xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดตัว “ระบบเครือข่ายควอนตัมเชิงพาณิชย์” แห่งแรก ปลอดภัยไร้แฮกเกอร์กวนใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะนักวิทยาศาสตร์จีนเป็นชาติแรกในโลกที่สามารถพัฒนาดาวเทียมสื่อสารส่งข้อมูลรหัสจากอวกาศในระบบควอนตัม ซึ่งไม่สามารถจารกรรมลักลอบถอดรหัส และกล่าวได้ว่าโครงการนี้คือการปฏิวัติการสื่อสารของโลก (ภาพซินหวา)
กลุ่มสื่อจีนรายงาน (14 ก.ย.) เมื่อไม่นานมานี้ จีนได้เปิดให้บริการระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัมเพื่อการพาณิชย์ ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ขึ้นที่มณฑลซันตง

รายงานระบุว่า รัฐบาลจีนได้ก่อสร้างวางระบบดังกล่าว โดยใช้ระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ มีหน่วยงานรัฐบาลได้ใช้บริการดังกล่าวแล้วกว่า 200 แห่ง

นักวิทยาศาสตร์จีนต่างมีความหวังว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะปกป้องระบบสารสนเทศสำหรับโลกไซเบอร์ในอนาคตได้มากขึ้นถึงร้อยละ 120 และมีแผนที่จะใช้ดาวเทียมควอนตัมครอบคลุมการสื่อสารทั่วโลกภายในปี 2030

ในปี 2557 จีนได้เผยแผนสร้างระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัม(Quantum Communication Network) ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร จากปักกิ่งถึงเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัมดังกล่าวในส่วนแรก ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอานฮุย กับนครเซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 712 กิโลเมตรเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้กลายเป็นระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัมที่ยาวที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา จีนยังเป็นรายแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสื่อสารควอนตัม “ QUESS” (Quantum Experiments at Space Scale) ขึ้นสู่วงโคจร โดยมีพิสัยทำการกว่า 600 กิโลเมตร จะโคจรรอบโลกในทุกๆ 90 นาที หลังจากที่เข้าสู่วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun - synchronous orbit) ที่ระดับสูง 500 กิโลเมตร

ในทางทฤษฎีแล้ว ระบบเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัมถือเป็นระบบการสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูงต่อการถูกดักฟังหรือถูกขโมยข้อมูล เพราะใช้การกระจายรหัสความปลอดภัยเชิงควอนตัม (quantum cryptographic key distribution) ซึ่งมีอนุภาคสื่อนำข้อมูลสองตัว ได้แก่ คิวบิตของโฟตอน (photonic qubit) และคิวบิตของอะตอม (atomic qubit) พัวพันเชิงควอนตัมกันอยู่ ฉะนั้นหากมีการรบกวนอนุภาคหนึ่งอนุภาคใดในระบบนี้ อนุภาคอื่นๆ ในระบบจะมีผลกระทบทันที ทำให้สามารถตรวจจับผู้ดักฟังได้อย่างรวดเร็ว

กำลังโหลดความคิดเห็น