xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอัญมณี ก.ย.มูลค่า 1,275.23 ล้านเหรียญ ทองคำยังแรง ขายเก็งกำไรรับนิวไฮใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ก.ย.67 มูลค่า 1,275.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 0.81% รวมทองคำ มูลค่า 2,016.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 6.54% เผยเฉพาะส่งออกทอง ก.ย. ลด 14.99% แต่มูลค่ายังสูง เหตุส่งไปเก็งกำไร หลังราคาทำนิวไฮใหม่ คาดไตรมาสสุดท้ายส่งออกยังดี หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลด เศรษฐกิจยุโรปฟื้น และเข้าสู่เทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ เตรียมดันผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานธรรมาภิบาล RJC ผลิตสินค้ารับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อม

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือGIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ก.ย.2567 มีมูลค่า 1,275.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.81% พลิกกลับมาติดลบอีกครั้ง และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 2,016.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.54% ส่วนยอดรวม 9 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,053.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.15% หากรวมทองคำ มูลค่า 12,448.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.85%

สำหรับการส่งออกทองคำเดือน ก.ย.2567 มีมูลค่า 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.99% เนื่องจากราคาทองคำในเดือน ก.ย. ยังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2,663.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และกองทุนทองคำSPDR มีการซื้อทองคำสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน ทำให้มีการส่งออกไปเก็งกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวม 9 เดือน ส่งออกทองคำมีมูลค่า 5,394.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 20.29% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 184.12% ก.ค. 1,180.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 434.13% ส.ค. 455.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 99.01%

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 7.30% สหรัฐฯ เพิ่ม 14.79% อินเดีย เพิ่ม 38.53% เยอรมนี เพิ่ม 12.70% อิตาลี เพิ่ม 3.59% เบลเยี่ยม เพิ่ม 33.51% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 7.16% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1.72% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 9.21% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 10.89%

ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 5.19% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 18.38% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 8.99% พลอยก้อน เพิ่ม 62.97% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 7.88% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 2.79% ซึ่งในกลุ่มพลอย ยังคงเป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 4.46% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 32.53% ส่วนเพชรก้อน ลด 9.45% และเพชรเจียระไน ลด 5.57%

นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไตรมาสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะเงินเฟ้อประเทศคู่ค้าสำคัญปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่สหภาพยุโรป เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น กระตุ้นให้มีการใช้จ่าย และปลายปียังเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ทำให้มีการซื้อของขวัญให้แก่ตนเองและผู้อื่นเพิ่มขึ้น โดยช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นที่นิยมมากสุด ตามด้วยห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับคอลเลกชันให้ตรงตามความต้องการ สวมใส่ได้หลายโอกาส และสร้างเรื่องราวสินค้าให้โดนใจผู้บริโภค รวมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI มาช่วยวิเคราะห์ตลาด วิเคราะห์ผู้บริโภค และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม ก็จะทำให้ขายสินค้าได้ แม้โลกจะผันผวน

นอกจากนี้ ในส่วนของ GIT ได้เดินหน้าจัดทำโครงการส่งเสริมและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เข้าสู่มาตรฐานธรรมาภิบาล (Responsible Jewelry Council:RJC) โดย RJC จะออกใบรับรองมาตรฐานให้แก่สมาชิก ที่การผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันไทยมีสมาชิกที่เข้าร่วม RJC ทั้งหมด 113 ราย ได้รับการรับรอง 90 ราย โดยหากมีใบรับรองจะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ เป็นที่ยอมรับ และไม่ถูกกีดกันทางการค้า และมีแผนจะเปิดโครงการและรับผู้สมัครในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น