xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-จีน ชื่นมื่นในซัมมิต BRICS เตรียมลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูง โรดแมปความสัมพันธ์ 5 ปี และเอ็มโอยูพัฒนาเส้นทางสายไหมร่วมกับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาพ MGROnline)
นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาพ MGROnline)

MGRONLINE/ซย่าเหมิน -- จีนเปิดการประชุมสุดยอดกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย. ณ นครซย่าเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน พร้อมผลักดันการขยายวงความร่วมมือ BRICS PLUS โดยเชิญ 5 ชาติ ได้แก่ ไทย อียิปต์ กินี เม็กซิโก และทาจิกิสถาน เข้าร่วมการประชุมฯร่วมกับกลุ่มสมาชิก BRICS ภายใต้หัวข้อ การเจรจากลุ่มตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังนับเป็นปีแรกของการประชุม BRICS ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุมฯ

ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กลุ่มสมาชิก BRICS มีประชากรรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของโลก และขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ สูงจากระดับ 12 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตเศรษฐกิจการค้าของ 5 ประเทศสมาชิก BRICS ได้ช่วยกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจโลกถึงกึ่งหนึ่ง ปริมาณการค้าและการลงทุนในต่างแดนของทั้งห้าชาติ คิดเป็นสัดส่วน 16 เปอร์เซนต์ และ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สูงจากระดับการเติบโตในปี 2006 ซึ่งอยู่ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ และ 7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

เอกอัคราชทูตไทยประเทศกรุงปักกิ่ง นาย พิริยะ เข็มพล เผยถึงบทบาทของไทยในซัมมิต BRICS ครั้งนี้ โดยระบุว่าจีนมีความคิดขยายกลุ่ม BRICS PLUS โดยเชิญประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆมาประชุมพูดคุยกับประเทศสมาชิกBRICS เพื่อสร้างเวทีขยายวงความร่วมมือสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ (South-South Cooperation) กลุ่มประเทศที่จีนได้เชิญมาร่วมวงเจรจา BRICS PLUS ได้แก่ ไทย อียิปต์ กินี เม็กซิโก และทาจิกิสถาน ซึ่งจะประชุมความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และและประเทศกำลังพัฒนา ในวันที่ 5 ก.ย.นี้

สำหรับสมาชิกใน BRICS PLUS อาจหมุนเวียน ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องของประเทศสมาชิก เป็นการขยายกลุ่มความร่วมมือในลักษณะเดียวกับ ASEAN+3 สำหรับปีนี้ เป็นกลุ่ม 5 ประเทศ ปีหน้าอาจเชิญประเทศอื่นๆมาร่วมประชุมฯ ในอนาคตอาจขยายวงความร่วมมือสู่กลุ่มประเทศโลกใต้ ทำนองเดียวกับที่มีความร่วมมือในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ อย่าง กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G7 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มั่งคั่ง ส่วนกลุ่มประเทศทางใต้ (ใต้เส้นศูนย์สูตร) เป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา

นอกจากนี้ นาย พิริยะ ยังได้เปิดเผยว่าระหว่างซัมมิต ไทยและจีนจะลงนามร่วมกันในเอกสาร 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก คือ แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทยจีน ระหว่าง 5 ปีข้างหน้า (2560-64) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศจีน หวัง อี้ จะลงนาม โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสักขีพยานการลงนามฯ ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นการวางกรอบความร่วมมือกันระหว่าง 5 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 20 สาขา เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความร่วมมือด้านภูมิภาค พหุภาคี ซึ่งสอดคล้องกับแผนกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ของไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 13

สัญญาฉบับที่สอง คือ การลงนามสัญญาการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย คือสัญญาการออกแบบและการควบคุมงาน เส้นทางรถไฟความเร็วสูงนี้ เป็นเส้นทางรถไฟผู้โดยสาร จะเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2021

ในอนาคต เส้นทางรถไฟกรุเทพฯ-หนองคาย จะไปเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่เชื่อมเส้นทางจากคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มายังกรุงเวียงจันทน์ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญมากที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มาเป็นสักขีพยานในการลงนามฯ รถไฟความเร็วสูงสายนี้เป็นสัญลักษณ์ความคืบหน้าของนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ร่วมกับไทยในการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) จีนต้องการให้มีการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค เอเชีย ยุโรป แต่ไม่มีเส้นทางไหนที่สร้างเป็นรูปธรรมเท่ากับเส้นทางนี้ ที่จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ หนองคาย ลาว คุนหมิง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงขนส่งผู้โดยสารเส้นแรก ส่วนเส้นทางรถไฟสายๆอื่น ที่เชื่อมจีนกับเอเชีย ไปถึงยุโรปนั้น ล้วนเป็นเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้า จีนจึงให้ความสำคัญมาก เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนจะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง


 ฉบับที่สามคือ การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางบก และเส้นทางสายไหมทางทะเล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม 

"ฝ่ายจีนต้องการบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศ เพื่อสร้างความชัดเจนว่าความร่วมมือในนโยบาย หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง จะมีอะไรบ้าง และสร้างความชัดเจนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาที่ยั่งยืน การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เอ็มโอยูฉบับนี้จะเป็นประโยชน์กับไทย เนื่องจากทางไทยมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อยู่แล้ว และการเชื่อมโยงกับจีน ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการร่วมมือพัฒนา

“ถ้าไม่มีเอ็มโอยู ก็จะเป็นแค่คำพูด เป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายเราด้วยว่า ระเบียงเศรษฐกิจและโครงการพัฒนาต่างๆของไทย เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงดูดความสนใจนักธุรกิจ นักลงทุนจากจีน เนื่องจากมีสัญญากันในเชิงนโยบาย เมื่อมีเอ็มโอยู หลายๆโครงการของเราได้รับการยอมรับเข้าไปอยู่ในกรอบของ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” นาย พิริยะ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น