xs
xsm
sm
md
lg

กพท.เร่งออกใบรับรองสนามบินสาธารณะใหม่ แก้จุดอ่อนธงแดงปลายปี 66 เชิญ ICAO ประเมินยกระดับไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพท.เร่งออกใบรับรองสนามบินสาธารณะใหม่ให้สนามบินระหว่างประเทศ 10 แห่ง คาดครบใน ก.ย. 66 ตั้งเป้าปลายปีเชิญ ICAO ตรวจประเมินยกระดับมาตรฐานไทย มั่นใจปิดช่องโหว่ธงแดง หวังอัพคะแนนขึ้นจาก 61% รั้งรองบ๊วยอาเซียน 

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เปิดเผยว่า กพท.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” โดยในปี 2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปีของ กพท. โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมาตรฐานสากลเทียบเคียงกับประเทศชั้นนำของโลก  

ทั้งนี้ หลังประเทศไทยสามารถปลดธงแดงได้ในปี 2560 ซึ่งได้มีการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย
(Significant Safety Concerns) 33 ข้อให้กลับคืนสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในระดับสากลแล้ว แต่ประเทศไทยและ กพท.ยังคงมีภารกิจที่ต้องปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Safety Oversight Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USOAP-CMA) และด้านการรักษาความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA) 

ซึ่งตอนปลดธงแดง ผลการตรวจสอบพบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 65.07% ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือ 60%   

แต่ปัจจุบันค่ามาตรฐานของไทยคะแนนลดลงมาอยู่ที่ 61% ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2563 ทาง ICAO ได้ออกชุดคำถามที่มีการปรับใหม่ (PQ2020) ตรวจประเมินการบินทั่วโลก ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกลดลงราว 4% ซึ่งคะแนนที่ลดลงทำให้ไทยอยู่ในอันดับรองสุดท้ายของประเทศอาเซียน ทำให้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ กพท.เร่งรัดการแก้ไขเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการบินของประเทศขึ้นอีก

กพท.ตั้งเป้าหมายช่วงปลายปี 2566 จะส่งหนังสือถึง ICAO เพื่อเชิญเข้าตรวจประเมินและแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินพลเรือนของไทย ขณะนี้ กพท.อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ทั้งระบบเรื่องบุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยี ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน โดยได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) คาดจะปรับขึ้นมาที่ประมาณ 83% 


ทั้งนี้ ข้อกำหนดสำคัญที่มีผลต่อการประเมิน และมีผลต่อธงแดง จึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน คือ การออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะใหม่ ให้กับสนามบินระหว่างประเทศทั้ง 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้มีสนามบินที่ได้รับใบรับรองฯแล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินเบตง สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา สนามบินสมุยสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงใหม่ โดยตั้งเป้าว่าภายในไตรมาส 3 ปี 2566 จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้สนามบินระหว่างประเทศครบ 10 แห่ง

ประเทศไทยมีสนามบินจำนวน 39 แห่ง ที่ต้องมีการออกใบรับรองการดำเนินงานสาธารณะ โดยได้ใบรับรองฯ แล้ว 5 แห่ง อยู่ระหว่างกระบวนการออกใบรับรองฯ จำนวน 26 แห่ง ได้แก่ สนามบินระหว่างประเทศ 6 แห่ง(รวมการออกใบรับรองใหม่หรือ (Re-certification) จำนวน 4 แห่ง และสนามบินภายในประเทศ 20 แห่ง และมีสนามบินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองฯ 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินแพร่สนามบินปาย สนามบินนราธิวาส สนามบินนครราชสีมา และสนามบินเพชรบูรณ์

นอกจากนี้ จะเร่งรัดออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะให้สนามบินที่จะต้องมีการถ่ายโอนจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. (AOT) อีก 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าจะออกใบรับรองฯ ได้ครบทั้งหมดภายในปี 2567

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า การตรวจประเมินของ ICAO เช่น ระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยของรัฐ เช่น กฎหมายหลัก (พระราชบัญญัติ) กฎหมายรอง, องค์กรกำกับ, บุคลากรที่ทำหน้าที่กำกับ, เครื่องมือข้อมูลสนับสนุนผู้กำกับทำงาน เป็นต้น โดย กพท.จะต้องตรวจสอบการทำงานและออกใบรับรอง หรือใบอนุญาตต่างๆ

ICAO จะดูทั้งระบบว่า ขาด หรือบกพร่องตรงไหน

เช่น ด้านสนามบิน จะดูกฎหมาย ระเบียบ ผู้ทำหน้าที่กำกับบุคลากร ระบบกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย ตรงไหนยังไม่เป็นตามมาตรฐาน ก็จะแจ้งให้ทาง ทอท.และกรมท่าอากาศยาน แก้ไขปรับปรุง รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุอุบัติการณ์อากาศยาน และกรมอุตุนิยมวิทยาการบิน ที่อยู่ในระบบ USOAP ด้วยกัน

ขณะนี้ กพท.อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ทั้งระบบเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขเรื่อง บุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยี ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น