xs
xsm
sm
md
lg

การนำปรัชญาอาหารจีนปรับใช้ในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย พชร ธนภัทรกุล

การนำหลักยินหยางและหลักห้าธาตุมาปรับใช้นั้น เรื่องยินหยาง (阴阳) คงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่เรื่องห้าธาตุ คงต้องดูรายละเอีนดกันสักนิด เหตุเพราะจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลาและฤดูกาลที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเมื่อที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ทำให้เราไม่มีสี่ฤดูในรอบปีเหมือนประเทศจีน แต่เรามีเพียงสองฤดู คือฤดูแล้งกับฤดูฝนเท่านั้น และแม้แบ่งย่อยลงไป ก็ยังมีเพียงสามฤดู คือร้อน ฝน และหนาว เราจะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพอากาศก่อน สภาพอากาศมีห้าแบบ คือลม ร้อน ชื้น แล้ง หนาว โดยมีห้าธาตุกำกับดังนี้

ลมกำกับด้วยธาตุไม้ ร้อนกำกับด้วยธาตุไฟ ชื้นกำกับด้วยธาตุดิน แล้งกำกับด้วยธาตุโลหะ และหนาวกำกับด้วยธาตุน้ำ

ทีนี้เราก็มาพิจารณาสภาพอากาศของฤดูต่างๆในไทย ซึ่งก็ได้ความว่า

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน เริ่มเข้าฤดูร้อน อากาศเริ่มอุ่นขึ้น มีลมตะเภา ลมที่เราใช้เล่นว่าวกัน เนื่องจากช่วงนี้มีลมพัดจัด ธาตุที่ใช้กำกับช่วงนี้ คือธาตุไม้

พอถึงช่วงกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอบอ้าวมาก จากสถิติของกรอุตุนิยมวิทยา กลางเดือนเมษายนคือช่วงที่มีอุณหภูมิสูงสุด ช่วงนี้กำกับด้วยธาตุไฟ

พอเข้ากลางเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน อากาศเริ่มคลายร้อนและชื้นมากขึ้น ฝนเริ่มตก แต่จะมี "ช่วงฝนทิ้ง" ประมาณปลายเดือนมิถุนายน ราว 1 - 2 สัปดาห์ แต่บางปีอาจนานนับเดือน ฝนจะกลับมาตกชุกอีกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ช่วงนี้อากาศจะมีความชื้นสูงสุด ธาตุที่ใช้กำกับช่วงนี้ คือธาตุดิน

ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน อากาศเริ่มเย็นลง พืชผลในไร่นาเริ่มสุกแก่เต็มที่ ให้เก็บเกี่ยวได้ ช่วงนี้กำกับด้วยธาตุโลหะ

ระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคม อากาศเย็นลงจนหนาวและแล้ง จากสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา สองเดือนนี้มักมีอุณหภูมิต่ำสุด บางปีอาจมีอากาศหนาวจัด คือ ต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส ช่วงนี้กำกับด้วยธาตุน้ำ

เมื่อเอาห้าธาตุกำกับแต่ละช่วงของฤดูได้แล้ว เราก็จะรู้ว่า ช่วงไหน ควรเน้นกินอาหารในธาตุไหน เรื่องที่ควรรู้ต่อไปคือ ธาตุไหนกำกับอวัยวะไหนบ้าง ซึ่งแจกแจงได้ดังนี้

ธาตุไม้กำกับตับ น้ำดี และตา

ธาตุไฟกำกับหัวใจ ลำไส้เล็ก และลิ้น

ธาตุดินกำกับม้าม กระเพาะอาหาร และปาก

ธาตุโลหะกำกับปอด ลำไส้ใหญ่ และจมูก

ธาตุน้ำกำกับไต กระเพาะปัสสาวะ และหู

เมื่อรู้ธาตุที่กำกับฤดูกาลและอวัยวะในร่างกายแล้ว เราก็จะรู้ว่า ฤดูไหน ควรกินอาหารอะไรที่อยู่ในธาตุเดียวกัน และกินแล้วให้ประโยชน์แก่อวัยวะส่วนไหนของร่างกาย

เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางพฤษภาคม ควรเน้นอาหารในธาตุไม้ หรือรสเปรี้ยวก็ได้ เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ปวยเล้ง ผักบ๊อกฉ่อยหรือกวางตุ้งไต้หวัน หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดเข็มทอง ถั่วลันเตา ถั่วเขียว ผลกีวี่ ส้มโอ สัตว์น้ำเช่น ปลาทู ปลาหมึก หอยขม เครื่องปรุงรสเช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มสายชู เครื่องดื่มเช่น น้ำส้มคั้น น้ำบ๊วยดอง น้ำเก๊กฮวย เป็นต้น อาหารเหล่านี้ กินแล้วดีต่อตับและสายตา ควรงดกินขึ้นฉ่ายในช่วงนี้

เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ควรเน้นอาหารในธาตุไฟ หรือจะเป็นรสขมก็ได้ เช่น ถั่วแดง พุดซาจีนแปะก้วย ลิ้นจี่ มะพลับ พริกสดสีแดง มะระจีน ผักกาดกวางตุ้ง ผักโสภณ ชุงฉ่าย ผักกาดเขียวหรือผักกาดขม แครอท มะเขือเทศ เชอร์รี่ ส้มโอ เนื้อแพะ หัวใจหมู หัวใจวัว ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ซอสพริก ชาดำ เบียร์ เป็นต้น

อาหารเหล่านี้ ดีต่อระบบเลือด ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรงขึ้น ช่วงอากาศร้อนอบอ้าวนี้ เรามักหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งแสดงว่าหัวใจทำงานหนักขึ้น ใส่เชอร์รี่หรือส้มโอในสลัดผลไม้ด้วย ก็อาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอารมณ์ดีขึ้น และช่วยบำรุงหัวใจด้วย

กลางเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ควรเน้นอาหารในธาตุดิน หรือรสหวาน เช่น ถั่วเหลือง ข้าวเหนียว ข้าวโพด ส้มชนิดต่างๆ กล้วยหอม ฟักทอง มันฝรั่ง มันเทศ เนื้อวัว ลิ้นหมู ปลาไน ปลานิล น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะกอก ซีอิ๊ว นมวัว น้ำผึ้ง เป็นต้น

อาหารเหล่านี้ ดีต่อระบบการย่อยอาหาร ช่วยขจัดพิษในเลือด และบำรุงผิวพรรณให้เนียนนุ่มขึ้น

กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ควรเน้นอาหารในธาตุโลหะ หรือรสเผ็ด เช่น ข้าวเจ้า ลูกเดือย งาขาว ท้อ สาลี่ ไช้เท้า เห็ดหูหนูขาว หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริก ต้นหอม ขิง กุยช่าย ผักชี พริกไทย ต้นกระเทียม วาซาบิ เผือก แมงกะพรุน ปลาไหล ปอดหมู น้ำมันมะกอก น้ำมันงา กะหรี่ พริกหอมหรือชวงเจีย ยี่หร่า เป็นต้น

อาหารเหล่านี้ ดีต่อปอด ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลขึ้น ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ มักมีอาการไอกันมาก อวัยวะที่ควรบำรุงดูแลที่สุด คือปอด จึงต้องใช้อาหารในธาตุโลหะเหล่านี้มาช่วยบำรุงปอดให้แข็งแรงไว้

กลางเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ควรเน้นอาหารในธาตุน้ำ หรือรสเค็ม เช่น ถั่วดำ งาดำ ลำไยแห้ง บลูเบอรี่ เห็ดหอม เกาลัด ยอดลันเตา มะเขือยาวสีม่วง คากิหรือตีนหมู ไก่ดำ(กระดูกต้องดำ) ปลาดุก ตะพาบน้ำ ปลิงทะเล เกลือ เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ น้ำเปล่า น้ำแร่ เป็นต้น

อาหารเหล่านี้ ช่วยบำรุงไต กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และชะลอความชรา

การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมออาจมีหลายวิธี และการกินอาหารให้ถูกธาตุตามฤดู ก็เป็นวิธีที่ง่ายอีกวิธีหนึ่ง ที่ไม่ควรพลาดครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น