xs
xsm
sm
md
lg

เด็ก เยาวชน ผลผลิตของสังคม”/อ้วน อารีวรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

jatung_32@yahoo.com

เพิ่งผ่านพ้นวันเด็กมาไม่กี่วัน แม้ว่าชีวิตนี้จะผ่านวัยเด็กมานานสิบกว่าปี แต่ก็ยังมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้ระลึกถึงอดีตวัยเยาว์ ช่วงเวลาที่ไม่ต้องคิดกับอะไรมากมาย นอกจากทำหน้าที่ตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด

ยังจำได้ว่า ตอนเป็นเด็ก ก็เป็นเด็กที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไรนัก ออกจะลิงทะโมน ชอบเล่นเหมือนเด็กผู้ชายซนๆ คนหนึ่ง ทั้งปีนป่ายต้นไม้ ปั่นจักรยาน เก็บสะสมหนังยางวงใหญ่เพื่อใช้เล่นเป่ากบ สะสมก้อนหินเพื่อใช้เล่นหมากเก็บจนโดนแม่บ่นเป็นประจำ หัดทำแม้กระทั่งหนังสติ๊กเพื่อเอาไว้ยิงนก แต่อาจเป็นเพราะทำบาปไม่ค่อยขึ้น จึงไม่เคยยิงนกได้เลยสักตัวในชีวิต

หลายๆ คนที่เกิดในยุค “ไม่มีเทคโนโลยีเป็นเพื่อน” ก็อาจมีช่วงเวลาแห่งความสุขสนุกสนานในความทรงจำ “วัยเด็ก” เฉกเช่นเดียวกับดิฉันที่ได้มีโอกาสวิ่งเล่นท่ามกลางแสงแดด สายลม สนามหญ้า และไมยราบ พืชที่มีใบและก้านอันน่ามหัศจรรย์ใจ และก็มีหนามแหลมคมที่พร้อมจะทิ่มแทงคนที่ไม่ระวัง

ดิฉันไม่รู้ว่า เด็กยุค “โซเซี่ยล เน็ตเวิร์ก” จะรู้จักอาการเจ็บเวลาโดนหนามไมยราบตำเท้าเหมือนที่ดิฉันเคยเจอหรือเปล่า? แต่ดิฉันเข้าใจว่า เด็กยุคนี้คงจะมีโอกาสรับรู้เรื่องราวต่างๆได้รวดเร็วมากกว่าเด็กรุ่นดิฉันที่อยากรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม ก็ต้องสอบถามจากผู้ใหญ่หรือหาข้อมูลเรื่องราวที่อยากรู้จากหนังสือในห้องสมุด

สิ่งที่น่าห่วงใยคือเด็กยุค “โซเซี่ยล เน็ตเวิร์ก” เริ่มแสดงอาการขาดความสนใจบุคคลใกล้ตัว และเริ่มเห็นความสำคัญของสังคม บุคคล สิ่งมีชีวิตที่งดงาม เปลี่ยนแปลง เติบโต ตามธรรมชาติรอบข้างตัวเขาน้อยลงกว่าเด็กยุคก่อน ดิฉันเคยชวนหลานสาวตัวน้อยมานั่งนิ่งๆ ใต้ต้นไม้เพื่อฟังเสียงขับขานเจื้อยแจ้วของบรรดานกที่บินมาเกาะกิ่งก้านของต้นไม้ต่างๆ ในบริเวณบ้าน แต่หลานสาวกลับชวนไปดูโทรทัศน์ในตัวบ้านแทน

จะไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อคนวัยผู้ใหญ่อย่างดิฉันเองยังชมชอบปลูกผักรายชั่วโมงมากกว่าจะยกจอบขุดหลุมรดน้ำพรวนดินปลูกดอกไม้ใบหญ้าจริงๆ อย่างที่ควรจะเป็น

