xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ถกแผนฉีด “ซิโนฟาร์ม” หนุนภาคผลิตฟื้น ศก. ผวาคลัสเตอร์กระทบห่วงโซ่ผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เตรียมหารือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์วันนี้ (4 มิ.ย.) เพื่อวางกรอบการกระจายวัคซีนซิโนฟาร์มป้องโควิด-19 ให้สมาชิกหลังได้รับการจัดสรรล็อตแรก 3 แสนโดสเบื้องต้น พร้อมเตรียมรีเช็กภาคเอกชนที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อขอจัดสรรเพิ่มเติมล็อตต่อไป เร่งระดมฉีดให้มากสุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นคู่ค้าดันส่งออกไทยโตตามเป้า 4-5% วอนรัฐบาลเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ทุกภาคส่วน ยิ่งเร็วได้ยิ่งดีเพื่อขับเคลื่อน ศก.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า วันนี้ (4 มิ.ย.) ส.อ.ท.จะหารือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ได้จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับ ส.อ.ท.ล็อตแรกจำนวน 3 แสนโดสในรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ เวลาการส่งมอบที่ชัดเจน แนวทางการฉีดวัคซีน การจัดสรรโดสที่ 2 และความเป็นไปได้ในการจัดสรรเพิ่มเติมในระยะต่อไป ฯลฯ โดยทั้งหมดจะมีความชัดเจนที่จะทำให้ ส.อ.ท.ได้ดำเนินการกระจายให้แก่สมาชิกโดยเร็ว ซึ่งเห็นว่าการเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคการส่งออกเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่ค้าและป้องกันการเกิดปัญหาคลัสเตอร์ในโรงงานที่อาจลุกลามมากขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะกระทบการส่งออกของไทยที่เป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้

“ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.ได้สอบถามสมาชิกถึงความต้องการวัคซีนโควิด-19 ที่พร้อมจ่ายเงินจัดหาให้แก่พนักงานในองค์กรฉีดฟรี ซึ่งมีโรงงานแจ้งความประสงค์ 6,000 แห่ง รวม 1.02 ล้านโดส ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เขาพร้อมจ่ายเงินเองและรอไม่ได้เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก และเมื่อเราได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ 3 แสนโดส ราคาประมาณโดสละ 1,000 บาท สมาชิกเองก็สอบถามมามากว่าจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ มีเพิ่มไหม เราก็คงจะหารือให้ชัดเจนจากเบื้องต้นกำหนดส่งมอบ 15-20 มิ.ย. ส่วนการฉีดก็ต้องหารือว่ามีความพร้อมฉีดนอกสถานที่หรือไม่ เช่น นิคมฯ หรือโรงงานที่มีพนักงานจำนวนมาก ฯลฯ” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับเกณฑ์เบื้องต้นที่ ส.อ.ท.วางไว้สำหรับการกระจายวัคซีนให้แก่สมาชิก คือ 1. จะจัดสรรให้แก่บริษัทที่แจ้งความประสงค์แบบมาก่อนได้ก่อน หรือ first come-first serve 2. เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสุดหรือสีแดง 3. เป็นอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการผลิตภาพรวม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ อุตสาหกรรมต้นน้ำ และกรณีที่เหลืออีก 7 แสนโดส ส.อ.ท.จะมีการสำรวจใหม่ (รีเช็ก) กับสมาชิกอีกครั้งว่ายังคงยืนยันถึงความต้องการเช่นเดิมหรือไม่เพื่อที่จะนำตัวเลขที่ชัดเจนเสนอต่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อจัดสรรเพิ่มต่อไป

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาคการผลิตนับเป็นภาคที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 6 ล้านคน จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันเร่งด่วนเพราะขณะนี้มีการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ต่างๆ ทั้งคลัสเตอร์ จ.เพชรบุรี คลัสเตอร์สมุทรปราการ คลัสเตอร์ถุงมือยาง ฯลฯ หลายแห่งต้องหยุดการผลิต ที่หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะไม่ส่งผลดีต่อการผลิตและความเชื่อมั่นการส่งออกของไทย ซึ่งเอกชนยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่ประชาชนทั้งประเทศให้เป็นไปตามแผน และหากเร่งรัดได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย

“ต้องเข้าใจว่าภาคการผลิตนั้นสะดุดไม่ได้ เพราะจะเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะการส่งออกที่หากออเดอร์ไปที่อื่นแล้วยากจะกลับมา ความเชื่อมั่นต่อสินค้าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราตระหนักถึงปัญหานี้ส.อ.ท.จึงไม่เคยย่อท้อที่จะหาวัคซีนทางเลือกให้แก่สมาชิกที่เขาพร้อมจ่ายเร่งด่วน เพราะเวลานี้ก็จะเห็นชัดว่าคลัสเตอร์ต่างๆ ในโรงงานเกิดแล้วมันกระทบและหากลามไปยังนิคมฯ อะไรจะเกิดขึ้น และเวลานี้คู่ค้าเริ่มสอบถามแล้วว่ามีการฉีดวัคซีนให้พนักงานครอบคลุมหรือยัง นี่จะเป็นแรงกดดันต่อไปที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องเร่งฉีดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และที่สำคัญเวลานี้เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ฟื้นตัวมาก จึงเป็นโอกาสการส่งออกของเรา หากสะดุดเป้าหมายการส่งออกที่เรามองไว้ปีนี้จะโตไม่น้อยกว่า 4-5% ก็จะพลาดเป้าด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น