xs
xsm
sm
md
lg

ยังคงไม่มีอนาคต สำหรับอูเบอร์ ในฮ่องกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

เหตการณ์ โชเฟอร์แท็กซี่ร่วมร้อยคนจากย่านอ่าวเกาลูน (Kowloon Bay) และไซวานโฮ (Sai Wan Ho) รวมพลังขับรถบุกรัฐสภาฮ่องกง เรียกร้องทางการออกโรงปราบแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2558 (ภาพเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์)
MGR Online/ เอเจนซี - ขณะที่บริการแท็กซี่ในฮ่องกงเริ่มจะเป็นฝ่ายเลือกลูกค้า เลือกผู้โดยสาร แทนที่ลูกค้า หรือผู้โดยสารเป็นผู้เลือก ทำให้เกิดพื้นที่ความต้องการบริการแท็กซี่อูเบอร์ อันเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่บนฐานเศรษฐกิจ 4.0 นำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนธรรมชาติการทำงานและบริการ แต่ความต้องการนี้ของประชาชน ยังไม่อาจตอบสนองได้ในเร็ววัน

เขตปกครองพิเศษฮ่องกง แม้จะเป็นดินแดนเศรษฐกิจเสรี แต่ก็ประสบปัญหากับธุรกิจ 4.0 อย่าง แท็กซี่อูเบอร์ เช่นกัน หากใครจำได้ ในเดือนเดียวกันนี้ กรกฎาคม เมื่อสองปีก่อน (พ.ศ.2558) โชเฟอร์แท็กซี่ร่วมร้อยคนจากย่านอ่าวเกาลูน (Kowloon Bay) และไซวานโฮ (Sai Wan Ho) รวมพลังขับรถบุกรัฐสภาฮ่องกง เรียกร้องทางการออกโรงปราบแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ผ่านสมาร์ทโฟน

โชเฟอร์รายหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาต้องการประท้วงคนขับแท็กซี่อูเบอร์ ซึ่งไม่ได้มีใบอนุญาตขับแท็กซี่ โดยที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน เรียกรถแท็กซี่ เช่น อูเบอร์ ทำให้พวกเขาเสียรายได้ไปราววันละ 200 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 900 บาท

สมัยก่อนที่จะมีแอปพลิเคชั่นแบบนี้ พวกเขาสามารถหารายได้ต่อเดือนราว 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 90,000 บาท) แต่หลังจากผู้คนเริ่มใช้บริการผ่านแอพฯ ดังกล่าว รายได้ของเขาก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ นอกจากนี้พวกเขายังต้องเสียค่าใบอนุญาตขับแท็กซี่ราคาแพงลิบ แถมต้องแบกรับภาระเบี้ยประกันภัยรถยนต์ต่อปีสูงถึง 25,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราวหนึ่งแสนกว่าบาทอีกด้วย

รายได้ของผู้ขับแท็กซี่ในระบบนั้น ปัจจุบันตกราวเดือนละ 25,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (หนึ่งแสนกว่าบาท) ซึ่งสูงกว่ารายรับของงานแรงงานกึ่งทักษะวิชาชีพ มีค่าเช่าแท็กซี่วันละ 440 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 1,884 บาท) ขับกะละ 10 ชั่วโมง หากจะซื้อป้ายฯ ต้องจ่ายป้ายละ 7 ล้านดอลลาร์ (30 ล้านบาท) ขณะที่ราคารถยนต์ตกคันละ 250,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ประเมินคร่าวๆ ว่ามีรถแท็กซี่คุมจำนวนวิ่งในฮ่องกงอยู่ราว 18,000 คัน ดังนั้นรัฐบาลจะมีรายได้ที่นำกลับมาทำประโยชน์ให้ท้องถิ่นและอุตสาหกรรมนี้ราว 126,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (539,674 ล้านบาท)

ด้านรัฐบาลฮ่องกง ได้เริ่มปรับตัวตอบสนองความต้องการประชาชน เพื่อปกป้องธุรกิจเดิมและพยายามให้ธุรกิจใหม่อย่าง อูเบอร์ อยู่ในกฎเกณฑ์ส่วนกลาง ไม่ใช่อ้างแต่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจบริการ จนเกิดปรากฏการณ์ต่อต้านแอพฯ เรียกแท็กซี่ เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จีนแผ่นดินใหญ่ ถึงกับออกกฎห้ามรถยนต์ส่วนตัวเสนอให้บริการรับส่งผ่านแอพฯ และบุกตรวจสอบสำนักงานของบริษัทอูเบอร์ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน และเมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง มาแล้ว

รัฐบาลฮ่องกง รู้ดีว่าประชาชนแสดงความต้องการบริการที่ดี มีนวัตกรรม ดังนั้น ล่าสุด เดือนเมษายน ปีนี้ รัฐบาลเตรียมเสนอแผนออกทะเบียนให้แท็กซี่บริการระดับหรู 600 คัน เพื่อแก้ปัญหาข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับแท็กซี่ซึ่งมีพฤติกรรมแย่ๆ โดยข้อมูลสำนักงานการขนส่งฮ่องกง ระบุว่า ขณะนี้บนถนนในฮ่องกง มีแท็กซี่จดทะเบียนให้บริการราว 18,163 คัน ขณะที่ข้อเสนอใหม่ จะเพิ่มรถแท็กซี่อีกราว 600 คัน และจะเป็นแท็กซี่ที่ผ่านการฝึกอบรมการขับ ให้บริการระดับหรูหราพิเศษ และอยู่ระหว่างหารือค่าบริการกับรัฐบาล นอกจากนี้ ฮ่องกง ยังมี Called SynCab ผู้ให้บริการแท็กซี่พิเศษ สำหรับคนพิการ มีรถยนต์ในหน่วยงาน 130คัน รวมถึงรถที่ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ 74 คัน ตลอดจนผู้บรรทุกกระเป๋าขนาดใหญ่ ขณะที่ค่าโดยสารของ Called SynCab ก็ไม่ต่างจากแท็กซี่ปกติทั่วไป

