xs
xsm
sm
md
lg

เซเลบจิตอาสาร้อยดวงใจถวายความภักดี แด่ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนที่พสกนิกรชาวไทยต้องร่ำไห้จนหัวใจเกือบแตกสลาย กับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือเป็นพระราชพิธียิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ปวงชนชาวไทยจะได้น้อมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ทุกหน่วยงานต่างเตรียมพร้อมอย่างขะมักเขม้นและพิถีพิถัน เพื่อให้พระเมรุมาศสวยงามสมพระเกียรติที่สุด

ในฐานะคนไทยที่มีหัวใจรักและจงรักภักดีต่อในหลวง ร.9 บรรดาเซเลบเมืองไทยต่างพากันสลัดลุคคุณหนู พร้อมใจกันใช้ความรู้ด้านศิลปะและงานช่างฝีมือที่มีมา ร่วมถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย

เริ่มต้นที่ “น้อยหน่า-เพ็ญสุภา คชเสนี” ด้วยความที่ครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย จอมพลถนอม-ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จากในหลวง ร.9 จึงทำให้ทุกคนในครอบครัวกิตติขจร ถูกปลูกฝังให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จักรี จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ประกอบกับตัวเองมีฝีมือด้านศิลปะวาดรูประบายสีอยู่แล้ว เมื่อสบโอกาสเธอจึงสมัครเป็นจิตอาสาระบายสีประติมากรรมรูปครุฑประดับพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อเป็นการน้อมส่งเสด็จพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดต่อปวงชนชาวไทยเป็นครั้งสุดท้าย

น้อยหน่าเผยถึงที่มาของการเป็นจิตอาสาครั้งนี้ว่า ตั้งแต่ทราบข่าวในหลวง ร.9 สวรรคต ตัวเธอและสมาชิกทุกคนในครอบครัวต่างเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาก็ไปทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุด รุ่นพี่ที่รู้จักกันทำงานอยู่ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ศาลายา ได้ชักชวนมาระบายสีครุฑประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ เธอจึงรีบตกปากรับคำมาเป็นฟันเฟืองเล็กๆ เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์ท่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต

"รุ่นพี่เขาเห็นเรามีความรู้ทางด้านงานศิลปะอยู่แล้ว เพราะก่อนที่หน่าจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ก็เรียนด้านศิลปะมาก่อน และพอกลับมาเมืองไทยก็ไปเข้าคอร์สเรียนวิชาศิลปะและพอมางานนี้เมื่อรุ่นพี่ชวนให้มาเป็นจิตอาสาระบายสีรูปครุฑ จึงรีบมาทำทันที"

น้อยหน่าเล่าต่อว่า งานระบายสีครุฑที่เธอรับผิดชอบนั้นได้ทำร่วมกับจิตอาสาคนอื่นความยากอยู่ที่การไล่ระดับสี แต่แม้จะยากเพียงใดก็ยังไม่ได้เศษเสี้ยวที่ในหลวง ร.9 ทรงทุ่มเทพระวรกายทำเพื่อประชาชน ดังนั้น เธอจึงทุ่มเทความสามารถที่มีอย่างสุดกำลัง เพื่อให้ผลงานที่เธอเป็นส่วนหนึ่งนั้นงดงามสมพระเกียรติที่สุด

"ตั้งแต่จำความได้หน่าและครอบครัวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.9 เรื่อยมา จำได้ว่าทุกวันงานครบรอบของคุณตาและคุณยาย ไม่ว่าจะเป็นครบรอบแต่งงาน หรือวันเกิด พระองค์ก็พระราชทานพระราชานุญาตให้คุณตากับคุณยายเข้าเฝ้าเสมอ ตอนที่คุณตาป่วยหนักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 เดือนเต็ม พระองค์ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการรักษาพยาบาลให้คุณตาทั้งหมด หรือแม้แต่ชื่อ "เพ็ญสุภา" ในหลวง ร.9 ก็ทรงพระราชทานตั้งชื่อให้" น้อยหน่าเล่าด้วยความซาบซึ้ง

