำคัญกับผู้ชายเยี่ยงสมัยก่อน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน หากมองแล้วในแง่ของการบริโภคจับจ่ายใช้สอย ผู้หญิงเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักจนเป็นที่มาของคำว่า Her Economy นั่นเองค่ะ 
กำลังโหลดความคิดเห็น