xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกข้าว ใช้ชีวิตพอเพียง ความสุขสร้างได้ในแบบ “พรเศก ภาคสุวรรณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>ภายใต้บุคลิกหนุ่มเจ้าสำราญ ที่รักการแฮงเอาต์ ชอบกิจกรรมปาร์ตี้ ใครจะคิดว่าอีกมุมหนึ่งของชีวิต “เทดดี้-พรเศก ภาคสุวรรณ” Reserve Channel Director แห่งบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด จะแสนเรียบง่ายภายใต้ปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงไทย

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เทดดี้ได้เริ่มต้นหนึ่งในโปรเจกต์สำคัญของชีวิต ด้วยการสานต่อความฝันที่อยากจะทำรีสอร์ตเล็กๆ ขึ้นบนที่ดินของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนัก ขับรถเพียง 45 นาทีก็ถึง แต่ตัวโลเกชั่นยังน่าสนใจ เพราะอยู่ติดกับลำคลองนครเนื่องเขต อันเป็นคลองที่ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่5 เคยเสด็จประพาสทางชลมารค ด้วยความที่ที่ดินผืนนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับผืนนา 60 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวมาตั้งแต่สมัยคุณปู่พอดี แต่เพราะระยะหลังขาดคนดูแลและสานต่อ ผืนนาที่น่าจะเขียวขจี เลยถูกบุกรุกโดยวัชพืชจนไม่น่ามอง เมื่อเห็นเช่นนั้นเทดดี้จึงมีความตั้งใจที่จะปรับภูมิทัศน์ และพลิกฟื้นผืนดินตรงนี้ให้กลายเป็นผืนนาอีกครั้ง

“ผมโชคดีที่ครอบครัวมีที่นากว่า 60 ไร่ อยู่ที่ ตำบลนครเนื่องเขต อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่นาที่ซื้อไว้ตั้งแต่สมัยคุณปู่ สมัยเด็กผมก็เคยมีโอกาสมาที่นี่หลายครั้ง ได้เห็นกระบวนการทำนา แต่พอมาถึงรุ่นคุณพ่อ ด้วยความที่ขาดคนทำและดูแล ในที่สุดเลยหยุดทำนาไป ปล่อยทิ้งพื้นที่ไว้เฉยๆ จนเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมอยากเข้ามาพัฒนาพื้นที่ เลยเริ่มปลูกบ้านไม้ ทำสวนมะม่วง แล้วก็เริ่มคิดที่จะคืนชีพให้กับผืนนานี้อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความตั้งใจเต็มเปี่ยม แต่ก้าวแรกของการลงมือทำ ไม่มีคำว่าง่าย เช่นเดียวกับเทดดี้เมื่อคิดจะสลัดความเป็นหนุ่มชาวเมือง หันมาเป็นชาวนาจำเป็น เขาไม่เพียงต้องทุ่มเทศึกษาหาข้อมูล แต่ยังต้องอาศัยคำแนะนำจากผู้ใหญ่บ้าน คนในพื้นที่ ลงรายละเอียดตั้งแต่การปรับปรุงหน้านาใหม่ หาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม พร้อมหาผู้ที่ไว้ใจมาช่วยดูแลแปลงนา

“ผมเริ่มจากปรึกษาคนในพื้นที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โชคดีไปเจออดีตผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ละแวกนั้นพอดี เลยตัดสินใจลงทุนร่วมกันและแบ่งกำไรจากการขายข้าวกันคนละครึ่ง ช่วงแรกที่ทำ ผมต้องไปเกือบทุกอาทิตย์ เพราะงานของผมต้องเริ่มตั้งแต่การกำจัดวัชพืช ปรับผืนนาให้เรียบ ต้องวิดน้ำจากปลายนามาที่ต้นนา พื้นที่ตรงไหนเป็นแอ่งก็ต้องหาดินมาเติม ช่วงที่ทำนาหน้าแรกๆ ด้วยความที่ผืนนาเรายังไม่พร้อม ก็ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนทำไป 3-4 หน้า ผลผลิตก็เริ่มดีขึ้น หน้านาที่ดีที่สุดสามารถทำผลผลิตได้ประมาณ 30 ตัน ซึ่งพอนำไปเข้าโรงสี ออกมาจะเหลือเป็นข้าวสารประมาณ 24 ตัน เป็นแกลบ 6 ตัน”