ปีเตอร์ ฟอร์ธไซท์ คอลัมนิสต์ประจำเซาท์ไชน่ามอร์นิง โพสต์ สื่อฮ่องกง กล่าวเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน โต้แย้งคำกล่าวของ แอนโธนี ปิงเหลิง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมฮ่องกง ที่ว่า อูเบอร์คือธุรกิจ ที่ไม่อยู่ภายในการกำกับดูแลของรัฐ ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนยอมให้ทำแบบนั้น โดยปีเตอร์ ฟอร์ธไซท์ ยกตัวอย่างหลายประเทศที่อูเบอร์ถูกกฎหมาย รวมถึง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และเปรียบว่ารัฐบาลห่วงเจ้าของอู่แท็กซี่ มากกว่าประชาชน การจะบังคับให้แท็กซี่อูเบอร์มาอยู่ในกฎเช่นกิจการแท็กซี่เดิมๆ เป็นเหมือนการตัดเท้าให้เข้ากับเกือก แทนที่จะพัฒนาบริการแท็กซี่ให้มีการแข่งขันกันเสรีเพื่อประโยชน์ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่วิถีชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว

ปีเตอร์ เห็นว่าอย่างไรเสีย รัฐบาลฮ่องกง น่าจะรับแท็กซี่อูเบอร์ซึ่งเป็นธุรกิจนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นทางเลือก สร้างความหลากหลายของการเดินทางโดยสาร และการพัฒนาปรับปรุงของผู้ให้บริการ

ในอีกด้านหนึ่งทางฝั่งตรงข้าม มองว่า อูเบอร์ จะเรียกตัวเองเป็นเศรษฐกิจแบบ “sharing economy” คงไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจกำไร ซึ่งเมื่อเป็นแบบนั้น จึงต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์การค้าของรัฐบาล นิโคลัส หยัง เว่ย รัฐมนตรีกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ของฮ่องกง เพิ่งกล่าวในที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เมื่อเดือนก่อนว่า กระทรวงจะอนุมัติธุรกิจนี้ ต่อเมื่อดำเนินธุรกิจตามกฎระเบียบ หาไม่เช่นนั้น ก็คือธุรกิจผิดกฎหมาย

เศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เน้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกำลังการผลิตที่เหลือของทรัพยากรที่มีอยู่ ที่ประสบความสำเร็จนั้น มีตัวอย่างเช่น eBay เว็บไซต์ประมูลออนไลน์ ซึ่งเปิดเมื่อปี ค.ศ.1995 จากจุดเริ่มเป็นฐานให้กับบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้เก่าๆ ที่ไม่ต้องการแล้ว อันเป็นการเริ่มต้นแบบธรรมชาติของประชาธิปไตยในการซื้อขาย เป็นเวทีที่เท่าเทียม กระจายรายได้ แต่ปัจจุบัน eBay ไม่ได้เป็นเว็บไซต์ประมูลเสียทีเดียวแล้ว ดูจะเป็นออนไลน์สโตร์มากกว่า

เมื่ออูเบอร์เอง ก็เป็นธุรกิจ ดังนั้นการจดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นหนทางเดียว และอูเบอร์ไม่ควรซ่อนตัวอยู่หลังป้ายคำว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน “sharing economy” เพราะไม่ได้มีปัจจัยใดที่จะดูเป็นการเอารถมาแบ่งกันใช้ หากคือการรับจ้างเป็นกิจลักษณะ ซึ่งควรอยู่ในกฎควบคุมราคา และจำกัดจำนวน ตลอดจนสามารถตรวจสอบรายได้เพื่อคำนวณภาษีคืนประโยชน์กับท้องถิ่นที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ ยังไม่พึงมีแนวโน้มในลักษณะผูกขาดได้ในอนาคต กิจการอูเบอร์ไม่มีหลักการวัตถุประสงค์ในรูปสหกรณ์อันเป็นประโยชน์ทุกฝ่าย สอดรับกับประชาธิปไตย แต่กลับเป็นประโยชน์กับส่วนยอดเจ้าของผู้ก่อตั้ง นอกจากนี้ ปัญหาผู้ขับแท็กซี่อูเบอร์เมื่อมีจำนวนมากขึ้น การคำนวณค่าบริการ รายได้ของผู้ขับ ระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ย่อมถูกกำหนดฝ่ายเดียวจากผู้ก่อตั้ง อันจะเป็นปัญหาต่อไปถึงผลประโยชน์ไม่เป็นธรรม ที่คนทำอยู่ไม่ได้ก็เพียงออกไป คนใหม่มาหมุนเวียนแทนในวังวนเดิมๆ

เทรบอร์ สโคลซ์ และ นาธาน ชไนเดอร์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือ "Platform Cooperativism: The Internet, Ownership, Democracy" แสดงความเห็นว่า ฐานบริการแบบสหกรณ์จำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศน์อันยั่งยืนของตนเอง มีเจ้าของร่วมที่สมดุล ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทำกำไรมากน้อยไม่สมดุลตามขนาดเศรษฐกิจ นอกจากนั้นอนาคตการทำงานของคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ควรต้องฝากชะตาชีวิต ที่กำหนดโดยเจ้าของนักลงทุนจากซิลิคอนแวลลีย์
กำลังโหลดความคิดเห็น