xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมวลชนจีน

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

เมื่อครั้งที่ผมยังพำนักอยู่ในจีนในฐานะ “แขกต่างประเทศ” นอกจากหนังสือพิมพ์เหยินหมินเยอะเป้า (人民日报) ที่ได้อ่านประจำทุกวันแล้ว ยังได้รับหนังสืออีกจำนวนหนึ่งเป็นประจำคือ นิตสารหงฉี (红旗) นิตยสารภาพกองทัพปลดแอกประชาชน (解放军画报) นิตยสารปั้นเยว่ถัน (半月谈) และหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆชื่อ ชันข่าวเซียวสี (参考消息) ทั้งหมดล้วนเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้น

ปั้นเยว่ถันเป็นนิตยสารที่เพิ่งออกในช่วงนั้นโดยกองงานโฆษณาการศูนย์กลางพรรคฯ ปัจจุบันแตกไลน์เป็นปั้นเยว่ถันหลายเวอร์ชั่น นิตยสารหงฉีเป็นนิตยสารของศูนย์กลางพรรคฯโดยตรง ลงบทความทางวิชาการด้านทฤษฎีลัทธิมาร์กซ-เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง ช่วงหลังเริ่มมีบทความพูดถึงแนวนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงเพิ่มเติมเข้ามา เนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง จนไปถึงปรัชญาวิธีคิดหรือโลกทรรศน์ เนื้อหาหนักๆทั้งนั้น เป็นนิตยสารที่ทางศูนย์กลางพรรคฯเรียกร้องให้สมาชิกพรรคฯทุกคนอ่าน

นิตยสารภาพฯออกโดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน น่าจะเป็นหนังสือที่ดูแล้วผ่อนคลายมากกว่าเล่มอื่นๆ ถ้าไม่ไปใส่ใจเนื้อหาข้างใน เพราะมีภาพสีสวยๆให้ดูเพลินตาดี แต่เล่มที่ผมชอบอ่านคือ ชันข่าวเซียวสี เป็นหนังสือพิมพ์ในเครือสำนักข่าวซินหัว ตอนนั้นยังเป็นหนังสือที่แจกจ่ายอ่านกันภายในหน่วยงานรัฐและพรรคฯ คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฯ หรืออยู่ในระดับผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯและรัฐ (ระดับกั้นปู้ 干部) ไม่มีสิทธิได้อ่านหนังสือพิมพ์เล็กๆฉบับนี้ ทั้งที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ความลับอะไรของทางการ เพียงแค่รวบรวมข่าวและบทความจากสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศหลากหลายแห่งมาไว้ด้วยกัน แต่ข่าวที่ลงก็ทั้งคัดทั้งตัด เพื่อเสนอแต่ภาพรวมที่ดีของจีน ทุกวันนี้ คนจีนสามารถหาซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ่านได้ตามแผงหนังสือพิมพ์ทั่วไป หนังสือพิมพ์เองก็เปลี่ยนบทบาทไปตามนโยบายของพรรคฯ

ดังนั้น สื่อที่ผมได้อ่านเป็นประจำ จึงล้วนเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้น ถ้าอยากอ่านนิยายเรื่องสั้นหรือหนังสืออ่านเล่นอื่นๆ ก็ต้องหาอ่านเอาเอง แต่เมื่อพลิกดูรายละเอียดข้อมูลผู้รับผิดชอบนิตยสารบันเทิงเหล่านี้ ผมก็ยังมักพบว่ามีคณะกรรมการพรรคฯในแต่ละระดับชั้นของแต่ละท้องถิ่นรับผิดชอบอยู่ ซึ่งหมายความว่า พรรคฯกุมกระทั่งหนังสือบันเทิง นี่คือภาพลักษณ์สื่อมวลชนจีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

