xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ ประเดิมรับฟังความคิดเห็นฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ก่อนเดินสายทั่วประเทศช่วง ต.ค.-พ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” กางแผนทำงาน 2 ด้าน เตรียมฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป เผยได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการวิจัยผลประโยชน์และผลกระทบ คาดแล้วเสร็จ พ.ย.นี้ เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ประเดิมเวทีใหญ่กลางกรุงแล้ว ก่อนเดินสายไปยังภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ คาดสรุปผลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจได้ช่วงเดียวกับที่อียูมีคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเปิดการสัมมนา “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” วันที่ 23 ก.ย. 2562 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ เตรียมการเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งกรมฯ ได้วางกรอบในการทำงานไว้ 2 ด้าน คือ การศึกษาวิจัย และการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

โดยในด้านการศึกษาวิจัย กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2562

ส่วนการหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรมฯ จะให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งในช่วงเดือน ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ มาหารือไปบ้างแล้ว แต่เป็นการหารือในกลุ่มเล็กๆ แต่การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดประชุมกลุ่มใหญ่ ที่เชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วมพร้อมกัน และจากนี้ไป กรมฯ มีแผนที่จะเดินสายจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2562 ต่อไป

“หลังจากนั้น กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาและรับฟังความเห็นเสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรี่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป โดยคาดว่า จะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่อียูแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ ที่จะตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทยพอดี” นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า อียูถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย การฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ ยางและผลิตภัณฑ์ อาหารและสินค้าเกษตรต่างๆ เป็นต้น ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนและความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งน่าจะช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่ปัจจุบันหายไป จากการที่ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว แต่ไทยยังไม่มี

อย่างไรก็ตาม เอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ หากไทยจะฟื้นการเจรจา

ในปี 2561 ไทยและอียู มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249.16 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม-และเภสัชกรรม ส่วนช่วงม.ค.-มิ.ย.2562 ไทยและอียู มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 21,878.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 12,060.14 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 9,817.92 ล้านเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น