xs
xsm
sm
md
lg

ทองคำดันส่งออกอัญมณีพุ่ง 45.81% คาดเทรดวอร์เพิ่มโอกาสขายสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วีรศักดิ์” เผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 8 เดือน พุ่ง 11,452 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 45.81% ได้รับอานิสงส์ยอดส่งออกทองคำเพิ่มขึ้นกว่า 100% ระบุตลาดอาเซียนมาแรงโตกว่า 190% ตามด้วยอินเดีย โต 84% ส่วนฮ่องกง-สหภาพยุโรป-จีนลด “ดวงกมล” ประเมินปัจจัยกดดันส่งออกมีเพียบ ชี้เทรดวอร์จะช่วยสร้างโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ต้องเข้มคุณภาพ แจงที่มาวัตถุดิบ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 11,452.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 45.81% คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 357,954.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.40% หากหักทองคำซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 5,240.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.92% และคิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 164,215.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.41% โดยการส่งออกเฉพาะทองคำมีมูลค่าถึง 6,212.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 107.16%

ทั้งนี้ ตลาดที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน เพิ่ม 190.80% จากการส่งออกไปสิงคโปร์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 85% เพิ่มขึ้น 307% กัมพูชาเพิ่ม 137% รองลงมา คือ อินเดีย เพิ่มขึ้น 84.14% จากการที่ชนชั้นกลางในอินเดียมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่เติบโตดี คือ เพชร โลหะเงิน พลอย ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น ฮ่องกง ลด 1.85% สหภาพยุโรป ลด 0.74% สหรัฐฯ ลด 7.69% ตะวันออกกลาง ลด 0.86% ญี่ปุ่น ลด 6.48% จีน ลด 13.76% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 13.11% รัสเซีย และประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 72.69%

“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งคนคัดพลอย ช่างเจียระไน ช่างฝีมือ ช่างผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ประกันภัย โลจิสติกส์ และผู้ส่งออก” นายวีรศักดิ์กล่าว

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งความตรึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง การประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ และค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวนสูง

อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาสงครามการค้า หากสหรัฐฯ เก็บภาษีจากจีนเพิ่มจะทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมาซื้อจากไทยทดแทน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเตรียมพร้อมผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และต้องคำนึงถึงกฎระเบียบใหม่ๆ ที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้ เช่น การสำแดงที่มาของวัตถุดิบที่ไม่ใช้แรงงานทาส หรือเงินสนับสนุนก่อการร้าย แต่ในทางกลับกัน หากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงก็จะนำเข้าจากไทยลดลง เช่น พลอยสี ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเร่งกระจายความเสี่ยงหาตลาดใหม่ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น