ระเบียบ วินัย จึงควรเริ่มต้นเป็นแบบอย่างที่ตัวเองก่อนจะไปวิพากย์วิจารณ์คนอื่นใช่ไหมคะ? ดังนั้นการใช้อินเตอร์เน็ต ท่องเครือข่าย “โซเซี่ยล เน็ตเวิร์ก” ของผู้ใหญ่ ก็ควรกำหนดระยะที่เหมาะสม เพื่อให้มีเวลามากพอในการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเราด้วย

บ่นมาแล้ว ก็อยากจะบ่นต่ออีกหน่อยว่า พ่อแม่ทั้งหลายที่คิดว่า สิ่งใดในวัยเด็กที่เราเคยขาดแคลน ไม่มี ไม่ได้ หรือเป็นเรื่องยาก เรื่องลำบาก และทรมานกายใจเหลือเกินกว่าจะได้มันมา ณ บัดนี้ ็นเราจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นกับลูกของเราอีกแล้ว จะต้องแสวงหาสิ่งที่คิดว่าดี ว่าเยี่ยม มาให้ลูกเราก่อนใครๆ นั้น ลองทบทวนความคิดของตัวเองใหม่อีกสักครั้ง

เพราะดิฉันไม่เห็นว่า การสอนให้ลูกต้องอดทน อดกลั้น อดออม มันผิดตรงไหน?

การสอนให้ลูกมีระเบียบ วินัย รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจเด็ก..

แต่การที่พ่อแม่ให้เงินทองใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ลูกยังหาเงินเองไม่ได้ แถมยังให้มากกว่าที่เขาจะมีโอกาสทำมาหาได้ตามคุณวุฒิที่จบมา ย่อมหมายความว่า คุณกำลังทำให้ลูกของคุณพึ่งพาตัวเองไม่ได้และต้องพึ่งพาคุณตลอดไป

ดิฉันไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ “พ่อแม่รังแกฉัน” ที่ส่งผลให้เด็กไม่รู้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ควรกระทำ อะไรคือสิ่งที่ควรฟังและนำไปปฏิบัติในชีวิตของเขา” เขาก็อาจจะไปสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคม ชุมชน ด้วยความที่ไม่รู้สำนึกผิดชอบชั่วดีอย่างแท้จริง ดูไปดูมา ไม่ได้สงสารพ่อแม่ แต่จะกลายเป็นสงสารเด็ก ที่ไม่รู้ว่า “ความรักที่โอบอ้อมและทะนุถนอมอยู่ในขณะนี้นั้น จะเป็นดั่งขนมหวานที่สร้างโรคภัยไข้เจ็บอะไรให้กับตนเอง ครอบครัว สังคมและคนรอบข้างในอนาคตอย่างไรบ้าง?”

ปัญหาของเด็กจึงน่าตกใจกว่าที่คิด อนาคตเราอาจต้องมาแก้ไข กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ว่า เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ไม่ได้หมายความแค่ เป็นเด็กที่ประพฤติตนไม่สมควร เด็กที่ประกอบอาชีพหรือคบหาสมาคมกับบุคคลที่น่าจะชักนำไปในทางกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหายเท่านั้น แต่ให้หมายรวมถึง เด็กที่พ่อแม่ไม่อาจสั่งสอนอบรมตักเตือนใดๆ ได้

คนที่ไม่มีลูก ไม่มีสามี อย่างดิฉัน อาจจะพูดแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้จนดูเหมือนง่าย พอมีลูกเองจริงๆ อาจรักและตามใจเขามากเกินไปก็เป็นได้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าดิฉันจะเป็นลูกคนเล็ก แต่ดิฉันก็ไม่เคยที่จะได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจเลย ชีวิตอยู่ในระเบียบวินัยตลอด โดนตี โดนหยิก จนเป็นเรื่องปกติ เพราะวัยเด็กซน ทำข้าวของแตกเสียหายเป็นประจำ พอโตขึ้นมาก็รู้จักระมัดระวังตัวเอง จะทำอะไรสักอย่างต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่าจะไม่ถูกบ่น ถูกว่า ภายหลัง