กระทั่งในทุกวันนี้ เวลาที่ผมอ่านหนังสือพิมพ์ของทางการจีนในอินเตอร์เน็ต ผมก็ยังคงรู้สึกเหมือนได้เจอหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารฉบับเก่าๆ สื่อมวลชนจีนไม่เคยเปลี่ยน จะเปลี่ยนก็แต่ตัวเนื้อข่าวที่เปลี่ยนไปตามนโยบายของพรรคฯ บทความบทวิจารณ์ต่างๆ ก็ยังคงพูดประสานเสียงกับแนวนโยบายของพรรคฯเช่นเดิม เช่น หากช่วงไหนทางการจีนรณรงค์เรื่องคอรัปชั่น ประเด็นคอรัปชั่นก็จะกลายเป็น “ข่าวใหญ่” และตามด้วยบทความวิเคราะห์วิจารณ์ในลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ทางการจีนวางไว้ และที่น่าสังเกตคือ ข่าวเหล่านี้มักได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เรื่องราวปิดฉากลงในระดับหนึ่งแล้ว เช่น ตัวข้ารัฐการที่ทุจริตประพฤติมิชอบถูกจับกุม และมีคำพิพากษาลงโทษจากศาลชั้นต้นแล้ว จะไม่เคยเห็นข่าวในสื่อของทางการจีนเกาะติดข่าวในลักษณะเจาะลึกขุดคุ้ยหาเครือข่ายของการทุจริตเลย เรื่องอื่นๆก็เข้าทำนองเดียวกัน

ทีนี้ ฝรั่งมังค่าก็วิจารณ์ละสิครับว่า สื่อจีนไม่มีอิสระ จะให้เป็นอิสระได้อย่างไร ในเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของสื่อเหล่านี้ทั้งหมด ตั้งแต่สื่อส่วนกลางไปจนถึงสื่อท้องถิ่น มิหนำซ้ำคนทำหรือรับผิดชอบงานสื่อ ล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรคฯทั้งสิ้น หากคุณไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคฯ คุณจะไม่มีโอกาสได้รับผิดชอบหนังสือ (พิมพ์) เล่มนั้นๆเลย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะรากเหง้าความคิดหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนคือ พรรคฯต้องควบคุมกลไกรัฐทุกอย่างไว้ ตั้งแต่กองทัพ รัฐบาล ไปจนถึงสื่อมวลชน วิธีควบคุมก็ไม่ต้องไปออกกฎบัตรกฎหมายอะไรมาตีกรอบล้อมคอกให้ชาวโลกติฉิน ดีที่สุดคือให้สมาชิกพรรคฯไปรับผิดชอบหน่วยงานต่างๆของกลไกรัฐเสียเอง

ดังนั้น ทุกหน่วยงานของทางการจีน ซึ่งรวมทั้งสื่อมวลชนด้วย จึงมีคณะกรรมการพรรคฯไปจนถึงหน่วยพรรคฯเล็กๆในกองบรรณาธิการประจำอยู่ เช่น นิตยสารหงฉี จะมีคณะบรรณาธิการที่ประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานในระดับนำ (หมายถึงสมาชิกระดับนำของพรรคฯ) ตั้งแต่ส่วนกลาง ไปจนถึงมณฑลและเมืองต่างๆ และนักวิชาการ (ซึ่งต้องเป็นสมาชิกพรรคฯ) ทางศูนย์กลางพรรคฯมีระเบียบปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเลยว่า ให้องค์กรจัดตั้งในแต่ละระดับชั้นของพรรคฯสามารถใช้เงินค่าบำรุงพรรคฯของสมาชิกสั่งซื้อนิตยสารฉบับนี้ได้ เพื่อประกันให้นิตยสารฉบับนี้คงอิทธิพลต่อสังคมได้ค่อนข้างมากด้วยยอดจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง

ทีนี้เห็นภาพหรือยังว่า สื่อมวลชนจีนอยู่ในภาวะเช่นใด คนจีนเองก็รับรู้ถึงภาวะดังกล่าวของสื่อมวลชนจีนเช่นกัน  คนจีนพูดกันเองว่า สื่อมวลชนจีนคือ “หูตา” และ “กระบอกเสียง” ของพรรคฯ เมื่อเป็นสื่อของพรรคฯ ก็ย่อมต้องทำงานรับผิดชอบต่อพรรคฯ ไม่ใช่ต่อสำนึกหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนหรือต่อประชาชน  สองอย่างนี้กระทำผ่านพรรคฯได้ เพราะพรรคฯได้กล่าวอ้างแล้วว่าคือ “ตัวแทน” ของประชามหาชนอันไพศาล การรับผิดชอบต่อพรรคฯก็เท่ากับรับผิดชอบต่อสำนึกหน้าที่และประชาชนไปด้วยในตัว เป็นซะอย่างนั้นไป !

