xs
xsm
sm
md
lg

สพด.บึงกาฬ เร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรรับมือปัญหาดินเค็ม ก่อนส่งผลกระทบในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเกรียงไกร ไชยโพธิ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินบึงกาฬ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงสภาพปัญหาดินเค็มในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬว่า จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ทั้งหมด 2,691,091 ไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตรจำนวน 2,104,805 ไร่ ในพื้นที่จำนวนนี้พบว่ามีพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็มประมาณ 57,526 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบจากเกลือน้อย พบคราบเกลือบนผิวดินน้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ และน้ำใต้ดินเค็ม ทั้งนี้ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดินเค็มส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกข้าว กข 6 แต่ด้วยปัญหาดินเค็มทำให้ผลผลิตข้าวต่ำกว่าพื้นที่ปกติเล็กน้อย โดยได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 300-320 กิโลกรัมต่อไร่

แม้ว่าปัญหาดินเค็มในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากนัก เนื่องจากเป็นดินเค็มค่อนข้างน้อย อยู่ในหมวดหินภูทอก เป็นหน่วยหินที่เกิดทับอยู่บนชั้นเกลือหิน และโพแทช 1-3 ชั้น ความเค็มจึงอยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินประมาณ 30 เมตร จึงไม่แสดงผลคราบเกลือบนผิวดินให้เห็นมากนัก แต่หากไม่มีการป้องกันหรือเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม อาจกระตุ้นให้ปัญหาดินเค็มเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร ดังนั้น สถานีพัฒนาที่ดินบึงกาฬ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จึงได้ทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาดินเค็ม เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 ในพื้นที่บ้านทรายทอง ตำบลนาสิงห์ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ นำร่อง 600 ไร่ และในปี 2562 ขยายผลโครงการไปยังพื้นที่บ้านหนองหิ้ง หมู่ 2 ตำบลท่ากกแดง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 600 ไร่ โดยนำกิจกรรม 2 ด้านหลักๆ เข้าไปดำเนินการ ได้แก่ กิจกรรมการควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งบนผิวดินและใต้ผิวดิน ด้วยการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 จำนวน 19 กิโลเมตร ปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม กระถินออสเตรเลีย จำนวน 32,000 กล้า จัดทำแปลงสาธิตการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน 6 ไร่ และกิจกรรมการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนา ทำการปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 จำนวน 16 กิโลเมตร ปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนา คือยูคาลิปตัส จำนวน 6,500 กล้า ทำแปลงสาธิตการใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดิน จำนวน 46 ไร่

นายเกรียงไกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรไม่เข้าใจถึงปัญหาดินเค็ม เพราะไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเหมือนในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน แต่พอมีโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ ได้เข้าไปถ่ายทอดความรู้ ชี้ให้เขาเห็นว่าดินเค็มมันมีจริง อยู่ใต้พื้นดินที่เกษตรกรใช้อยู่ โดยยกตัวอย่างให้เห็นว่ามีหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าสะอาด ได้เจาะบ่อบาดาลดูดน้ำเค็มมาต้มเกลือสินเธาว์ขาย แสดงว่าความเค็มอยู่ชั้นใต้ดินจริงๆ ทำให้เกษตรกรเริ่มตระหนักและให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกับทางสถานีพัฒนาที่ดินบึงกาฬมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่บึงกาฬมีศักยภาพที่จะเกิดดินเค็ม ถ้าไม่ป้องกันสักวันจะเกิดปัญหาขึ้นและมีผลกระทบอย่างรุนแรงเหมือนเช่นที่อื่น ดังนั้น เราจึงมุ่งเน้นใช้มาตรการป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มและสร้างการรับรู้ โดยนำบทเรียนจากที่อื่นมาใช้ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดินเค็มให้มีศักยภาพ สามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ดีขึ้นและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น