xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ-มนพร” ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่โคราช เร่งพัฒนาระบบคมนาคมภาคอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ-มนพร” ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่นครราชสีมา เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง แนะหาแนวทางใช้ประโยชน์สนามบินโคราชให้คุ้มค่า เร่งขุดลอกลำน้ำคลองยาง และแม่น้ำมูลแก้ภัยแล้ง

วันที่ 24 มีนาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมา ติดตามแผนการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา การบริหารจัดการน้ำ พร้อมลงพื้นที่การจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก นครราชสีมา 2572” โครงการก่อสร้าง Skywalk บริเวณเขาเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้ว เพื่อผลักดันให้เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) แห่งใหม่ และรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


นายสุริยะกล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “ประตูสู่อีสาน” กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งครอบคลุมทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศทั้งภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน
สร้างรายได้ ส่งเสริมภาคเกษตรกรรม รวมทั้งสนับสนุนการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


นายสุริยะกล่าวว่า จากการที่กระทรวงคมนาคมได้เปิดให้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 (M6) ตอนบางปะอิน-นครราชสีมา ช่วงปากช่อง-ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77.4 กิโลเมตร โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง เมื่อเดือนธันวาคม 2566 พบว่ามีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง โดยการดำเนินโครงการ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีความก้าวหน้าร้อยละ 94 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2568 ส่วนการปรับปรุงทางหลวงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรภายในจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาและออกแบบปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2 ระหว่าง กม. 177+412 - กม. 251+299 ระยะทาง 73.87 กิโลเมตร และโครงการปรับปรุงทางแยกขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริเวณสามแยกตลาดแค สามแยกบ้านวัด สี่แยกโนนตาเถร สี่แยกสีดา และสี่แยกหนองแวง


สำหรับแนวทางการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มโอกาสการเดินทางทำให้การเดินทางมีความสะดวก รวดเร็ว และส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์สนามบินโคราช (กองบิน 1) ให้มีความคุ้มค่า โดยจัดลำดับความสำคัญ และให้มีความเชื่อมโยงไปเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์รัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา ในส่วนของการก่อสร้างท่าเรือบก (Korat Dry Port) ด้วย


นางมนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการคมนาคมขนส่งทางน้ำ กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 มีแผนปฏิบัติงานขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำในจังหวัดนครราชสีมา
บริเวณลำน้ำคลองยาง ตำบลดอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ และแม่น้ำมูล ในพื้นที่หมู่ 12 ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหากระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาแล้วเสร็จสมบูรณ์จะทำให้การเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งทุกโหมดสามารถเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น