xs
xsm
sm
md
lg

สื่อพรรคฯจีน โพสต์ “ยินดีต้อนรับ Google กลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่ ภายใต้กฎหมายจีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าเหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินผ่านป้ายโลโก Google  ในเซี่ยงไฮ้ วันที่ 21 เม.ย. 2016 (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ้ง โพสต์/เอพี--พีเพิล’ส เดลี่ หรือหนังสือพิมพ์ประชาชนจีน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้โพสต์บทความแสดงความเห็นในบัญชีทวิตเตอร์ และเฟสบุ๊คขององค์กร ระบุว่า “ยินดีต้อนรับยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตอเมริกัน Google กลับคืนสู่แผ่นดินจีน ตราบเท่าที่ปฏิบัติตามกฎหมายจีนที่เกี่ยวข้อง” โดยช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อในเครือของพี เพิล’ส เดลี่ คือ โกลบอล ไทม์ส ก็ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการหวนคืนสังเวียนแผ่นดินใหญ่ของ Google

ก่อนหน้า สำนักข่าวเอพี ได้อ้างเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ The Intercept เปิดเผยว่า กูเกิล (Google) ได้จัดทำแอพแอนดรอยด์ ที่จะสกัดเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกโดยโปรแกรมเซ็นเซอร์จีนที่เรียกว่า "Great Firewall" ออกไปอย่างอัตโนมัติ

ขณะที่ The Information รายงานว่า กูเกิล มีแผนจัดทำเว็บไซต์รวบรวมข่าวสารคล้ายกับ “โถวเถียว” (Toutiao /头条) ในจีน นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) เผยว่า กูเกิลกำลังเจรจากับเทนเซนท์ และบริษัทรายอื่นๆ เพื่อเปิดธุรกิจภาคบริการในจีน

ในบทความแสดงความคิดเห็นของพีเพิล’ส เดลี่ ยังระบุว่าการที่ กูเกิล ตัดสินออกจากตลาดจีน “นับเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง ทำให้บริษัทพลาดโอกาสทองคำในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในแผ่นดินใหญ่” พร้อมกับได้กล่าวยินดีต้อนรับกลับสู่จีน “ยินดีต้อนรับกูเกิลกลับสู่แผ่นดินใหญ่ แต่ “ต้อง”ปฏิบัติตามกฎหมายจีนที่เกี่ยวข้อง”

ยักษ์ใหญ่ เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) กูเกิล ออกจากตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ไปเมื่อปี 2010 โดยปิดบริการหลักอันได้แก่ บริการสืบค้นข้อมูล หรือเสิร์ชเอนจิน (Google), จีเมล์ (Gmail) และ กูเกิล แม็ป (Google Maps) สืบเนื่องจากเหตุขัดแย้งการโจมตีโลกไซเบอร์จากจีน และพบว่ามีการแฮ็ค-ล้วงข้อมูลของกลุ่มนักรณรงค์สิทธิมนุษยชนจีน

ในที่สุด ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจินแห่งสหรัฐฯก็เปลี่ยนการเข้าหาโดยปรับตัวเข้ากับกฎเหล็กการเซนเซอร์ของจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความสำคัญของตลาดจีน

ทั้งนี้ The Intercept รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับแผนงานฯ ว่ากูเกิลได้เริ่มจัดทำโปรแกรมเสิร์ชเอนจิน สำหรับผู้ใช้ในแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (2017) และเร่งฝีก้าวเข้ามายังจีนมากขึ้นในเดือนธ.ค. โดยมีการพบปะกันระหว่างนาย Sundar Pichai ซีอีโอของกูเกิล กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงในจีน

อย่างไรก็ตาม การแสดงความยินดีต้อนรับอย่างมีเงื่อนไขจากสื่อทางการจีน ก็ยังมิได้หมายความว่าผู้คุมกฎโลกไซเบอร์จีน จะไฟเขียวให้กูเกิลกลับเข้ามายังจีน

“มันเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดหมายได้เลย แม้กระทั่งว่า กูเกิล สร้างเสิร์ชเอนจินฉบับเซนเซอร์ขึ้นมา และจีนพอใจกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับ” นาย Paul Haswell คู่หุ้นส่วนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของบริษัทกฎหมาย Pinsent Masons ที่มีฐานในฮ่องกง กล่าว

“จีนนั้น เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยจริงๆ ในเรื่องของเนื้อหาและเครื่องมือในโลกออนไลน์ รัฐบาลต้องการหลักประกันว่าจีนสามารถควบคุมสิ่งที่ผู้ใช้กูเกิลสามารถดูและเข้าถึงได้อย่างเด็ดขาด”

ในบทความสื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังได้ชี้อีกว่า “Google” ได้กลายเป็นแบรนด์เชิงการเมือง และนับเป็น “โศกนาฏกรรม” ของบริษัทข้ามชาติที่เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก เนื่องจากในช่วง 8 ปี ที่กูเกิลหายไป ภูมิทัศน์ในโลกอินเทอร์เน็ตแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว จาก 303 ล้านในปี 2010 เป็น 753 ล้านในปัจจุบัน

แม้มีบทแสดงความคิดเห็น “ยินดีต้อนรับ Google “ ในโกลบอล ไทม์ส เผยแพร่ออกมาก็ตาม สื่อจีน ไฉซิน (Caixin) และ ซีเคียวริตี้ เดลี่ (Securities Daily)ได้อ้างแหล่งข่าวผู้คุมกฎโลกไชเบอร์จีน เผยว่า “คณะผู้คุมกฎปฏิเสธความเป็นไปได้ในการกลับคืนสู่จีนของธุรกิจเสิร์ชเอนจินของกูเกิล

Haswell จาก Pinsent Masons กล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเยาะหยันที่ว่าสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในประเทศจีน ใช้ระบบปฏิบัติการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีกูเกิลโดยที่ไม่มีประเด็นใดเลย อย่างไรก็ตาม กูเกิลจะได้รับไฟเขียวกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่ได้ ก็ต่อเมื่อกูเกิลรับรองกับทางการจีนจะอยู่ภายใต้กฎเซนเซอร์เนื้อหา เช่นเดียวกันบริษัทเว็บไซต์จีน

ด้าน นาย โรบิน หลี่ (หลี่ เยี่ยนหง) ประธาน และซีอีโอของไป๋ตู้ (Baidu) คาดว่าเสิร์ชเอนจินจีนจะต้องปะมือกับกูเกิลอีกครั้ง หากยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลจากสหรัฐฯ หวนคืนสู่ตลาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับที่สองของโลก

ทั้งนี้ หลังจากที่กูเกิลออกจากตลาดจีน ไป๋ตู้ได้ครอบงำตลาดเสิร์ชเอนจินในจีน และนับจากวันอังคาร (31 ก.ค.) ที่มีกระคาดเก็งเกี่ยวกับการคืนสู่แผ่นดินใหญ่ของกูเกิล หุ้นของไป๋ตู้ ร่องผล็อยไป 7 เปอร์เซ็นต์


กำลังโหลดความคิดเห็น