xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ เคลียร์ 7 ประเด็นคงค้างให้จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทยเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ วันที่ 12 ต.ค.นี้ “จุรินทร์” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม เตรียมผลักดันเคลียร์ 7 ประเด็นคงค้างที่เหลือให้ได้ข้อยุติ ก่อนนำเสนอผู้นำประกาศความสำเร็จการเจรจาปลายปีนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค. 2562 โดยวันที่ 10-11 ต.ค. 2562 จะเป็นการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป ก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 12 ต.ค. 2562 โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปจะร่วมกันตัดสินใจประเด็นระดับนโยบายในเรื่องที่ยังคงค้างอยู่ และดำเนินการตามความตั้งใจของผู้นำที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ปในปลายปีนี้

ทั้งนี้ การเจรจาอาร์เซ็ปได้เดินทางเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเจรจา โดยเรื่องที่ต้องเจรจากันทั้งหมด 20 บท และ 3 ภาคผนวกได้มีการเจรจากันจบไปแล้ว 13 บท กับอีก 3 ภาคผนวก ทำให้คงเหลืออีกเพียง 7 บทที่จะต้องเจรจาและหาข้อสรุปกันให้ได้ในการประชุมที่จะถึงนี้ โดยแต่ละบทส่วนใหญ่การเจรจามีความคืบหน้า ก็ต้องพยายามเจรจากัน และหาทางออกกัน ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนก็อยากให้จบ และหวังว่าการเจรจาจะมีการประนีประนอมเพื่อหาข้อสรุปให้ได้

สำหรับ 13 บท และ 3 ภาคผนวกที่สรุปได้แล้ว ได้แก่ บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป การค้าสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น การระงับข้อพิพาท บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวมถึงภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม ภาคผนวกการเงิน ภาคผนวกวิชาชีพ ส่วนอีก 7 บทที่เหลือ คือ การเยียวยาทางการค้า การแข่งขัน การค้าบริการ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นางอรมนกล่าวว่า ความตกลงอาร์เซ็ปจะช่วยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้มแข็ง และสร้างสภาวะแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภูมิภาค รวมถึงไทย ซึ่งสินค้าของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น

นอกจากนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น