xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาการก้าวขึ้นมาของจีน (จบ)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ความเห็นที่ห้ามองไปที่เรื่องของทรัพยากรโลก โดยเห็นว่าจีนมีประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1,300 ล้านคน และกำลังเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนจำต้องแสวงหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้จีนย่อมจะต้องกระทบกระทั่งกับประเทศอื่นๆเมื่อเกิดการแย่งชิงทรัพยากรขึ้น และย่อมก่อมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงด้วย

หนังสือพิมพ์ “นิวยอร์กไทมส์” เคยลงบทความพยากรณ์ไว้ในปี 1996 ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และยังบอกว่าหากจีนมีปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวันและในแถบทะเลจีนใต้ เส้นทางขนส่งน้ำมันของญี่ปุ่นจะถูกตัดขาด และเศรษฐกิจของเอเชียจะเป็นอัมพาตไปหมด ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมของจีนจะทำร้ายมลภาวะของโลก อาจก่อให้เกิดฝนกรดในญี่ปุ่นได้ เป็นต้น

นอกจากนี้การที่จีนนำเข้าธัญพืชเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นการคุกคามการสนองธัญพืชของโลกด้วย และ “จะก่อผลกระทบต่อโลกอย่างร้ายแรง”

บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า การคุกคามสำคัญที่สุดจากจีนไม่ได้มาจากทางทหาร แต่มาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม หากจีนร่ำรวยขึ้นด้วยวิธีเดียวกับสหรัฐฯ นั่นจะทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติทั้งมวลอย่างที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้

และอย่างที่ผมเคยเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า โตโมฮิเดะ มูราอิ (Tomohide Murai) จากมหาวิทยาลัยการป้องกันตนเองเป็นคนแรกที่ออกมาพูดถึง “ภัยคุกคามจากจีน” ดังนั้นความเห็นจากทางฝ่ายญี่ปุ่นจึงน่าสนใจติดตาม โดยเฉพาะในส่วนของสื่อมวลชนและนักการเมือง เช่น หนังสือพิมพ์อาซาฮีซิมบุนเคยบอกว่า จีนกำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำลายดุลยภาพในเอเชีย นายคิอิจิ มิยาซาว่า (Kiichi Miyazawa) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็เคยพูดไว้ในการพบปะกับนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 1993 ว่า “เมื่อใดที่เศรษฐกิจโตขึ้น จีนก็อาจทะเยอทะยานทางการทหาร”

ญี่ปุ่นยังเคยออกหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “กลุ่มเศรษฐกิจคนจีนกับญี่ปุ่น” เคยระบุว่าเมื่อรวมเงินทุนสำรองต่างประเทศของจีน ฮ่องกง และไต้หวันเข้าด้วยกันแล้ว เชื่อว่าจะมีมากกว่าของญี่ปุ่นถึงร้อยละ 30 ขึ้นไป

นักการเมืองแนวคิดขวาจัดอย่างนายชินทาโร่ อิชิฮาร่า (Shintaro Ishihara) เคยกล่าวไว้ว่า “อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญๆ ที่เดิมทีเป็นของญี่ปุ่น ขณะนี้กำลังถูกจีนไล่กวดขึ้นมาทุกวัน การก้าวขึ้นมาของจีนมีลักษณะรุกราน จีนจึงเป็นหมาป่าที่มาป้วนเปี้ยนอยู่ในสวนหลังบ้าน”

คณะกรรมตรวจสอบนโยบายการป้องกันตนเองของญี่ปุ่น สถาบันศึกษาโอคาซากะ (Okazaka research institute) และศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์แพนแปซิฟิกฟอรัมของสหรัฐฯ เคยรายงานต่อผู้นำของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เมื่อปี 1997 ว่าญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะต้องเป็นพันธมิตรให้เหนียวแน่นขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันรับมือกับจีนเมื่อถึงเวลาจำเป็น

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานเมื่อปี 2002 ว่า สำนักงานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในคิวชูได้เปิดเผยรายงานเรื่อง “ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจากเศรษฐกิจจีน” ว่าจากการสำรวจบริษัทธุรกิจ 100 แห่งในเขตคิวชู พบว่ามี 96 แห่งที่คิดว่าจีน “คุกคาม” ต่อธุรกิจของตน และเชื่อว่า เมื่อจีนก้าวขึ้นมาแล้ว จีนจะแย่งตลาดในต่างประเทศของญี่ปุ่นไป ทำให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นล้มละลาย

อีกประเทศหนึ่งที่มีความโน้มเอียงจะมองจีนว่าเป็นภัยคุกคามคืออินเดีย กระแสแนวคิดสำคัญเกี่ยวจีนก็มี เช่น “จีนคืออภิมหาอำนาจ” “แกนพันธมิตรจีน-ปากีสถาน” “จีนมุ่งแผ่อิทธิพลสู่มหาสมุทรอินเดีย” “จีนจะรุกรานอินเดีย” เป็นต้น