เธอเล่าต่อว่า ทุกวันนี้ได้นำหลักคำสอนเรื่องความพอเพียงของในหลวง ร.9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มีแค่ไหนก็ใช้เท่านั้น ไม่ฟุ้งเฟ้อ สร้างความสุขที่แท้จริงในชีวิตด้วยการแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้สังคมและประเทศชาติ

ขณะที่ “ปิ๋ม-พริดา ลิมปานนท์” ที่ออกตัวว่ายังไม่ถึงขั้นเป็นจิตอาสา เพราะมีโอกาสได้เข้ามาช่วยงานพระเมรุมาศในส่วนงานศิลปะระบายสี ฉากบังเพลิงดอกบัวและดอกมณฑาทิพย์ รวมถึงงานระบายสีองค์ครุฑเพียงแค่ 2 วัน ทว่า ก็เป็นสองวันที่ภาคภูมิใจ เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

“เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เคยมีโอกาสได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของในหลวง ร.9 นับว่าเป็นเกียรติอันสูงสุดของชีวิต ครั้งนี้เมื่อได้ทราบจากสื่อต่างๆ ว่า รับสมัครจิตอาสาร่วมงานศิลปกรรม เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แม้ว่าจะเป็นช่วงหลังๆ แล้ว แต่เพราะอยากถวายความจงรักภักดีและความรักที่มีต่อพระองค์ ถึงจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ จึงเข้ามาช่วยระบายสีฉากบังเพลิงด้านในส่วนที่เป็นของดอกมณฑาทิพย์ ซึ่งมีสีทองกับสีครีม และกลีบดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญทางพุทธประวัติ

ทั้งยังได้ร่วมลงสีครุฑด้วย วินาทีที่จะจรดแปรงทาสีลงบนผลงาน ตัวเองได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงในหลวง ร.9 ว่า ขอถวายงานครั้งนี้แด่พระองค์ท่าน ผู้ทรงเป็นพ่อของคนไทยทั้งแผ่นดิน จากนั้นก็ตั้งสมาธิขณะที่ลงสี แม้ว่าจะไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง แต่ก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซึ่งขั้นตอนการลงสีนั้นจะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำอยู่ตลอด จึงไม่รู้สึกกดดันอะไรเลย” ปิ๋มเล่าให้ฟังด้วยความปีติ พร้อมขอบคุณคณะอาจารย์ช่างสิบหมู่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้

ทั้งนี้ สาวเจ้าของธุรกิจด้านความงามยังเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ก็ได้ไปร่วมเล่านิทานธรรมะให้สามเณรฟัง ที่วัดพระรามเก้าและวัดโพธิ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง ร.9 มาแล้ว เธอรู้สึกว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนไทยซึ่งมีในหลวง ร.9 เป็นต้นแบบในทุกเรื่อง ทั้งพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจต่างๆ ทุกวันนี้เวลาที่ตัวเองประสบปัญหาต่างๆ มักจะหยิบเอาพระราชดำรัสของพระองค์ท่านขึ้นมาอ่านแล้วทำตาม ซึ่งก็สามารถก้าวข้ามเรื่องราวต่างๆ ไปได้ด้วยดี ดังนั้น จึงมั่นใจว่าการที่เราได้ทำตามแนวพระราชดำริรวมถึงพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน เหมือนว่าพระองค์ท่านสถิตย์อยู่กับเราตลอดเวลา

ส่วน ศักดิ์ชัย กาย ในฐานะเจ้าพ่อแมกกาซีนอันดับต้นๆ ของเมืองไทย จึงอยากให้ผลงานประติมากรรมและความงดงามสมพระเกียรติของพระเมรุมาศ ได้รับการบันทึกเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไว้ให้คนไทยเรียนรู้ชั่วลูกชั่วหลาน จึงอาสาเป็นผู้บันทึกผลงานประณีตศิลป์และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้ผ่านภาพถ่ายและลายลักษณ์อักษร

