xs
xsm
sm
md
lg

จีนกำหนดนโยบายเศรษฐกิจปีหน้า 2019

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ถั่วเหลืองนำเข้าที่ท่าเรือหนันทง มณฑลเจียงซู ภาพวันที่ 9 เม.ย.2018 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
ซินหวา/ไชน่า เดลี่--จีนสามารถรักษาแรงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในระดับที่ดี พร้อมเตรียมการอัดฉีดมาตรการใหม่ๆในปีหน้า เพื่อผลักดันการพัฒนาที่เน้นคุณภาพสูง

สืบเนื่องการประชุมแผนงานเศรษฐกิจส่วนกลาง (Central Economic Work Conference) 3 วัน ระหว่างวันที่ 19 -21ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ประจำปีเพื่อวางแผนเศรษฐกิจที่วงการจับตาและรอคอยดูว่าจีนจะมีไม้เด็ดอะไรในการดันเศรษฐกิจปีหน้า โดยเฉพาะช่วงสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯยังไม่รู้ลูกผีลูกคน

“ด้วยความยืดหยุ่นที่เพียงพอและศักยภาพที่มีอยู่มาก แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจีนยังรักษาระดับที่ดีในระยะยาว เราจะกำหนดนโยบายด้านมหภาค เชิงโครงสร้าง และสังคม เพื่อรับประกันว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับที่เหมาะสม” ที่ประชุมฯสรุป

การประชุมได้กำหนดความสำคัญของนโยบายสำปรับปี 2019 ซึ่งนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีระดับปานกลางในทุกๆด้านภายในปี 2020

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในปีที่ผ่านมา ผู้นำจีนทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากขึ้นในงานด้านเศรษฐกิจภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่

เพื่อรักษาเสถียรภาพความต้องการ (อุปสงค์) จีนจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการปรับตัวต่อความผันผวนในวัฏจักรเศรษฐกิจ (counter-cyclical adjustments) ในการดำเนินนโยบายมหภาค พร้อมกับดำเนินนโยบายการการเงินแบบรอบครอบ และนโยบายการคลังเชิงรุก

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ได้แก่ มาตรการตัดลดภาษีและค่าธรรมเนียมครั้งมโหฬาร หลังจากที่ได้ตัดลดฯไปแล้ว 1.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 188,500 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี 2018 และขยายการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ

“การตัดลดภาษีค่าธรรมเนียมครั้งใหญ่ และการขยายการใช้จ่ายระดับปานกลาง สามารถรักษาเสถียรภาพการเติบโตและปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยต้านปัจจัยไม่แน่นอนภายนอกได้อย่างมาก” ไป๋ จิ้งหมิง รองประธานสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติการเงินแห่งชาติจีน แถลง

จีนจะดำเนินนโยบายการเงินแบบรอบคอบ ที่ “ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป” ขณะรักษาสภาพคล่องในตลาดในระดับสมเหตุสมผล และช่วยธุรกิจภาคเอกชนและขนาดเล็กเข้าถึงเงินทุนโดยตรงมากขึ้น

“นโยบายการเงินแบบรอบคอบนี้หมายถึงว่าจีนจะไม่ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรงซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้าง แต่จะใช้อย่างมีการควบคุมที่เหมาะสมกับจังหวะเวลาและเป้าหมาย” ต้ง ซีเมี่ยว นักวิจัยสถาบันฉงหยังว่าด้วยการศึกษาด้านการเงิน แห่งมหาวิทยาลัยประชาชนจีน (Renmin University of China)

การปฏิรูปที่มุ่งเน้นคุณภาพสูง
กลุ่มนักกำหนดนโยบายชี้ว่าปัญหาหลักด้านเศรษฐกิจคือ เรื่องโครงสร้าง จึงสัญญาว่าจะสืบสานปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทาน (supply-side structural reform) ซึ่งได้เริ่มดำเนินมาเมื่อสามปีที่แล้ว

พร้อมกับเสริมสร้างการปรับปรุงเชิงโครงสร้างที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ โดยจะลดขนาดอุตสาหกรรมที่มากมายเทอะทะ ลดภาระด้านธุรกิจทุกประเภท และอัดฉีดพลังให้กับส่วนที่อ่อนแอ รวมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน

อีกทั้งส่งเสริมตลาดรายย่อย สร้างกฎระเบียบในระบบตลาดที่โปร่งใสและเปิดกว้าง และสร้างสภาพแวดล้อมธุรกิจบนฐานกฎหมาย พร้อมกับส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี บ่มเพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่

“จีนกำลังปรับเปลี่ยนจาก “อัตราเร็ว” ไปสู่ “คุณภาพ” โดยมีความก้าวหน้าในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างซึ่งจะช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่และมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพสูง” เกา กัวลี่ แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาค สังกัดคณะกรรมาธิการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ หรือเอ็นดีอาร์ซี (National Development and Reform Commission)

เปิดกว้างต่อไม่หยุดยั้ง
นักกำหนดนโยบายได้ย้ำสืบต่อการเปิดกว้างจะเป็นงานหลักด้านเศรษฐกิจในปีหน้า โดยจะผลักดันความก้าวหน้าในการเปิดกว้างอย่างถ้วนทั่วทุกด้าน ผ่อนปรนการเข้าสู่ตลาด สร้างหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติในการเปิดเสรี (pre-establishment national treatment) และธุรกิจในบัญชีควบคุม (negative list management) สำหรับกลุ่มบริษัทต่างชาติ ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์กลุ่มบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ในวานนี้(23 ธ.ค.) กลุ่มนักกำหนดนโยบาย นำโดย เหอ ลี่เฟิง รัฐมนตรีแห่งคณะกรรมาธิการการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติ แถลงแผนงานของเอ็นดีอาร์ซี หลังการประชุมแผนงานเศรษฐกิจส่วนกลาง จะเพิ่มความแข็งแกร่งด้านนโยบายเพื่อหนุนการเติบโตฯ โดยมุ่งเน้นไปที่การยกระดับภาคการผลิต และการขยายตัวโครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มนักกำหนดนโยบายระดับสูงสุดตกลงกระตุ้นการบริโภค ขยายการเปิดกว้าง และยกระดับ นวัตกรรมเทคโนโลยี

เหอกล่าวว่าจะส่งเสริมการดึงดูดทุนเอกชนเข้ามายังโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มแรงเข็นยกระดับอุตสาหกรรมเก่า และสร้างศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจใหม่

การบริโภคก็จะมีบทบาทใหญ่ขึ้นในการรักษาเสถียรภาพการเติบโต เอ็นดีอาร์ซีจะออกมาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมมาตรการภายในประเทศ และดึงศักยภาพตลาดภายในที่มีอยู่มหาศาลออกมา

ทั้งนี้ตัวเลขสถิติทางการระบุการบริโภคมีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ คิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ในสามไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภครายได้ระดับกลาง 400 ล้านคน ต้องการสินค้าและบริการคุณภาพสูงจากต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น