นักวิเคราะห์ด้านการทหารระดับแนวหน้าของอินเดียอย่างนายพลจัตวา วีจายา เนล อดีตนายทหารบกนอกประจำการของอินเดียมองว่า โครงการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยของจีน รวมทั้งความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับปากีสถานและพม่า เป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมอินเดียจะต้องคิดหนัก นายจอร์จ เฟอร์นานเดส (George Fernandes) รัฐมนตรีกลาโหมของอินเดียก็เคยระบุว่า “การประเมินสถานการณ์ฟากตรงข้ามเทือกเขาหิมาลัย (หมายถึงจีน) ต่ำเกินไปจะไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์ของประเทศเรา ข้อเท็จจริงคือ ในอนาคตมันอาจสร้างปัญหาให้เราได้มากมาย”

ทีนี้เรามาดูใกล้บ้านเรา คือกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนกันบ้าง ในอดีต หลายประเทศในภูมิภาคนี้มีปัญหาขัดแย้งกับจีนทั้งทางด้านดินแดนและอุดมการณ์ทางการเมือง ยกเว้นก็แต่พม่าที่มีสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับจีนมาตลอด สามประเทศในอินโดจีนดูเหมือนจะวางตัวอยู่ในระยะห่างพอประมาณกับจีน ที่เห็นสนิทหน่อยก็คือกัมพูชา ในขณะที่ลาวและเวียดนามดูจะสงวนจุดยืนต่อจีนไม่น้อย การที่ผู้นำระดับสูงของเวียดนามเยือนสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้คือตัวบ่งชี้ถึงการวางตัวให้มีระยะห่างจากจีน

สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนเก่า 6 ประเทศ อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ดูเหมือนว่า 3-4 ประเทศแรกจะมีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่า โดยเฉพาะประเทศไทยที่ดูจะเห็นจีนเป็นโอกาสมากกว่าภัยคุกคาม และในวาระ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ไทยจีน นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรของไทยถึงกับถือโอกาสที่ไปเยือนจีนครั้งนี้ แวะเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในเมืองจีน ส่งสัญญาณความชิดเชื้อสนิทสนมกับจีนอย่างที่ไม่เคยมีผู้นำอาเซียนคนไหนทำมาก่อน

ในขณะที่อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ดูจะไม่ได้สนิทชิดเชื้อกับจีนเช่นนี้ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่มีปัญหาขัดแย้งกับจีนเรื่องกรรมสิทธิ์ของหมู่เกาะบางแห่งในทะเลจีนใต้ นายฟิเดล รามอส อดีตผู้นำฟิลิปปินส์เคยพูดไว้ว่า “จีนเป็นภัยคุกคามอันดับแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หนังสือพิมพ์บางฉบับในฟิลิปปินส์ถึงกับบอกให้ระวังป้องกันการรุกรานจากจีน และปกป้องอธิปไตยของฟิลิปปินส์

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์อย่าง ดร.ไลโท ลี (Dr. Lai-to Lee) เคยพูดไว้ว่า สมาชิกบางส่วนของอาเซียนยังกังวลว่าความทันสมัยของกองทัพจีนจะคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศพวกเขา ในขณะที่บางประเทศก็คาดการณ์ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับการแข่งขันและท้าทายจากจีนในการแย่งเงินลงทุนและตลาดในต่างประเทศ

รัสเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จับตามองจีนอย่างระมัดระวัง นักวิเคราะห์การเมืองและการทหารบางคนในรัสเซียมองจีนอย่างไม่ไว้ใจนัก เช่น นายอเล็กซานเดอร์ ซาลาแวน มองว่าเรื่องสหรัฐฯ คุกคามทางทหารต่อรัสเซียนั้นเป็นเรื่องเทพนิยายล้วนๆ แต่ถ้าจีนจะคุกคามทางทหารต่อรัสเซียแล้ว มันง่ายเสียยิ่งกว่าง่ายอีก เพราะจีนกับรัสเซียมีปัญหาขัดแย้งกันหลายเรื่องทั้งด้านดินแดน เศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ และประชากร เรื่องบางเรื่องที่รัสเซียวิตกไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของคนภายนอก เช่น เรื่องประชากรในดินแดนตะวันออกอันห่างไกลของรัสเซีย นักวิชาการที่ไม่ยอมเปิดเผยนามจากสถาบันสังคมศาสตร์ของรัสเซียเคยพูดไว้ว่า หากจำนวนประชากรเชื้อสายจีนในดินแดนตะวันออกไกลมีมากกว่าชาวสลาฟที่นั่น และถ้าเกิดจัดการลงประชามติว่าจะแยกไปรวมกับจีนหรือไม่ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีประชามติเช่นนี้ คือต้องการไปรวมกับจีน

นี่เป็นภาพรวมคร่าวๆ เกี่ยวกับมุมมองทรรศนะในปัญหาการก้าวขึ้นมาของจีนจากฝ่ายที่มองจีนเป็น “ภัยคุกคาม” และแน่นอนว่าย่อมต้องมีคนที่เห็นแย้งและเสียงโต้ตอบจากนักวิชาการของจีนและฝ่ายที่สนับสนุนจีน สำหรับในบ้านเรา ดูเหมือนเราจะมองจีนเป็นโอกาสมากกว่าเป็นภัยคุกคาม และกระแสนี้ก็เป็นกระแสหลักซะด้วย บทความที่พูดถึงจีนในแง่บวกสนับสนุนกระทั่งเชียร์กันไปข้าง หาอ่านกันได้อยู่แล้ว จึงขออนุญาตไม่นำเสนอต่อ... จบครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น