xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือคนไทยในจีน : เรื่องที่ควรรู้เพื่อความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวหยาซาน อำเภอหลูซาน มณฑลเสฉวน วันที่ 20 เม.ย.2556 (ภาพ รอยเตอร์)
ประเทศจีนมีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่าง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้น อย่างไรก็ตามทางจีนมีมาตราการเฝ้าระวัง อาทิ การใช้ดาวเทียมสังเกตการณ์ การจัดตั้งหน่วยงานท้องถิ่นที่มีเครื่องมือพร้อมรับมือภัยพิบัติ การซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติกับประชาชนในท้องที่ โดยล่าสุดรัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่นวางแผนป้องกันและภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 คนไทยควรจะติดตามฟัง ข่าว และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่ที่มีความเสี่ยงสูง

6.1 ข้อแนะนำสำหรับคนไทยในการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
1. เก็บหนังสือเดินทางไว้กับตนเอง ไม่ฝากไว้กับผู้อื่น โดยเก็บไว้ในที่ที่สามารถหยิบได้ทันทีในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้ง คอยต่ออายุวีซ่าเมื่อวีซ่าใกล้หมดอายุลง เพื่อให้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ทันที หากจำเป็น
2. พกเบอร์ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่เกี่ยวข้องไว้กับตัวตลอดเวลา
3. พยายามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนคนไทยอย่างสม่ำเสมอ และแลกเบอร์ติดต่อกับแกนนำชุมชน (เช่น ประธานนักเรียน) เพื่อจะได้รับข่าวสารทันท่วงที
4. ตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสาร และยานพาหนะ (หากมี) ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และควรมีแผนที่ของเมืองที่อยู่ติดไว้ที่บ้านหรือติดตัวไว้ด้วย
5. สำรองอาหารแห้งและอาหารกระป๋อง
6. ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่เสมอ
7. ศึกษาแผนช่วยเหลือ/อพยพคนไทย ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปกั กิ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินควรทำอย่างไร
หากได้รับแจ้งว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินควรติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ ทันที หรือแจ้งให้แกนนำคนไทยทราบ พร้อมทั้งเตรียมหนังสือเดินทางและแผนที่ให้พร้อมในระหว่างรอการประสานเพื่อนัดพบหากจำเป็นต้องขนย้ายคนไทยออกจากพื้นที่ และกระจายข่าวให้บุคคลที่ตนรู้จักทราบโดยทั่วกัน

6.2 การปฏิบัติตัวกรณีถูกควบคุมตัว
เมื่อถูกจับกุมไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ต้องสงสัยที่เป็นคนไทยมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่หรือสถานเอกอัครราชทุตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิที่จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาสมควรได้รับ และจะได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางช่วยเหลือภายใต้กฎหมาย ท้องถิ่น รวมถึงช่วยติดต่อญาติในประเทศไทยหรือติดต่อจัดหาล่ามหรือทนายความให้ หากคนไทยผู้นั้นไม่คัดค้านการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่

6.3 คำเตือนกรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ
การมียาเสพติดไว้ในครอบครองเกิน 50 กรัม ศาลอาจพิจารณาตัดสินให้รับโทษจำคุก 20 ปี หรือตลอดชีวิต หรือโทษขั้นสูงสุดคือการประหารชีวิตก็ได้

ปัจจุบันมีนักโทษชาวไทยที่ต้องโทษในข้อหาลักลอบขนยาเสพติดที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก โดยมีคนผิวดำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวแอฟริกันที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยและทำธุรกิจบังหน้า เช่น ซื้อเสื้อผ้า คนเหล่านี้จะชักชวนคนไทยโดนเฉพาะหญิงไทยให้เป็นผู้ขนส่งยาเสพติด โดยจะทำตัวตีสนิทและใช้เงินว่าจ้างเหยื่อ ซึ่งมีทั้งสมัครใจและถูกหลอกลวงให้เดินทางไปประเทศที่สองเพื่อรับยาเสพติดจากผู้ค้า หลังจากนั้นจะให้เหยื่อใช้วิธีสอดไส้ไว้ในกระเป๋าเดินทาง หรือซุกซ่อนตามร่างกายโดยเฉพาะการกลืน หรือสอดใส่ไว้ในช่องคลอด ทวารหนัก หรือผ้าอนามัย ก่อนให้เหยื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจีน โดยใช้เส้นทางทั้งทางบก หรือทางอากาศ เช่นเดินทางจากไทยไปอินเดียเพื่อรับยาเสพติดและเดินทางเข้าประเทศจีนหรือประเทศที่สามเช่นมาเลเซียหรือฮ่องกง หรือไทยก่อนเดินทางเข้าประเทศจีน เมื่อคนไทยเหล่านี้ถูกจับกุมก็จะได้รับโทษจำคุกหรือประหารชีวิต

**หมายเหตุ - คอลัมน์ คู่มือคนไทยในจีน นี้นำข้อมูลจากคู่มือคนไทยในจีน จัดทำโดย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ฉบับ กันยายน 2553 ซึ่งคุณเปี่ยมศักดิ์ มิลินทจินดา เอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เวลานั้น ได้กล่าวในคำนำฯ ว่า "ในปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศที่มีคนไทยเดินทางมาประกอบธุรกิจและศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศจีนในทุกด้านให้แก่คนไทยก่อนที่จะเดินทางมาใช้ชีวิตหรือท่องเที่ยวในประเทศจีน จะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในสังคมจีนได้เร็วมากยิ่งขึ้น

(สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.thaiembbeij.org/upload/thaiembbeij/thai-print.pdf)
กำลังโหลดความคิดเห็น