ศักดิ์ชัยเผยว่า ในฐานะที่เป็นคนทำหนังสือ อย่างแรกก็อยากจะบันทึกให้คนไทยได้รู้ว่างานพระราชพิธีครั้งนี้เป็นงานสุดยอดฝีมือของช่างสิบหมู่ เป็นการรวบรวมช่างทุกระดับชั้น ทั้งฝีมือช่างหลวง ช่างบ้าน เป็นการรวบรวมงานประณีตศิลป์ครั้งสำคัญ ต้องบันทึกและเล่าให้แก่คนไทยได้รับรู้ จึงอยากทำหนังสือเบื้องหลังในพระราชพิธีขึ้นมา

“พอเราตั้งใจที่จะทำจึงไปสมัคร และทำหนังสือไปที่กรมศิลปากรว่าจะทำหนังสือเบื้องหลังงานพระราชพิธี โดยอาสาไปทำในส่วนที่ทำได้ ด้วยความอยากรู้ว่าพระโกศจันทน์ ไม้จันทน์เป็นอย่างไร คุณสมบัติอย่างไร การลงรักปิดทอง การบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระที่นั่งต่างๆ พระราชรถ เขาทำกันอย่างไร เราชอบงานช่างจึงขอมีส่วนร่วม เพราะความอยากรู้ อีกทั้งได้เรียนรู้ เพื่อที่จะนำความรู้มาเขียนได้อย่างถูกต้อง”

หากจะเล่าเรื่องก็ต้องค้นคว้าและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้น จึงทำให้ศักดิ์ชัย กาย เป็นผู้โชคดีได้มีโอกาสเป็นจิตอาสาทำงานเกี่ยวกับพระเมรุมาศหลายชิ้นงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานลงรักปิดทอง ราชรถ และปักผ้า

ศักดิ์ชัย เผยเพิ่มเติมว่า ได้ไปทำจิตอาสาตั้งแต่เขาเปิดรับสมัคร โดยไปด้วยใจอาสาจริงๆ ไม่ได้เพียงแค่ถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วก็ไป นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือเรื่องการกินอยู่ อุปกรณ์อย่างผ้ากันเปื้อน โดยมีเพื่อนๆ ช่วยสนับสนุน บางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัดก็ช่วยหาที่พัก การกินอยู่ด้วย เหมือนจิตอาสาช่วยเหลือดูแลจิตอาสาด้วยกันเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ทุกคนมาด้วยเป้าหมายเดียวกัน จิตอาสาทุกคนเหมือนเป็นครูช่วยสอนกันและกัน เราต้องเข้าไปด้วยความอยากเข้าไปช่วยและถ่อมตัว

“ปกติเราทำงานศิลปะที่หลากหลายและประดิษฐ์เครื่องดนตรี อย่าง ซออู้ประดับหอยมุก ก็ได้ช่วยทำงานได้บ้าง เมื่อได้เป็นจิตอาสาได้ความรู้หลายอย่าง อาทิ การลงรักปิดทอง ตอนแรกคิดว่าเราน่าจะทำได้ แต่พอไปทำแล้วไม่ใช่เลย พอเห็นของจริงกลายเป็นเรื่องของโบราณราชประเพณีทำกันอย่างไร งานลงรักปิดทอง งานช่างทอง งานไม้ งานปั้น ได้ไปดูอาจารย์ที่มีฝีมือทำงานปั้น เขียนลาย และเทคนิคต่างๆ หรือการใช้ไม้จันทน์ประกอบเป็นพระโกศ ซึ่งเราไม่สามารถไปเรียนได้จากที่ไหน ซึ่งจิตอาสาแต่ละคนเป็นยอดฝีมือ”

ก่อนหน้านี้ ก็มีคนดังของเมืองไทยอีกหลายคน ที่ใช้ความรู้ความสามารถที่มีถวายงานเป็นครั้งสุดท้าย อาทิ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นจิตอาสาช่วยงานสำนักช่างสิบหมู่ ด้วยการเขียนฉากบังเพลิง และกลุ่มศิลปินขัวศิลปะ จังหวัดเชียงราย ที่นำทัพโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มาช่วยกันสร้างสรรค์ประติมากรรมในครั้งนี้ด้วย

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่ารวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ แต่พวกเขาก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อันเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยทรงมีต่อปวงพสกนิกรทั่วหล้า
กำลังโหลดความคิดเห็น