เมื่อสื่อมวชนจีนต้องทำงานรับผิดชอบต่อพรรคฯ พรรคฯจึงใช้สื่อมวลชนในมือทำงาน 2-3 อย่าง คือชี้นำและชี้แนะทิศทางให้ประชาชนเห็นคล้อยตามแนวทางนโยบายที่พรรคฯได้วางไว้ สองคือปลุกระดม จัดตั้ง และสามัคคีประชาชน เพื่อตอกย้ำว่าแนวทางนโยบายของพรรคฯถูกต้องเสมอ และสามคือโฆษณาลัทธิมาร์กซเลนิน สื่อที่ทำหน้าที่อย่างหลังนี่ก็มีเช่น นิตยสารหงฉีที่ก่อตั้งในยุคเหมาเจ๋อตง ในยุคของเจียงเจ๋อหมิน หลังจากเขาขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคฯได้เพียงเดือนเศษ เขาก็สั่งจัดทำนิตยสารชื่อ “ฉิวซื่อ” (求是杂志) แรกทีเดียวนิตยสารฉบับนี้จัดทำโดยโรงเรียนของศูนย์กลางพรรคฯซึ่งสอนทฤษฎีลัทธิมาร์กซเลนินและแนวนโยบายของพรรคฯ ต่อมาได้เปลี่ยนมาให้ทางศูนย์กลางพรรคฯรับผิดชอบโดยตรง

สื่อมวลชนจีนจึงเป็นเครื่องมือที่ซื่อสัตย์ภักดีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีถึงบทบาทอันสำคัญของสื่อมวลชน หูจิ่นเทาเลขาธิการพรรคฯคนปัจจุบันก็ยังเรียกร้องต่อนิตยสารฉิวซื่อว่า “ต้องยืนหยัดหลักการที่ให้นักการเมืองทำสื่อได้ ชูธงให้สูง แนบชิดกับความจริง ยกระดับคุณภาพ ทำสื่อให้มีเอกลักษณ์” แม้ว่าอ่านแล้วจะรู้สึกงงกับข้อเรียกร้องนี้ แต่ก็สะท้อนว่า ผู้นำจีนให้ความสำคัญและสนับสนุนสื่อของพรรคฯเพียงใด

ผมเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะไปอ่านเจอข่าว ทางยูเนสโก้มอบรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนโลกให้แก่อดีตนักหนังสือพิมพ์จีนปากกล้า เฉิงอี้จง จากหนังสือพิมพ์ “หนานฟางตูซื่อเป้า” หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเขตเซินเจิ้น หลังจากเขาถูกจับขังฟรีมา 5 เดือน ถูกไล่ออกจากพรรคฯและถูกปลดออกจากทุกตำแหน่ง เฉิงอี้จงไม่ได้ทำอะไรผิดในฐานะสื่อมวลชนดอก แต่เขามีความผิดโทษฐานไม่ทำตัวเป็น “ลูกที่ดี” ของพรรคฯต่างหาก คำขอบคุณที่เขามีไปถึงยูเนสโก้คือ “ไม่ว่าจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก เราต่างกำลังทุกข์ทน เราต่างเป็นนักโทษของระบอบที่ชั่วร้ายไปตลอดกาล ข้างนอกเป็นเพียงคุกที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น”

ผมว่าคงเหนื่อยน่าดู ที่สื่อมวลชนจีนจะเปล่งคำขวัญ “เสรีภาพจักสมปองต้องต่อสู้”
กำลังโหลดความคิดเห็น