การอบรมให้ลูกกลัวพ่อแม่จึงดีกว่าให้พ่อแม่กลัวลูก เพราะความกลัวนี้ ไม่ได้หมายความให้ลูกกลัวพ่อแม่แบบกลัวโจรผู้ร้าย แต่หมายถึง การเคารพ เกรงใจ และเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ในฐานะที่พ่อแม่เคยผ่านเรื่องราวต่างๆ มาก่อนเด็ก รู้ว่าสิ่งที่เด็กจะกระทำนั้นจะส่งผลอย่างไรในอนาคต การสร้างให้เด็กรู้จักใช้เหตุผล รู้สึกสิทธิและหน้าที่ของตนเองจึงมีความสำคัญมาก

การอบรมให้ลูกกลัว โดยวิธีดุด่า เฆี่ยนตี โดยไม่มีเหตุผล ก็ทำให้เด็กเครียด หรือคิดว่าพ่อแม่ไม่ได้รัก เพราะถ้าวันใดที่เขารู้สึกเช่นนั้น ย่อมหมายความว่า คุณกำลังผลักเด็กออกไปจากครอบครัว ส่งเด็กให้ไปแสวงหาความรักจากคนภายนอกที่ไม่รู้ว่าจะมีความจริงใจหรือไม่? ในช่วงเวลาที่เด็กเองก็ยังไม่รู้ว่า ความรักจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร?

“ลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ เช่นเดียวกับ เมียไม่ใช่สมบัติของสามี” ดังนั้นระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เราต้องทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยที่ตัวเราก็มีความสุขด้วย ที่สำคัญต้องเป็นการสร้างความสุขร่วมกัน ไม่ใช่เราคิดเอาเองฝ่ายเดียว

ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับน้องคนหนึ่ง เธอบอกว่า แต่งงานกับสามี มีบุตร 2 คน ตลอดระยะเวลาที่อยู่กินฉันท์สามีภริยาด้วยกัน ชีวิตไม่มีความสุขเลย เพราะสามีมีพฤติกรรมที่คิดว่า ตนเองเป็นเจ้าของภริยาและลูก อยากจะด่าทอ ทุบตี หรือมีเพศสัมพันธ์กับเธอเมื่อไรก็ได้ โดยไม่สนใจเลยว่า เธอนั้นกำลังเหนื่อย เพลีย หรือเจ็บป่วยไม่สบาย สุดท้ายเธอทนรับสภาพสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ไหว อย่าให้สามีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่เมื่อเจรจาแล้วก็มีแต่จะเลวร้ายลงกว่าเดิม สุดท้ายลูกกลับเป็นคนแนะนำแม่ว่า “ถ้าจะอดทนเพื่อให้พ่อมีความสุขคนเดียว แต่แม่และลูกอีก 2 คนเป็นทุกข์ เราก็ควรแยกออกมาอยู่ด้วยกัน 3 คนแม่ลูกดีกว่า เพื่อให้คนสามคนได้เป็นสุข”

เป็นคำแนะนำที่คมคายเกินวัยเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เพื่อให้คุณแม่ได้คิดตัดสินใจออกจากสถานการณ์ความรุนแรงภายในครอบครัวเช่นนั้น แม้ว่าเขาจะกลายเป็นเด็กที่บิดามารดาหย่าร้างกัน แต่เขากลับมีความสุขมากกว่าที่จะอยู่ภายใต้ครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากันแบบเดิม ดังนั้นเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดและทุกข์ใจ อาจจะไม่ได้ส่งผลที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด แต่กลับช่วยทำให้คนที่เจอและผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาได้ มีความเข้มแข็ง และอดทนต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ดีมากกว่าคนทั่วไป

ดังนั้นการให้เด็กได้เรียนรู้ผลจากการกระทำของตนเอง แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ใจให้กับเขาเพียงใด แต่เมื่อวันใดเขาสามารถผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านั้นมาได้ เด็กคนนั้นก็จะมีความเข้มแข็ง อดทน และเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึก รู้จักรับผิดชอบชั่วดีได้อย่างแท้จริง



>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น