xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จ่อปลดล็อกอีก 4 ธุรกิจ เปิดทางต่างชาติไม่ต้องขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เตรียมชงคณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาปลดธุรกิจบริการโทรคมนาคม ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ ออกจากบัญชีแนบท้าย เผยต่างชาติไม่ต้องขออนุญาตทำธุรกิจอีก คาดช่วยดึงดูดการลงทุน และรองรับ Thailand 4.0

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจ ตามบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้เตรียมเสนอคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พิจารณาถอด 4 ธุรกิจออกจากบัญชีท้าย ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 (ไม่มีโครงข่าย) 2. ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 3. ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทสอง สำหรับบำรุงรักษาส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และประเภทสามสำหรับบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และ 4. ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง

สำหรับธุรกิจที่เตรียมถอดออกนั้น ส่วนหนึ่งเป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับอยู่แล้ว จึงเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแลของภาครัฐ เช่น ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดย กสทช. ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำหนดว่าธุรกิจศูนย์บริหารเงินต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด และธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน มีกฎหมายเฉพาะกำกับ คือ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

นอกจากนี้ การเปิดเสรีในธุรกิจดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติลดภาระค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและความคล่องตัวด้านการประกอบธุรกิจในไทย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการประกอบธุรกิจ ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และผู้มีความสามารถจากต่างประเทศให้สนใจเข้ามาลงทุน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเดินทางเข้ามาลงทุนเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียและของโลก และจะส่งเสริมให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ไม่ยาก

ขณะเดียวกัน ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง ยังสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ ประเภทอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ด้านการบินและโลจิสติกส์ (ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน) และด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล (ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์) ดังนั้น การปลดล็อก 4 ธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลทั้ง Thailand Plus Package และ Thailand 4.0


กำลังโหลดความคิดเห็น