xs
xsm
sm
md
lg

Peace Mission 2005 กับสถานการณ์ปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

“เฉพาะหน้านี้ จีนและรัสเซียกำลังเผชิญกับภารกิจอันเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ ต่างจึงต้องการสภาพแวดล้อมที่มีสันติภาพและเสถียรภาพทั้งในระดับโลกและภูมิภาคชายขอบของตน แต่ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศก็ถูกสหรัฐฯมองว่าเป็นเป้าหมายหรือเป้าหมายแฝงที่ต้องยับยั้งขัดขวางไม่ให้เติบโต และ การที่สหรัฐฯขยายอิทธิพลมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ภูมิภาคด้านตะวันออกของจีนและตะวันตกของรัสเซียต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พื้นที่ทางยุทธศาสตร์แถบนี้ของจีนและรัสเซียถูกบีบคั้นอย่างหนัก ซึ่งทั้งสองประเทศย่อมอยากให้ภูมิภาคเอเชียกลางมีเสถียภาพเพื่อค้ำจุนทางยุทธศาสตร์ของตน”

ผมเอาความเห็นของหลี่หย่งมาลงอีกครั้ง ก็เพราะคิดว่าน่าจะเขียนอะไรเพิ่มเติมไปจากที่เขียนไว้แล้ว ครั้งที่แล้วผมพูดถึงภาพรวมกว้างๆไว้ 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับความวิตกกังวลของทั้งจีนและรัสเซียต่อการขยายอิทธิพลทางทหารและทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่ดูจะประชิดติดชายขอบสองประเทศนี้เข้าไปทุกที อีกประเด็นคือ จีนกับรัสเซียจะเป็นพันธมิตรกันได้แค่ไหนอย่างไร

วันนี้ผมขอพูดเฉพาะเจาะจงลงไปในจุดมุ่งหมายหนึ่งของการซ้อมรบครั้งนี้ ข้อความที่ทำตัวเข้มไว้คือสาระสำคัญ ซึ่งจะขอพูดแต่ภูมิภาคด้านตะวันออกของจีน ซึ่งแม้หลี่หย่งจะไม่ได้ระบุว่าเป็นพื้นที่ส่วนไหน แต่ผมขอฟันธงให้เลยว่าคือ คาบสมุทรเกาหลี

เมื่อจีนกับรัสเซียสามารถตกลงปัญหาชายแดนด้านตะวันออกของทั้งสองฝ่ายได้ และกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกันไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องที่เคยระหองระแหงทะเลาะกันไม่หยุดหย่อนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสันดอนกลางแม่น้ำเฮยหลง (Heilong river) หรือที่รัสเซียเรียกว่า แม่น้ำอามูร์ (Amur river) ก็พลอยบรรเทาเบาบางลงไปด้วย ซึ่งมีส่วนช่วยให้การซ้อมรบครั้งนี้เป็นจริงขึ้นได้ โดยที่ทั้งสองประเทศได้หันไปวิตกกังวลกับการพยายามขยายอิทธิพลของสหรัฐฯแทน ในอดีต จีนและรัสเซีย (เวลานั้นคือสหภาพโซเวียต) เคยจับมือต่อต้านสหรัฐฯในสงครามเกาหลีช่วงทศวรรษ 1950 ด้วยกันมาแล้ว

การเจรจาปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ คุยๆหยุดๆกันมาเป็นปีก็ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน ล่าสุดเกาหลีเหนือขอเก็บโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติไว้ แต่สหรัฐฯไม่เห็นด้วย รายงานล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) ระบุว่า จีนเห็นด้วยกับเกาหลีเหนือ แต่มีเงื่อนไขว่าเกาหลีเหนือต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ตามบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ก็บอกเห็นด้วยกับเหตุผลของเกาหลีเหนือมาแล้ว

ปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยืดเยื้อเรื้อรังมานานมาก ประเด็นสำคัญหนึ่งคือ เรื่องความมั่นคงปลอดภัยของทางการเปียงยาง ผู้นำเกาหลีเหนือวิตกมาตลอดว่า สหรัฐฯจะใช้กำลังทหารจัดการกับตนเช่นเดียวกับที่ทำกับอิรักและอาฟกานิสถาน จึงเรียกร้องมาตลอดขอให้สหรัฐฯมาลงนามสัญญาไม่รุกราน แต่สหรัฐฯไม่เล่นด้วย แต่บอกจะรับรองให้เป็นลายลักษณ์อักษรแทน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่เอาด้วยเช่นกัน เสียงเรียกร้องเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของเกาหลีเหนือ แม้จะดูเหมือนพูดกับสหรัฐฯโดยตรง แต่ก็เหมือนพูดให้จีนกับรัสเซียฟังด้วยโดยอ้อม ซึ่งที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นว่าจีนและรัสเซียจะมีปฏิกิริยาอะไรกับเรื่องนี้

จะไม่ให้เกาหลีเหนือวิตกได้อย่างไร ในเมื่อสหรัฐฯซ้อมรบกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นทุกปี และสหรัฐฯยังกดดันเกาหลีเหนือด้วยการนำเครื่องบินทิ้งระเบิดทางไกลสเตลท์หรือบี 2 เข้าประจำการที่ฐานทัพในเกาหลีใต้ จึงย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤตในคาบสมุทรเกาหลี หรือสหรัฐฯพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ (regime change) ตลอดจนการคาดการณ์ว่า สหรัฐฯจะแทรกแซงให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในเกาหลีเหนือตามมามากมาย ยิ่งสหรัฐฯยืนยันท่าทีแข็งกร้าวและพูดย้ำบ่อยครั้งถึง “ทางเลือกอื่น” ที่จะจัดการกับปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ นี่ย่อมทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ดูจริงจังมากขึ้น

