xs
xsm
sm
md
lg

ขันน็อตรถไฟไทย-จีน!”ศักดิ์สยาม”เร่งรฟท.แก้ปัญหางานโยธา 3 สัญญาให้จบภายใน ก.ค. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม”สั่งรฟท.เร่งแก้ปัญหางานโยธา รถไฟไทย-จีน ล่าช้า เร่งสรุป 3 สัญญาสุดท้าย ภายในเดือนก.ค.นี้ ทั้งปมมรดกโลก สถานีอยุธยา ,ร้องเรียนประมูลช่วง 3-1  และทับซ้อนไฮสปีด3สนามบิน

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมติดตามแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมต้องการเร่งรัดการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน ให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและกระจายความเจริญ รวมถึงการสร้างโอกาสอันดีแก่ประเทศไทยในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณค่าอันโดดเด่นให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัด

โดยโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาออกเป็น ทั้งหมด 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ที่ยังมีประเด็นในสัญญา 3 – 1 ช่วงแก่งคอย - กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ,สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และสัญญา 4 – 5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว โดยให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดการของโครงการ

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสัญญาที่ยังมีปัญหา  3 สัญญานั้น  มี 2 สัญญา ที่ประกวดราคาแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามได้ คือ   สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท โดยมีปัญหากรณี สถานีอยุธยา  ติดเงื่อนไขมรดกโลกโดยต้องศึกษา HIA หรือผลกระทบมรดกวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างจัดจ้างศึกษษ HIA โดยจะใช้เวลาประมาณ 180 วัน 
 
และ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก–บันไดม้าระยะทาง 30.21 กม.วงเงิน 9,348 ล้านบาท  ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น 

ส่วนสัญญา 4-1  ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.  ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้รฟท.เจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนของโครงสร้างร่วม โดยออกแบบรองรับมาตรฐานรถไฟไทย-จีน ความเร็ว 250 กม./ชม.

โดยรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน จะใช้ระบบรถไฟใช้ประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit)
กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 กิโลวัตต์ มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว



อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์ศยาม ได้กำชับต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น