มาถึงวันนี้ เทดดี้บอกเล่าด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติว่า เขาทั้งดีใจและภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้มีโอกาสกินข้าวที่เป็นผลผลิตจากผืนนาของตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวออกปากว่าเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม นอกจากจุดเริ่มต้นในการผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรจำเป็นจะเริ่มต้นจากการมีที่ดินเป็นของตัวเองแล้ว อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังคือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการโคกภูแล จังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2536 ที่ว่า "ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชากรคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทย จะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราต้องปลูก"

“เราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้าวเป็นอาหารหลัก แต่ที่ผ่านมาชาวนาหลายคนเลือกที่จะขายที่นาให้นายทุนไปทำโรงงาน ทำบ้านจัดสรร ทำรีสอร์ต ทำให้พื้นที่เกษตรลดลง พอบวกกับปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุม ยิ่งส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง ผมไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะไปถึงจุดที่หาข้าวกินได้ยากหรือเปล่า ถ้าในอนาคตคนไทยทำนาน้อยลง ดังนั้นผมจึงมุ่งมั่นที่จะทำนาบนผืนดินของตัวเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคตผมตั้งใจอยากจะทำเป็นแปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รี เก็บเกี่ยวสีเองและบรรจุห่อขายเอง ผมว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี เมื่อคนไทยหันมาตื่นตัวเรื่องข้าว มีการส่งเสริมช่องทางออนไลน์ในการจัดจำหน่ายข้าวได้”

นอกจากเรื่องการทำนาแล้ว เทดดี้ยังน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงมาปรับใช้ในทุกด้านของชีวิต เวลาที่จะใช้จ่ายหรือลงทุนในกิจการใด เขาจะย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วพิจารณาหาคำตอบโดยยึดปรัชญาพอเพียงมาเป็นหลักเสมอ เช่นเดียวกับการบริหารผืนนาของตัวเอง เขามองว่า แทนที่จะตั้งเป้าที่การได้ผลผลิตสูงๆ แต่น่าจะหันมาใส่ใจตั้งแต่การลดต้นทุน

“ผมมองว่าบางครั้งชาวนาบ้านเรา ตั้งเป้าที่ผลผลิตสุดท้ายที่ออกมาว่าต้องให้ได้มากที่สุด จนมองข้ามปัจจัยที่มาเพิ่มต้นทุน อย่างค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี ค่าใช้จ่ายจากการจ้างแรงงาน หรือบางรายไม่มีที่นาของตัวเองต้องจ่ายค่าเช่านา พอปีไหนข้าวไม่ได้ราคา หรือภาครัฐไม่ได้มีงบมาสนับสนุน ก็ทำให้ไม่มีกำไร หรือได้กำไรไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ผมคิดว่าถ้าเราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ตั้งเป้าผลผลิตไว้ประมาณหนึ่ง บริหารให้พอเพียงกับต้นทุน น่าจะเป็นประโยชน์กว่า”

อย่างไรก็ตาม เทดดี้กล่าวทิ้งท้ายอย่างหนักแน่นว่า จากนี้เขาจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ผืนนาแห่งนี้ รวมทั้งการดำรงชีวิตตามคำสอนของพ่อหลวง มาถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เห็นจากสิ่งที่เขาทำเป็นตัวอย่าง รวมทั้งปลูกฝังหลักคิดที่ดีเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังนำไปปรับใช้ได้ในทุกมิติของการใช้ชีวิต :: Text by FLASH




กำลังโหลดความคิดเห็น