ในขณะที่ จีนและรัสเซียเริ่มตระหนักแล้วว่า คงต้องหา “รูปแบบความมั่นคง” ใหม่ให้ผู้นำเกาหลีเหนือได้อุ่นใจ การซ้อมรบครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นการให้คำตอบแก่เกาหลีเหนือว่า จีนและรัสเซียพร้อมจะค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยให้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญานเตือนบางอย่างถึงทางวอชิงตันด้วย

คำถามคือ จำเป็นแค่ไหนที่จีนและรัสเซียต้องลงทุนมากขนาดนี้เพื่อเกาหลีเหนือ ความจริง จะพูดว่าทำเพื่อเกาหลีเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะลึกลงไปแล้ว ทั้งจีนและรัสเซียก็หวาดหวั่นต่อการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้อยู่ไม่น้อย และทั้งสองประเทศนี้ก็เห็นประจักษ์แก่ตามาแล้วว่า สหรัฐฯสามารถปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลของชาติที่ต่อต้านสหรัฐฯทั้งด้วยกำลังทหารและอาศัยพลังมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการอาศัยพลังมวลชนสร้างประชามติ สหรัฐฯทำสำเร็จมาแล้วหลายราย เช่น ในโครเอเชีย ยูเครน หรือหากย้อนไปไกลหน่อย ก็ที่โปแลนด์เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ที่สหรัฐฯหนุนหลังสหภาพโชลิดาลิตี้ โค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ได้สำเร็จด้วยการสร้างประชามติ กลายเป็นโดมิโน่ตัวแรกที่ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปและรัสเซียพังครืนลงด้วย

รัสเซียแม้จะไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว แต่ก็คงไม่อยากเห็นสหรัฐฯปฏิบัติการอะไรให้เกิดความวุนวายในเกาหลีเหนือที่อยู่ชิดหลังบ้านตัวเองเช่นนี้ เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทางด้านตะวันตกของตนก็หนักสาหัสพออยู่แล้วจากการขยายสมาชิกของนาโต้ และเช่นกันจีนเองก็คงไม่อยากเห็นความวุ่นวายหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในเกาหลีเหนืออย่างที่สหรัฐฯคิดการไว้เ และยิ่งไม่อยากเห็นกองกำลังของสหรัฐฯมาตั้งประชิดติดชายแดนตน การปกป้องคุ้มครองเกาหลีเหนือไว้ ซึ่งแม้จะอึดอัดรำคาญกับเพื่อนบ้านหัวดื้อรายนี้ ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะนี่คือความอยู่รอดของจีน

Peace Mission 2005 จึงเป็นเหมือนคำรับรองความมั่นคงปลอดภัยที่จีนและรัสเซียมอบให้แก่เกาหลีเหนือ จะสังเกตได้ว่า หลังสิ้นสุดการซ้อมรบก็มีข่าวว่าเกาหลีเหนือจะกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา 6 ฝ่ายในช่วงกลางๆเดือนกันยายนนี้ ข่าวนี้ออกมาจากทางรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายกันตธีร์ ศุภมงคลที่เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในช่วงหลังการซ้อมรบพอดี

เหตุผลเหล่านี้คือที่มาของเนื้อหาการซ้อมรบ ที่มีการสมมติให้เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายทางการเมืองในประเทศเป้าหมายจนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ต้องส่งกองกำลังเข้าระงับเหตุจลาจลและควบคุมสถานการณ์ด้วยการยกพลขึ้นบก

การซ้อมยกพลขึ้นบกมีขึ้นที่แหลมซานตง ซึ่งหากเรากางแผนที่ออกดู จะพบว่าแหลมนี้ยื่นออกทางตะวันออกชี้ไปยังคาบสมุทรเกาหลีพอดี และหากเปรียบเมืองชิงเต่า (Qingdao) ที่ตั้งอยู่บนแหลมนี้ว่าเป็นที่ตั้งของเมืองอินชอน (Inchon) ในเกาหลีใต้ จุดที่ตั้งของเขาหลังหยา (Langya Mountian) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ซ้อมยกพลขึ้นบก ก็จะตรงกับชายฝั่งด้านตะวันตกของกรุงเปียงยางพอดี ดังนั้น ถ้าจะบอกว่า จีนและรัสเซียได้สมมติให้ชายฝั่งแห่งนี้ของเกาหลีเหนือเป็นจุดสมมติในการซ้อมรบครั้ง ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่น่าจะเป็นไปได้

จีนย่อมอ้างเหตุผลดังที่หลี่หย่งกล่าวอ้างถึงได้ เพราะเมื่อสหรัฐฯเสริมกำลังยุทธศาสตร์ให้กับกองกำลังในแปซิฟิกและในเกาหลีใต้ ก็ชอบธรรมแล้วที่จีนจะซ้อมรบกับรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็มักตำหนิสหรัฐฯเสมอว่า ยึดติดอยู่กับทรรศนะเก่าๆในยุคสงครามเย็น หรือว่าตอนนี้ จีนไม่ได้ยึดติดกับทรรศนะเก่าๆที่ว่านี้ แล้วจะให้แปลความการซ้อมรบนี้ว่ามาจากทรรศนะของ “สันติและพัฒนา” เช่นนั้นหรือ หรือว่าจีนเลิกแนวทาง “สันติและพัฒนา” หันมาลับดาบให้คมกริบ เพื่อประดาบให้เลือดเดือดกันไปข้างกับผู้ที่จีนคิดว่าเป็นศัตรู

Peace Mission 2005 คือปฏิบัติการเพื่อสันติภาพจริงหรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น